JKN แจง ‘ขาย MUO’ ไร้เจตนาเลี่ยงกฎหมายฟื้นฟู

JKN แจง ‘ขาย MUO’   ไร้เจตนาเลี่ยงกฎหมายฟื้นฟู

ยังเป็นที่กังขานักลงทุนที่ติดตามประเด็นหุ้นนางงาม บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ที่เผชิญปัญหาสภาพคล่องกระทบบริษัทพาซวนเซจนต้องเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้หุ้นกู้ 7 ชุด มูลค่า 3,300 ล้านบาท เกิดเป็นมหาพากย์ลากยาวปัญหาถึง 5 เดือน ตั้งแต่ก.ย.2566

        หลังสามารถเจรจาเจ้าหนี้หุ้นกู้เพื่อผ่อนผันสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ออกไปช่วงต.ค. 2566 ถัดมา พ.ย. ยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการแบบปัจจุบันทันด่วน หลังประชุมขอมติกรรมการในระยะเวลา 3 วัน และกลายเป็นช่วงสูญญากาศโดยปริยายเมื่อศาลล้มละลายกลางนัดพิจารณาไต่สวน 29 ม.ค.2567 และลากยาวกลายเป็น  5 มี.ค. 2567  

        ช่วงเวลาดังกล่าวเกิด รายงานขายสินทรัพย์ที่เป็นประเด็นใหญ่ MUO  เดือนม.ค.2567 ที่ถือว่าเป็นจุดวิกฤติ และจุดเปลี่ยนสำหรับ JKN ก็ว่าได้  เพราะการซื้อกิจการดังกล่าวปี 2565 มูลค่า 800 ล้านบาท บริษัทยังไม่มีความพร้อมด้านทุนจนต้องยอมกลับลำประกาศออกหุ้นเพิ่มทุนก่อนจะยกเลิกในที่สุด

           รายการขายหุ้น MUO  50%  ให้กับ นักธุรกิจชาวเม็กซิโก “ราหูล โรชาร์ คานทู” มูลค่า  581 ล้านบาท แจ้งข้อมูลภายหลัง 1 วันที่มีกระแสข่าวดังกล่าวออกจนถูกตั้งถามทันทีจาก ตลท.  

            ประเด็น1. เหตุผลและความจำเป็นในการปรับโครงสร้างการถือหุ้น JKN Legacy จากการถือหุ้นทางตรงเป็นการถือหุ้น ทางอ้อม ก่อนยื่นฟื้นฟูผ่านศาลในเวลาไม่นาน รวมทั้งกรณีหากไม่เปลี่ยนโครงสร้าง JKN จะเป็นผู้ได้รับเงินจากการขาย ที่จะต้องอยู่ในข้อห้ามตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ อย่างไร 

            สรุปทาง JKN ชี้แจงดำเนินการหาผู้ร่วมทุน JKN Legacy ซึ่งได้รับการติดต่อเพื่อลงทุนช่วงส.ค.2566 ทำให้มีความจำเป็น "ปรับโครงสร้างถือหุ้นเพื่อให้เกิดความเหมาะสมผู้ลงทุนต่างประเทศ" จึงขายหุ้นทั้งหมด 100% ให้กับ JKN Global Content มูลค่า 14.5 ล้านดอลลาร์ แล้วเสร็จ 11 ต.ค.2566 และสามารถทำสัญญาซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ 20 ต.ค.2566  โดย “ไม่มีวัตถุประสงค์หลีกเลี่ยงผลทางกฎหมายตามพ.ร.บ.ล้มละลาย”  เนื่องจากดำเนินการก่อนที่จะทราบความจำเป็นยื่นฟื้นฟูกิจการ

        ประเด็นที่ 2. ความคืบหน้าการรับชำระเงินตามงวดรับชำระข้างต้น รายละเอียดของวัตถุประสงค์การใช้เงินที่แจ้งว่าเพื่อสนับสนุนแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ความเห็นของคณะกรรมการ JKN ต่อวัตถุประสงค์การใช้เงินว่าเป็นประโยชน์ต่อ บริษัทอย่างไร และมาตรการติดตามดูแลการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว

        สรุปทาง JKN ชี้แจงได้รับเงินล่วงหน้า 7 ล้านดอลลาร์  ผ่านทาง JKN Global Content แบ่งเป็นดำเนินการจ่าย JKN 3 ล้านดอลลาร์ ที่เหลือ 4 ล้านดอลลาร์อยู่ที่ JKN Global Content เหลือชำระ 9 ล้านดอลลาร์

       และประเด็นที่ 3. เหตุผลที่บริษัทเปิดเผยข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สอบถามไม่ตรงกับข้อเท็จจริง กรณีปรากฏข้อมูลในสื่อต่างๆ ว่า JKN จะขายกิจการ MUO โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2567 แจ้งว่า บริษัทคาดว่าจะมีข้อสรุปในเวลาต่อไป แต่วันถัดมาคือวันที่ 23 ม.ค.2567 บริษัทได้แจ้งว่า JKN Global Content ได้ลงนามสัญญาซื้อขายกิจการ ดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2566

      สรุปทาง JKN ชี้แจงธุรกรรมซื้อขายที่ได้ลงนามไปแล้ว 20 ต.ค.2566 “ยังไม่ชัดเจน” เนื่องจากต้องดำเนินการ และปฏิบัติตามเงื่อนไขสำคัญทางธุรกิจก่อนภายใน 22 ม.ค.2567 (ตามเวลาเม็กซิโก) เป็นเวลาไทย 23 ม.ค.2567

      เมื่อบริษัทได้ข้อสรุปประเด็นทางธุรกิจที่สำคัญแล้วจึงมีการเปิดเผยข้อมูล 23 ม.ค.2567 เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่มีเนื้อหาละเอียดดี และเป็นความจริงโดยตรง และป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน เข้าใจผิดในข่าวลือหรือการชี้แจงใดๆ ก่อน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์