ตลท.สั่ง CMO แจงค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ของบริษัท มูลค่า 25.55 ล้าน 27 ก.พ.นี้
ตลท.สั่ง CMO ชี้แจงค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของบริษัท มูลค่า 25.55 ล้านบาท ภายใน 27 ก.พ.2567 หลังผลตรวจสอบ Special Audit พบเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ของบริษัท
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ CMO หรือ บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงแนวทางการปรับปรุงระบบควบคุมภายใน กรณีผลการตรวจสอบ Special Audit ตามคำสั่งการของสำนักงาน ก.ล.ต. สรุปได้ว่าบริษัทมีการจ่ายเงินค่าที่ปรึกษาที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการปฏิบัติงานร่วมกันกับบริษัท และมีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของบริษัท มูลค่าความเสียหายรวม 25.55 ล้านบาท
โดยความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารของบริษัท และบริษัทที่ปรึกษา อาจสื่อถึงความไม่รัดกุมในการบริหารจัดการอันเป็นเหตุให้บริษัทเกิดความเสียหายทางการเงินได้รวมถึงอาจสื่อได้ว่าอดีตผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มบริษัท
ทั้งนี้ ให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และขอให้ผู้ลงทุนศึกษารายงานตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ และติดตามคำชี้แจงของบริษัท
ข้อมูลสรุปผลรายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit)
1. การจัดจ้าง และจ่ายเงินให้กับบริษัทที่ปรึกษาโดยที่ไม่ได้รับบริการจริง มูลค่าความเสียหาย 19.8 ล้านบาท
ผลการตรวจสอบ
- การคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาอาจมิได้มีความชัดเจนรัดกุมเพียงพอคณะกรรมการบริหารว่าจ้าง และคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา 4 ราย โดยไม่มีการพิจารณาเปรียบเทียบที่ปรึกษาที่บริษัทจัดจ้างกับคู่ค้ารายอื่น
- บริษัทไม่มีหลักฐานอื่นเพิ่มเติมจากรายงานของบริษัทที่ปรึกษา 3 ราย (จากจำนวน 4 รายดังกล่าวข้างต้น) ที่สามารถใช้อ้างอิงหรือพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่ามีการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างบริษัท และบริษัทที่ปรึกษา
- พบความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารของบริษัท (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและอดีตผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) กับบริษัทที่ปรึกษาอาจสื่อถึงความไม่รัดกุมในการบริหารจัดการ อันเป็นเหตุให้บริษัทเกิดความเสียหายทางการเงินได้
2. ค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มบริษัท มูลค่าความเสียหาย 5.75 ล้านบาท
ผลการตรวจสอบ
- กลุ่มบริษัทไม่ได้รับบริการจากคู่ค้า แต่ได้มีการจ่ายค่าใช้จ่ายออกไปจากกลุ่มบริษัทผ่านการจัดจ้างแบบไม่มีสัญญา และการเบิกเงินทดรองจ่ายของพนักงาน
- บริษัทและบุคคลผู้รับจ้างมีความเกี่ยวข้องกับอดีตผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารซึ่งอาจสื่อได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากค่าใช้จ่ายไม่เหมาะสมเหล่านี้
โดยกลุ่มบริษัทยังมีจุดอ่อนในระบบการควบคุมภายในที่ควรพิจารณาปรับปรุง ประกอบด้วย
1) ขาดกระบวนการที่ชัดเจน และรัดกุมเพียงพอในการคัดเลือกผู้ค้า ผู้ให้บริการและบริษัทที่ปรึกษา
2) ขาดกระบวนการในการติดตามผลการปฏิบัติงานของคู่ค้า ผู้ให้บริการและบริษัทที่ปรึกษา
3) ขาดกระบวนการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของกลุ่มบริษัท และการตัดสินใจร่วมโดยคณะกรรมการบริหารของบริษัท
โดยประเด็นที่ขอให้บริษัทชี้แจง แนวทางปรับปรุงระบบความคุมภายใน กำหนดเวลาที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จความเห็นของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบต่อแนวทางการปรับปรุงระบบควบคุมภายในดังกล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์