ตลท. ขันนอต ‘กำกับซื้อขาย’ ตั้ง KPI รายงานบอร์ดโดยตรง

ตลท. ขันนอต ‘กำกับซื้อขาย’  ตั้ง KPI รายงานบอร์ดโดยตรง

ตลท. เตรียมดึงงานกำกับรายงานตรงต่อบอร์ดตลาด รับทราบนโยบาย และแนวทางเพื่อให้เกิดความชัดเจนไร้ข้อกังขา หลังยกเครื่องฝ่ายกำกับดูแล บจ. และการซื้อขายทั้งกระบวนการ พร้อมตั้งเป็น KPI วัดผลงานฝ่ายบริหารตั้งแต่ปี 67

         นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่าแผนกลยุทธ์ปี 2567-2569 มี 3 ด้านโดย "ให้ความสำคัญยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุนเป็นอันดับแรก"  การเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน และสนับสนุนขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ซึ่งการให้น้ำหนักด้านความเชื่อมั่นตลาดทุนคือ เรื่องการกำกับดูแลยกทั้งกระบวนการ  ซึ่งจะมีการรายงานต่อบอร์ด ตลท. โดยตรง 

         ตลท.ให้ความสำคัญกับฝ่ายกำกับดูแลควบคู่ไปกับฝ่ายธุรกิจหรือมาร์เก็ตติ้งอยู่แล้ว แต่ในอนาคตรายงานสายงานกำกับระดับกรรมการ ตลท. โดยตรงเพื่อให้ได้รับทราบว่าฝ่ายกำกับการลงโทษใครบ้าง  เป็นบริษัทไหน  ซึ่งบอร์ดจะรับทราบทุกคนจากตามปกติฝ่ายบริหารจัดการยังเป็นผู้รับผิดชอบตามโครงสร้างองค์กรแต่จะมีการรายการผลการดำเนินการต่างๆ ไปยังระดับบอร์ด ตลท. ให้มีความชัดเจนขึ้นไป

        "แง่ผลดีคือ มีความชัดเจนในด้านฝ่ายจัดการ และกรรมการรับรู้ในสิ่งที่ดำเนินการ เห็นนโยบายเห็นผลงานรับทราบได้มากขึ้น ซึ่งในอดีตอาจจะมีคำถามว่าดำเนินการไป ใครรับทราบบ้าง   แต่จากนี้ไปจะปรับให้ได้รับทราบหมด  เห็นผลงานตามหน้าที่ทั้งโครงสร้างการทำงานจะครบถ้วน  ซึ่งจุดนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอบอร์ด"

        เมื่อยกเครื่องกำกับดูแลแล้วมีการบรรจุเรื่องงานกำกับดูแลการซื้อขายเป็น KPI ของฝ่ายบริหารจัดการตลาดหลักทรัพย์จากนี้ตั้งแต่ปี 2567 เช่นกันเพราะการทำงานทุกอย่างต้องวัดประสิทธิภาพทุกเรื่องอยู่แล้ว

       อย่างไรก็ตาม งานกำกับได้มีการยกกระบวนการดำเนินการไปแล้วเริ่มตั้งแต่ก่อนเข้าจดทะเบียนตลาดหุ้น ด้วยการปรับคุณภาพ – เพิ่มคุณสมบัติให้เหมาะสมกับแต่ละตลาดเข้าจดทะเบียน  หลังเข้าจดทะเบียนแล้วมีการติดตามดูแลภายใต้การเพิ่มเติมเครื่องหมาย C-sign สำหรับบริษัทที่มีปัญหาด้านผลการดำเนินงาน   

      ส่วนระบบซื้อขาย เพิ่มการตรวจจับที่ผิดปกติจาก AI แนวทางจัดตั้ง Securities Bureau จะมีการศึกษาควบคุมวงเงินสินเชื่อซื้อขายกับโบรกเกอร์ การดูแลบริษัทที่ไม่สามารถดำรงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ถอดถอนหลักทรัพย์ออกไปได้เร็วขึ้นเพื่อตัดสินใจป้องกันผลประโยชน์ของนักลงทุน และการเปิดเผยข้อมูล Program trading 

     การกำกับเพิ่มความรวดเร็ว และเร่งมากขึ้น Financial data health check เป็นอีกเครื่องมือเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนรับทราบ เพื่อเตือนให้เห็นว่ามีสิ่งที่น่าสนใจต้องพิจารณา เช่น ข้อมูลงบการเงิน ผลประกอบการ อาจจะพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มในอนาคต ซึ่งแนวทางที่มองตรงกัน ตลท.และ สำนักงาน ก.ล.ต. คือกฎเกณฑ์ที่ออกมาไม่สามารถตามทันโลกเพราะมีการเปลี่ยนแปลง และใช้เทคโนโลยี มีธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ จึงเห็นพ้องว่าทำอย่างให้ข้อมูลนักลงทุนได้เร็วขึ้น และมากขึ้น

      สำหรับความคืบหน้ากำกับดูแล Short sell – Naked Short sell และ โปรแกรม High - Frequency Trading (HFT) ควรจะปรับตัวอย่างไรต่อไปนั้นหลังทำงานร่วมกับ “โอลิเวนไวแมน”ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคอล   ซึ่งเริ่มศึกษาตั้งแต่ต้นเดือนม.ค.2567 อยู่ระหว่างดำเนินการ 1 - 2 สัปดาห์ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จสัปดาห์แรกเดือนก.พ. จากนั้นจะมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนรับทราบ และเปิดเฮียริ่งรับฟังข้อมูลนำไปสู่การปรับในขั้นตอนต่อไป

     "ความเป็นไปได้แนวทางคาดว่าจะเป็นการปรับมากกว่ายกเลิกเพราะประเด็นที่เกิดขึ้นสามารถปรับได้หลายด้าน และแสดงให้เห็นด้วยว่า ปรับแล้วดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ด้วยการศึกษาจะเทียบเคียงกับตลาดหุ้นใกล้เคียงกับไทย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และตลาดหุ้นที่เป้าหมาย เช่น  ตลาดหุ้นฮ่องกง ตลาดหุ้น Nasdaq"

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์