ประชัน หุ้น ‘ห้างสรรพสินค้า’ ใครใหญ่สุด ในตลาดหุ้นไทย
ประชัน หุ้น ‘ห้างสรรพสินค้า’ ใครใหญ่สุด ในตลาดหุ้นไทย หลังมีกระแสข่าว สยามพิวรรธน์ เตรียมเข้าตลาดหุ้น ขณะที่หุ้น CPN ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล 40 แห่ง ใหญ่สุด มีมูลค่ากิจการ 286,110 ล้านบาท กำไร ปี 2566 ที่ 15,061.62 ล้านบาท
ข่าวใหญ่คับวงการธุรกิจ และตลาดหุ้นเมืองไทย เมื่อ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของ “สยามพารากอน-ไอคอนสยาม” เตรียมสยายปีกเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นการทำ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดของไทยในรอบประมาณ 2 ปี ซึ่งข่าวนี้สร้างความคึกคักให้กับแวดวงธุรกิจบ้านเราเป็นอย่างมาก
ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด มีกระแสข่าวจะเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย คงต้องรอดูว่า ราคา P/E ว่าจะอยู่ที่กี่เท่า เพราะราคา P/E ของกลุ่มนี้จะอยู่ที่ประมาณ 20-30 เท่า จึงต้องจับตาดูว่า ถ้าจะเข้ามาแล้ว ราคา P/E จะอยู่สักเท่าไร
ทั้งนี้ในกลุ่มห้างสรรพสินค้า ก็จะมีหุ้นที่เป็นกึ่งห้างสรรพสินค้าอย่าง CPN ซึ่งนอกจากห้างสรรพสินค้าแล้ว ยังมีการพัฒนาอสังหาฯ มากกว่า เช่น พอทำห้างสรรพสินค้าสักระยะหนึ่งสักพักก็ปรับนำมาเข้าสู่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ฯ นอกจากนี้ยังได้ ในส่วนของพื้นที่ให้เช่า
นอกจากนี้ ในกลุ่มดังกล่าวยังมีหุ้น MBK CPN และ PLAT ขณะที่ สยามพิวรรธน์ มีห้าง ไอคอนสยาม พารากอน ยังคงมีโอกาสเติบโตได้ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนมาไทยมักจะนิยมเข้าห้างใหญ่ เช่นห้าง พารากอน ไอคอนสยาม และ Central World
อย่างไรก็ตาม มองว่า หาก สยามพิวรรธน์ จะเข้าตลาดหุ้น ถือว่ามีความน่าสนใจ แต่ยังขึ้นอยู่กับราคา และคาดว่า การเข้ามาระดมทุนครั้งนี้อาจจะมีการต่อยอดขยายกิจการได้มากขึ้น เช่นอาจจะไปเปิดห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น อาจจะมีการไปเปิดสยามพารากอน เพิ่มในจังหวัดใหญ่ๆ เป็นต้น
กรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาตัวเลขอัตราเช่าพื้นที่บางเจ้าถือว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเลยโควิดมาแล้ว หรือบางเจ้ายอดไปกว่า 90% ซึ่งหุ้นห้างสรรพสินค้าปรับขึ้นมาได้ โดยเฉพาะ CPN ปรับขึ้นมาในระดับ ขณะที่ LH ที่มีห้าง Terminal 21 ปัจจุบันแม้ว่าราคาจะยังไม่ปรับขึ้นมาเท่าไร เนื่องจากมีอสังหาฯ ที่ขายบ้านด้วย หากนักลงทุนจะเข้ามาซื้อ และได้ราคาถูก หุ้น LH ถือว่า มีความน่าสนใจ ณ จุดนี้ แนะนำ นักลงทุนหากจะเข้ามาลงทุนควรลงทุนแบบเทรดดิ้ง
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวม เปรียบเทียบผลงาน หุ้นห้างสรรพสินค้า หรือหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับห้างสรรพสินค้า และกำลังจะเข้าตลาดหุ้นไทย ในตลาดหุ้นมีด้วยกันดังนี้
1.บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด
- สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต
- กำไรปี 2565 ที่ 1,330 ล้านบาท
- รายได้รวมปี 2565 ที่ 4,113 ล้านบาท
- คาดเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO ด้วยแผนเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทย ภายในสิ้นปีนี้ มูลค่าสูงถึง 500-750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8-2.7 หมื่นล้านบาท
2.บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN
- ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล 40 แห่ง
- มูลค่ากิจการ 286,110 ล้านบาท
- P/E 19.00 เท่า
- ราคา ณ 22 มี.ค.2567 ปิดที่ 63.75 บาท
- กำไร ปี 66 ที่ 15,061.62 ล้านบาท
3.บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC)
- โรบินสัน 51 สาขา
- มูลค่ากิจการ 221,639.25 ล้านบาท
- P/E 27.65 เท่า
- ราคา ณ 22 มี.ค.67 ปิดที่ 36.50 บาท
- กำไร ปี 66 ที่ 8,016.31 ล้านบาท
4.บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC
- เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ,ลาซาล อเวนิว, เกทเวย์ ,พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ,โอ.พี. เพลส แบงคอก,ตะวันนา บางกะปิ
- มูลค่ากิจการ 126,089.23 ล้านบาท
- P/E 25.03 เท่า
- ราคา ณ 22 มี.ค.2567 ปิดที่ 3.96 บาท
- กำไร ปี 2566 ที่ 5,037.86 ล้านบาท
5.บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH
- ศูนย์การค้า Terminal 21 จำนวน 4 สาขา ได้แก่ อโศก,พระราม 3 , โคราช และพัทยา
- มูลค่ากิจการ 83,647.99 ล้านบาท
- P/E 11.18 เท่า
- ราคา ณ 22 มี.ค.2567 ปิดที่ 7.00 บาท
- กำไร ปี 2566 ที่ 7,481.89 ล้านบาท
6.บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK
- ห้างสรรพสินค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ,ศูนย์การค้า พาราไดซ์ พาร์ค ,ศูนย์การค้า พาราไดซ์ เพลส ,เดอะไนน์ เซ็นเตอร์
- มูลค่ากิจการ 35,786.52 ล้านบาท
- P/E 22.84 เท่า
- ราคา ณ 22 มี.ค.2567 ปิดที่ 17.80 บาท
- กำไร ปี 2566 ที่ 1,567.12 ล้านบาท
7.บริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PLAT
- ศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ ,เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ,เดอะ นีออน ไนท์ บาซาร์
- มูลค่ากิจการ 8,344.00 ล้านบาท
- P/E 46.98 เท่า
- ราคา ณ 22 มี.ค.2567 ปิดที่ 2.96 บาท
- กำไร ปี 2566 ที่ 177.62 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์