ตลท.คัดเข้มคุณภาพ ”ไอพีโอ” รื้อเกณฑ์รับ บจ.ใหม่ รอบ 20 ปี เพิ่มกำไร - ส่วนทุน

ตลท.คัดเข้มคุณภาพ ”ไอพีโอ” รื้อเกณฑ์รับ บจ.ใหม่ รอบ 20 ปี เพิ่มกำไร - ส่วนทุน

ตลท. สังคายนาเกณฑ์รับไอพีโอโดยปรับทั้งกำไร - ส่วนทุน และทุนจดทะเบียน สำหรับยื่นไอพีโอ คัด บจ.คุณภาพมากขึ้นเข้าตลาดหุ้น เริ่มปี 2568 พร้อมปรับเครื่องหมายกำกับหุ้นรายตัว ไม่แก้ไขจ่อขึ้นเครื่องหมายเริ่ม 25 มี.ค.67 มี 18 บจ.ยกระดับเป็น CB จากปัญหาฐานะการเงินมากที่สุด

    นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า การยกระดับมาตรการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน(บจ.) คือ ก่อนเข้าตลาดหุ้นหรือ ไอพีโอ ระหว่างดำรง บจ.และเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น โดยเฉพาะเกณฑ์รับ บจ. ใหม่ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปรับตั้งแต่ปี 2548 บวกกับภาวะเศรษฐกิจแล้วถือว่าเป็นเกณฑ์ผ่อนคลาย และเข้มงวดน้อยกว่า เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค

    โดยเกณฑ์รับไอพีโอเริ่มใช้ 1 ม.ค.2568 ปรับกำไรในตลาด SET เป็น 75 ล้านบาท เดิม 30 ล้านบาท ส่วนทุนเป็น 800 ล้านบาท จาก 300 ล้านบาท ทุนชำระลดลงจาก 300 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจที่ไม่ใช้ทุนจดทะเบียนจำนวนมาก เช่น สตาร์ตอัป เทคโนโลยี แต่มีกำไรสูง และฟลีโฟลตตามเกณฑ์ทุนจดทะเบียนซึ่งสูงสุดเป็น 30% เดิม 15%

   

    ส่วนตลาด MAI ปรับกำไรในตลาด เป็น 25 ล้านบาท เดิม 10 ล้านบาท ส่วนทุนเป็น 100 ล้านบาท จากเดิม 50 ล้านบาท เพิ่มเติมส่วนนี้หลังเข้าตลาด 2-3 ปี มีเกณฑ์กำไร 40 ล้านบาท จากเดิมไม่ได้กำหนด  ทุนชำระลดลงจาก 300 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาท และฟลีโฟลตเกณฑ์ทุนจดทะเบียนซึ่งสูงสุดเป็น 20% เดิม 15%

    “เกณฑ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว อย่างกำไรไอพีโอขยับเพิ่ม 150% จากไม่ได้ปรับมานานมาก แต่ปัจจุบัน บจ. ส่วนใหญ่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับ และยกระดับทำให้การเป็นตลาดรองเพื่อระดมทุนได้ดีมากขึ้น เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะจะเน้นไปที่สภาพคล่อง ให้หุ้นมีการเปลี่ยนมือลงทุนได้ ภายใต้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อฐานะการเงินจากข้อมูลที่ทาง ตลท. เปิดเผยมากขึ้น”

      ตลท.คัดเข้มคุณภาพ ”ไอพีโอ” รื้อเกณฑ์รับ บจ.ใหม่ รอบ 20 ปี เพิ่มกำไร - ส่วนทุน

    สำหรับการดำรง บจ.ใน ตลท. มีการให้ข้อมูลเพื่อเป็นการยกระดับการเตือน เริ่ม 25 มี.ค.2567 ประกอบด้วย การเตือนในกลุ่ม บจ. ที่ไม่มีธุรกิจหลักพิจารณาจากรายได้ บริษัทที่ขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี จนส่วนทุนน้อยกว่าทุนจดทะเบียน การผิดนัดชำระหนี้ทางตราสารหนี้ และสถาบันการเงิน ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความคิดเห็น ไม่แก้ฟลีโฟลต หรือไม่ให้ข้อมูลนักลงทุน (Opp Day ) ตามกำหนด

   

    กลุ่มนี้จะขึ้นเครื่องหมายให้นักลงทุนรับทราบสถานะ และหากไม่แก้ไขจะเข้าเหตุเพิกถอนในที่สุด ซึ่งปัจจุบันมี บจ.19 บริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C เมื่อแยกตามสาเหตุแล้ว มี 18 บริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย CB หรือ มีปัญหาฐานะการเงิน เช่น ส่วนทุนน้อยกว่าทุนจดทะเบียน ศาลรับคำร้องฟื้นฟูกิจการ สั่งแก้ไขงบการเงิน ขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี ผิดนัดชำระหนี้ เป็นต้น

    19 บริษัทดังกล่าว ประกอบด้วย AKS, EFOR , EMC , HYDRO , JCKH , JKN ,KC ,KKC ,KWI ,NATION ,NEP, NEWS, PPPM, SDC , STOWER ,TRC,TSI,UMS และ W

    ทั้งนี้ ยังมีการดูแลรายการเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม (Backdoor Listing) และกลับมาทำการซื้อขายใหม่ (Resume Trading) เสมือนยื่นไอพีโอ มีสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ปรึกษาการเงิน และ ตลท. พิจารณา ต้องจัด Opp day อย่างน้อย 1 ครั้งในปีแรก  การรับ Backdoor Listing อิงเกณฑ์กำไร และยกเลิกเกณฑ์มาร์เก็ตแคป หากไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์จะขึ้น SP จนกว่าแก้ไขหากเกิน 2 ปี ถูกเพิกถอน

“มาตรการยกระดับการเตือนนักลงทุนป้องกันไม่ให้เกิดเคส ทุจริต - ตกแต่งงบการเงิน อยู่ที่หลายส่วนแต่ ตลท. นำข้อมูลผู้สอบบัญชี - คณะกรรมการตรวจสอบ  ขึ้นเครื่องหมายเกิดปัญหา เพื่อเตือนนักลงทุนให้เกิดข้อสังเกตในการลงทุนและสามารถนำไปขยายผลเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต”

 

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์