“เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย จีนเปราะบาง อเมริกาว้าวุ่น ผลกระทบต่อไทย”
สามประเทศที่ไทยค้าขายด้วยเป็นหลัก คือ สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น โดยไทยส่งออกไปอเมริกา 27.10%, จีน 17.83% และญี่ปุ่น 11.81% ซึ่งทั้งสามประเทศมีภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในระยะนี้ที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทย
อุณหภูมิการเมืองบ้านเรากำลังร้อน อาจเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงปุบปับฉับไวแบบตั้งตัวไม่ทัน โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจใหญ่หลายอย่างของรัฐบาลยังมีสิ่งท้าทายรออยู่ หลายคนเป็นห่วงถึงความมั่นคงของรัฐบาลว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ เศรษฐกิจส่วนบุคคลและระดับครอบครัวรุมเร้า ข่าวเรื่องคอรัปชั่นและการฉ้อโกงออนไลน์เกิดขึ้นประจำวันจนทำให้สังคมเกิดความท้อแท้ ลดความเชื่อมั่นในกฎหมายที่ถูกนำมาเลือกปฏิบัติ
ความเปราะบางของการเมืองควบคู่กับเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ทุกประเทศควรหลีกเลี่ยง และหาทางออกประนีประนอมกันโดยเร็วที่สุด ก่อนจะแตกร้าวมากไปกว่านี้ การขาดความปรองดองและไม่อดทนในการรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน หรือไม่ให้อภัยกับผู้ละเมิดประเพณีหรือมารยาทในสังคม หรือใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ อาจจะแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นแต่จะสูญเสียระยะยาว
ขณะที่ผู้นำประเทศทั้งภาครัฐบาลและเอกชนกำลังดิ้นรน หาทางเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ จับตามองออกซิเจนสำหรับเศรษฐกิจไทยที่การค้าขายและการลงทุนกับต่างประเทศ โดยเฉพาะสามประเทศที่ไทยค้าขายด้วยเป็นหลัก คือ สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น (ไทยส่งออกไปอเมริกา 27.10%, จีน 17.83% และญี่ปุ่น 11.81%) ซึ่งทั้งสามประเทศมีภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในระยะนี้ที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทย
สหรัฐอาจจะดูความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากกว่าผู้อื่น แต่ยังมีความเสี่ยงของปีนี้อยู่ที่การเมืองในประเทศ เนื่องจากเป็นปีแห่งการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นของสหรัฐกำลังปรับตัวกับจังหวะเวลาของการประกาศลดดอกเบี้ยของธนาคารกลาง (FED) ดัชนีหุ้นขยับขึ้นและลงสลับกันไปแต่ละวัน คาดว่าดอกเบี้ยจะคงที่ไปอีกระยะหนึ่ง แต่จะมีการประกาศลดภายในปีนี้ค่อนข้างแน่นอน โดยภาพรวมแล้วความเชื่อมั่นในสหรัฐฯยังสูงมาก อัตราการว่างงานต่ำ และกระแสการลงทุนสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้าภายในสหรัฐเพื่อป้อนตลาดของตนเองนั้นกำลังมาแรง และที่สำคัญคือราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันในช่วงนี้อยู่ในระดับที่ผู้บริโภคไม่เดือดร้อน
สำหรับจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่ไทยฝากความหวังไว้มากในอุตสาหกรรมการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน อาจตอบสนองความต้องการของไทยได้เพียงแค่บางส่วน แต่ไม่เข้าเป้าหมายที่รัฐบาลไทยตั้งความหวังไว้
จับตามองเรื่องที่จีนอาจจะมีการเสนอชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ ซึ่งมีท่าทีประนีประนอมและเปิดการสนทนามากขึ้นกับสหรัฐ อาจเห็นการลดหรือยกเลิกนโยบายแข็งกร้าวทางการทูตของจีน ซึ่งจะเป็นการสร้างบรรยากาศแตกต่างจากปัจจุบัน ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญคือการระดมทุนจากต่างประเทศเข้าจีนให้มากที่สุด หรือช่วยป้องกันไม่ให้เงินออกนอกประเทศมากกว่าปัจจุบันอีก
อาจเห็นรัฐบาลจีนส่งสัญญาณให้อิสระในการทำงานของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในจีนและบริษัทต่างประเทศโดยไม่ต้องกังวลว่ารัฐบาลจีนจะตรวจสอบเข้มงวดหรือตั้งกฎเกณฑ์ที่สร้างความวิตกอย่างที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงโควิด ชาวจีนกำลังขาดความมั่นใจในตลาดหุ้นภายในประเทศ และทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพออกไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อสังหาริมทรัพย์ยังไม่เห็นทางออก
การปรับเปลี่ยนทิศทางการเมืองของจีนโดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศนั้นคาดว่าจะเป็นตัวแปรที่สำคัญมากมากที่สุดในปีนี้
ส่วนญี่ปุ่นนั้นกำลังอยู่ในภาวะที่เผชิญปัญหาท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างประชากรที่มีคนสูงอายุมากขึ้นและขาดคนวัยทำงาน แม้ญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ จากอุตสาหกรรมใหญ่ที่เติบโตช้าและแข่งขันไม่ทันกับจีนและเกาหลีใต้ มาเพิ่มการลงทุนและวิวัฒนาการอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์การทหาร แต่ก็ดูเหมือนญี่ปุ่นยังต้องดิ้นรนอีกมาก ข่าวที่ออกมาล่าสุดอาจเป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนประหลาดใจว่า “เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกลงมาเป็นอันดับสี่ของโลก” ได้อย่างไร
เมื่อดูจีดีพีปีที่แล้ว เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตขึ้นเพียงแค่ 1.9% สองไตรมาสหลังของปีค.ศ. 2023 ตัวเลขออกมาติดลบติดต่อกัน ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน -2.9% และเดือนตุลาคมถึงธันวาคม -0.4% สรุปคือญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นทางการแล้ว
รัฐบาลไทยกำลังดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยใช้นักการทูตเป็นนักธุรกิจซึ่งถือว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว แต่จะหวังผลให้เกิดเกิดขึ้นโดยเฉียบพลันนั้นคงยาก เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่เงื่อนไขปัจจัยของบ้านเราเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั้งหลายด้วย โดยตัวอย่างของสามประเทศที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ทำให้เห็นว่าการวางแผนคาดการณ์ไว้นั้น ถึงแม้ว่าจะทำโดยรอบคอบสุดความสามารถอย่างไรเราก็สามารถจะควบคุมผลลัพธ์ได้ คู่ค้าใหญ่ในเอเชีย ทั้งจีนและญี่ปุ่น กำลังแก้ไขปัญหาท่วมหัวของตนเองอยู่ เราจึงต้องระมัดระวังเรื่องการคาดหวังว่าสองประเทศนี้จะเป็นที่พึ่งของเราได้เพียงใด
ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือเศรษฐกิจจีนกำลังเดินตามรอยของญี่ปุ่นหรือไม่
ในอดีตกว่า 30 ปีมาแล้ว ญี่ปุ่นเคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก และถึงขั้นประเมินว่าอาจจะกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งโดยแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นไป แต่เมื่อเงื่อนไขภายในญี่ปุ่นเปลี่ยน ทั้งนโยบายของรัฐและความสัมพันธ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น และอัตราการเกิดของประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นช้าลง จนกลายเป็นฉายาว่า “ญี่ปุ่นสูญเสียไปหลายทศวรรษ”
ระยะหลายปีที่ผ่านมาสังเกตว่าจีนก็มีลักษณะคล้ายญี่ปุ่นเช่นกัน เคยมีข่าวว่าเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นอันดับสองจะแซงสหรัฐขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่ง และจีนมีปัญหาประชากรเช่นเดียวกับญี่ปุ่นคืออัตราการเกิดต่ำมากจนระยะนี้น่าเป็นห่วง เพราะต่ำถึงขั้นเกาหลีใต้แล้ว ประกอบกับความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในจีนอยู่ในภาวะที่ตึงเครียดขาดความเชื่อมั่นและไว้วางใจระหว่างกัน
คำถามคือจีนจะประสบปัญหา “หลายทศวรรษที่สูญเสีย” เช่นญี่ปุ่นหรือไม่ และการที่ไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้าในระดับสูงกับจีนและญี่ปุ่นนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร
ในสภาวะของความเสี่ยงสูงในภูมิรัฐศาสตร์เราจำเป็นต้องทบทวนนโยบายตลอดเวลา ผมมั่นใจว่ารัฐบาลและผู้นำเศรษฐกิจภาคเอกชนจะปรับนโยบายให้เข้ากับทุกสถานการณ์ได้ และในระดับเศรษฐกิจครอบครัวหรือส่วนบุคคลเราก็ต้องทบทวนนโยบายและพฤติกรรมของเราเช่นกัน
ส่วนเรื่องการเมืองและความมั่นคงของมาตุภูมินั้น ขอให้เราใช้ความสามัคคี ใช้สติและความหนักแน่น อย่าให้เกิด “หลายทศวรรษที่สูญเสีย” แต่ทำให้เป็น “หลายทศวรรษข้างหน้าที่ประชาธิปไตยเบิกบาน” ครับ