‘หุ้นบลูชิปไทย’เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ผ่าน SDR เปิดเทรดแล้ววันนี้
ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิด 5 SDR อิง‘หุ้นบลูชิปไทย’ AIS, DELTA, GULF, KBANK และ SCG เปิดเทรด 1 เม.ย. ดึงนักลงทุนรายย่อยสิงคโปร์เข้าถึงหุ้นไทย ภายใต้ความร่วมมือ "Thailand-Singapore DR Linkage"
KEY
POINTS
- ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เปิดตัว 5 SDR อิงหุ้นบลูชิปไทย เริ่มซื้อขาย 1 เมษายน 2567
- ทำให้ตอนนี้มีหุ้นไทยใน SGX ทั้งหมด 8 ตัว ได้แก่ AOT, CPALL, PTTEP , AIS, DELTA, GULF, KBANK และ SCG
- SDR ช่วยให้นักลงทุนรายย่อยสิงคโปร์ ซื้อขายหุ้นไทยได้โดยไม่ต้องซื้อขายหุ้นไทยโดยตรง
- ภายใต้ความร่วมมือ "Thailand-Singapore DR Linkage"
ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ประกาศเปิดตัว 5 ตราสารแสดงสิทธิ์การฝากหลักทรัพย์ในประเทศสิงคโปร์ หรือ SDR ใหม่ โดยอ้างอิงหุ้นบริษัทชั้นนำของไทย 5 แห่ง ได้แก่ AIS, DELTA, GULF, KBANK และ SCG ภายใต้ความร่วมมือ "Thailand-Singapore DR Linkage"
การเปิดตัว SDR เหล่านี้ เป็นการขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่าง SGX กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หลังจากนำร่อง 3 SDR แรก คือ AOT CPALL และ PTTEP ในเดือนพฤษภาคม 2566
โดย SDR ช่วยให้นักลงทุนรายย่อยในสิงคโปร์ สามารถซื้อขายหุ้นของบริษัทเหล่านี้ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้โดยไม่ต้องซื้อขายหุ้นไทยโดยตรง
5 SDR อิงหุ้นไทย
- Advanced Info Service (AIS) บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่ง Singtel มีหุ้นอยู่ 23%
- Delta Electronics (DELTA) บริษัทที่ได้ประโยชน์จากกระแสความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าและศูนย์ข้อมูล
- Gulf Energy (GULF) บริษัทผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ครอบคลุมทั้งธุรกิจพลังงานแบบดั้งเดิมและพลังงานหมุนเวียน
- Kasikorn Bank (KBANK) ธนาคารชั้นนำด้านสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเป็นผู้นำในกลุ่มลูกค้า High Net Worth
- Siam Cement (SCG) บริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์
ซีรีน ไค หัวหน้าฝ่ายซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX Group) กล่าวว่า ทั้ง 5 บริษัทไทยได้รับเลือกเพราะเป็นผู้นำตลาดในแต่ละอุตสาหกรรมนอกจากนี้ บริษัทเหล่านี้ยังอยู่ในสถานะที่ดีที่จะสามารถดึงประโยชน์จากกระแสดิจิทัลอีกด้วย
บริษัท SDR ทั้ง 3 บริษัทที่มีอยู่เดิม จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ได้แก่
- บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ผู้ประกอบการท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
- บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) บริษัทที่ดำเนินกิจการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
- บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รวมกันแล้ว บริษัท SDR ทั้ง 8 บริษัท คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของดัชนี SET50 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น 50 อันดับแรกของตลาดหลักทรัพย์ไทย
'หุ้นไทย'ทางเลือกใหม่รายย่อยสิงคโปร์
บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (Phillip Securities) ผู้จัดจำหน่าย SDR ทั้ง 2 ชุด กล่าวว่า ในตอนนี้นักลงทุนสิงคโปร์มีโอกาสที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีโอกาสการเติบโตของประเทศไทยโดยตรง โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.2% ในปี 2567 จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน หลังจากที่เติบโต 1.9% ในปี 2566
เจอรัลด์ หว่อง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Beansprout แพลตฟอร์มที่ปรึกษาการลงทุน เผยว่า SDR อิงหุ้นไทย ช่วยเพิ่มตัวเลือกการลงทุนของเขาไปยังบริษัทต่างๆ ที่ไม่มีหุ้นจดทะเบียนในตลาดสิงคโปร์
พร้อมยกตัวอย่างว่า นักลงทุนที่มองหาโอกาสการลงทุนเฉพาะในตลาดสิงคโปร์ อาจจะไม่สามารถหาบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่าง ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มาลงทุนได้
แม้จะมีบริษัทใหญ่หลายแห่งที่ให้บริการด้านงานวิศวกรรมปิโตรเลียมในตลาดสิงคโปร์ อาทิ Kim Heng Offshore and Marine หรือ Rex International แต่ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันขนาดใหญ่จดทะเบียนอยู่ในตลาดสิงคโปร์
“จึงเป็นเหตุผลที่ SDR เหล่านี้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน” คุณหว่องกล่าว
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่าการที่บริษัทได้เป็นหนึ่งใน SDR เตรียมเข้าซื้อขายบนตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ในเร็วๆ นี้ จะเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับนักลงทุนในสิงคโปร์ และช่วยให้นักลงทุนเป็นหนึ่งในการเติบโตของ AIS
วอลลุ่มเทรด SDR เพิ่มขึ้นสองเท่า
ความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์กับตลาดหลักทรัพย์ไทย ถือเป็นความร่วมมือระดับตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการออก SDRs
ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์รายงานว่า มูลค่าการซื้อขายของ SDRs เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2566 โดยมีมูลค่าการซื้อขายเกินกว่า 3 แสนดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นสะท้อนว่านักลงทุนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า เป็น 2 ล้านดอลลาร์ โดยมีนักลงทุนรายย่อยถือครองอยู่ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์
นายลุค ลิม กรรมการผู้จัดการของ Phillip Securities กล่าวว่า สิ่งที่นักลงทุนสิงคโปร์ที่ลงทุนใน Thai SDR ควรทราบไว้ก็คือ “ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรง”
อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนใน SDR ยังคงมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผล ที่บริษัทไทยจ่ายให้ และ เข้าร่วมการดำเนินการของบริษัท เช่น การออกสิทธิ (Rights Issue) หรือ การออกหุ้นโบนัส (Bonus Share Issue)
DR หุ้นสิงคโปร์เปิดเทรดพร้อมกัน
ขณะเดียวกัน DR สิงคโปร์ จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งจะทำให้จำนวน DR ทั้งหมดที่มีหุ้นสิงคโปร์อ้างอิงบนตลาดหลักทรัพย์ไทยมีทั้งหมด 4 ตัว
- Singtel ผู้ประกอบธุรกิจด้านโทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐาน Digital Economy ยักษ์ใหญ่แห่งอาเซียน เข้าจดทะเบียนในเดือน 1 เมษายน 2567
- Singapore Airlines สายการบินแห่งชาติสิงคโปร์ จดทะเบียนในเดือนกันยายน 2566
- ST Engineering บริษัทด้านการป้องกันประเทศและวิศวกรรม จดทะเบียนในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
- Venture Corp บริษัทเทคโนโลยี จดทะเบียนในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
SGX เล็งหุ้นไทยเพิ่มอีก 8 อุตสาหกรรม
โดย SGX จะ สำรวจรายชื่อบริษัทไทยในอนาคตเพิ่มเติมจากภายใน 8 อุตสาหกรรม ซึ่ง"เฮลแคร์" มีความน่าสนใจ โดยทั้ง 8 ภาคส่วน ได้แก่ ผู้บริโภค,อุตสาหกรรม,พลังงาน,การเงิน,บริการสื่อสาร,เทคโนโลยี,สาธารณูปโภค และ วัสดุ
สำหรับอนาคตความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูสภาพคล่อง (DR) ระดับภูมิภาค SGX เผยว่ามีการพูดคุยกันมากมายกับตลาดหลักทรัพย์เพื่อนบ้านต่างๆ อินโดนีเซีย ก็เป็นประเทศที่น่าสนใจเช่นกัน"
ในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา SGX ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย (IDX) ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือในหลาย ๆ ด้าน รวมถึง DR ด้วย
อ้างอิง straitstimes