บจ.ขายบริษัทลูกตุนเงินสด มูลค่าเฉียด 6 หมื่นล้าน เซ่นเศรษฐกิจ-ตลาดหุ้นทรุด
บจ.ขายบริษัทลูกตุนเงินสด มูลค่าเฉียด 6 หมื่นล้าน หลายบริษัทตัดสินใจปรับโครงสร้างธุรกิจ หวังลดต้นทุน รอเศรษฐกิจฟื้นตัว
แม้ทั่วโลกรวมถึงไทยจะเข้าสู่ภาวะปกติ หลังผ่านพ้น “วิกฤติโควิด-19” ไปแล้ว แต่ดูเหมือนผลกระทบในด้านของ “เศรษฐกิจ” ยังไม่สามารถก้าวพ้นไปได้ ด้วยสารพัดปัจจัยลบรุมเร้าเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ที่ยังคงอยู่ !! ทั้งความชัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ยังไม่จบ ภาวะเศรษฐกิจจีนสะดุด นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สิ่งเหล่านี้ล้วนซ้ำเติมให้ “เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวช้า” สะท้อนภาพเพียงแค่ 3 เดือนแรกปี 2567 เหล่าสำนักวิจัยต่างพาเหรด “หั่นจีดีพีไทย” โตต่ำกว่า 3%
สารพัดปัจจัยลบดังกล่าว ! กระทบเศรษฐกิจประเทศไทยลากยาวต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2567 ส่งผลให้ “บริษัทจดทะเบียนไทย” (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลายบริษัท “ขาดสภาพคล่อง” จนกระทั้งต้องตัดสินใจ “ปรับโครงสร้างใหม่” ซึ่งหนีไม่พ้น “การปรับลดขยายกิจการ” หรือ “ขายกิจการบางส่วน” (บริษัทลูกในเครือ) เพื่อหวังช่วยลดทอนต้นทุนธุรกิจ หรือ เพื่อนำเงินมาต่อลมหายใจให้ธุรกิจ
ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาจึงเริ่มเห็นภาพของการปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยการขายธุรกิจบริษัทลูก ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่เคย “แตกแขนง” เมื่อครั้งเฟื่องฟู แต่ต่อมาเมื่อภูมิทัศน์ทางธุรกิจเปลี่ยนไป ทำให้การบริหารจัดการจึงต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย จึงต้องตัดสินใจขาย หรือ ตัดสินใจยุบบริษัทลูกดังกล่าว เพื่อให้เกิดสภาพคล่องภายในบริษัทมากขึ้น
“กิจพณ ไพรไพศาลกิจ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองประเด็นดังกล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่าในปีที่ผ่านมาจะเห็นภาพของหลายๆ บริษัทจดทะเบียนไทย อาจจะมี “ถอนการลงทุน” หรือ “ขายกิจการบริษัทย่อย” ออกไป
โดยผ่านแบ่งออกเป็น “กลุ่มแรก” นั่นคือ เข้าไปลงทุนแล้วผลตอบรับไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น จึงตัดสินใจถอนการลงทุน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวของบริษัทแม่ แต่อาจจะต้องยอมเจ็บตัวเพราะมีการบันทึกด้อยค่า แต่ก็ดีกว่าต้องบันทึกขาดทุนไปเรื่อยๆ หรือเรียกยอมเจ็บครั้งเดียว...แต่จบ !!
ยกตัวอย่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้ประกอบการผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของไทย ประกาศถอนการลงทุนออกจาก “Red Lobster” โดยตั้งสำรองการรับรู้ด้อยค่า เพื่อให้ไม่มีผลกระทบกับงบการเงินต่อไปในอนาคต
ขณะที่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นบริษัทประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจให้บริการ และธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ปรับโครงสร้างโดยการขาย บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ออกไป ซึ่งทางด้าน KEX จะมีการเตรียมตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากนักลงทุนทั่วไป (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ซึ่งก็จะทำให้ได้เงินตรงนี้เข้ามาเพิ่มขึ้น ส่วน VRANDA ยุติธุรกิจร้านขนมหวานแบรนด์ GRAM Pancakes และ PABLO Cheese tart
ส่วนอีกกลุ่มบริษัทจะมีปัญหาเรื่องของสภาพคล่องค่อนข้างหนัก อย่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ขณะนี้ปัญหาหนี้สินค่อนข้างมาก และมีภาระทางการเงินค่อนข้างสูง ดังนั้น ITD จึงมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ เพื่อลดหนี้สินต่อทุน (D/E) โดยการแปลงสินทรัพย์เพื่อให้เกิดสภาพคล่องได้ บวกกับบริษัท “ขาดทุน” ต่อเนื่องมา 4 ปีติดต่อกัน
ทำให้ไม่สามารถหาเงินมาชำระหุ้นกู้ “นับหมื่นล้านบาท” ที่จะครบกำหนดจ่ายเงินต้นที่ผ่านมาจนต้องขอเจ้าหนี้ ในการเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ออกไปก่อน
และก็ดูเหมือนว่า ITD กำลังทำทุกวิถีทาง เพื่อที่จะแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยล่าสุด บริษัทได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า... กำลังพิจารณาขายหุ้นในบริษัทลูก “เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น” ที่ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 90% (อีก 10% กระทรวงการคลังถืออยู่)
ให้กับผู้ร่วมทุน ที่สนใจจะเข้ามาลงทุน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคัดเลือก และเจรจา ซึ่งบริษัทลูกที่ว่า เป็นบริษัทที่ลงทุนในโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี ได้รับอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โปแตช จากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว จำนวน 4 แปลงของแหล่งแร่อุดรใต้ รวมเนื้อที่ 25,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา โดยมีระยะเวลาการอนุญาตประทานบัตร 25 ปี
โดยมีการประเมินว่า สิทธิในเหมืองแร่โปแตช ที่ ITD ถืออยู่ผ่านบริษัทลูกนั้น น่าจะมี “มูลค่าราว 18,000 ล้านบาท” ถ้าหากขายได้ เงินจำนวนนี้ ทาง ITD ก็น่าจะเอาไปชำระหุ้นกู้ ที่ขอเลื่อนจ่ายไป และใช้เสริมสภาพคล่อง เพื่อต่อลมหายใจให้ธุรกิจได้ นอกจากนี้ ยังมี บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL ที่มีการประกาศขายที่ดิน
ทั้งนี้ ถือว่าเป็นความจำเป็นในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในรูปแบบนี้ ถ้าพิจารณาในภาพใหญ่สำหรับการลงทุนประเภทแรกจะดีกว่า เพราะท้ายที่สุดยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการฟื้นตัว เพียงแต่ว่าช่วงที่ผ่านมา ประสบกับแรงกดดันจากการลงทุนบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเมื่อนำกิจการที่มีปัญหาออกไปจะทำให้ในอนาคตมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ในขณะที่ “กลุ่มที่ 2” ที่ประสบกับปัญหาและต้องมี “การปรับโครงสร้างเงินทุนให้เหมาะสมและลดต้นทุน” ถือว่าเป็นไฟล์บังคับ ที่ต้องมีการบังคับขายส่วนใหญ่ก็รู้ว่า มีความร้อนเงิน และจะขายได้ในราคาที่คนขายค่อนข้างเสียเปรียบ
“ในกลุ่มแรกจะดูมีความน่าสนใจกว่ากิจการหลังจากนี้จะกลับมาดี หลังจากที่ตัวถ่วงนั้นหายไป ส่วนกรณีเคสที่ 2 เป็นการเสียโอกาสที่ไม่สามารถรักษาสินทรัพย์ที่ดี ๆ เอาไว้ได้”
“ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่า มีผลต่อเนื่องมาจากช่วงก่อนหน้านั้นสภาพคล่องของแต่ละบริษัทมีค่อนข้างสูงเพราะไม่ได้มีการเข้าไปลงทุนอะไรมากมาย ขณะที่ต้นทุนของดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำทั้งทั่วโลก จึงทำให้สามารถเข้าไปลงทุนได้เยอะ
ทั้งนี้ พออัตราดอกเบี้ยเริ่มมีการขยับขึ้น จึงทำให้ต้นทุนทางการที่ไปลงทุนกันไว้ก่อนหน้า ทำให้เป็นภาระหนี้ โดยภาพรวมจะเห็นว่าค่อนข้างสูงขึ้น ส่งผลให้ต้องกลับมาทบทวนดูว่า สิ่งที่ลงทุนไปนั้นอะไรที่ไม่ทำกำไรเพื่อที่จะได้ตัดออกไปเพื่อเสริมสภาพคล่องเข้ามา
“ถ้าดอกเบี้ยยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ หลาย ๆ บริษัทที่เข้าไปลงทุนก็จะยังคงถืออยู่ไปเรื่อย ๆ แต่พอดอกเบี้ยสูงก็ต้องคิดว่า จะถือต่อหรือจะพอแค่นี้ดี”
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทนั้น ๆ ที่เข้าไปลงทุนเป็นตัวทวงของผลประกอบการในกิจการ การที่ตัดทิ้งออกไปอาจจะเจ็บในช่วงสั้น เพราะว่าจะต้องมีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ค่อนข้างมาก แต่หลังจากนั้นปัจจัยรบกวนงบการเงินจะหายไป ถือว่า เป็นภาพที่ดีของบริษัทรวมถึงภาพรวมที่ดีของตลาดหุ้นไทยด้วย