มาตรการกำกับหุ้นไทย “ปิดโอกาส” หุ้นปั่น - สร้างราคา

มาตรการกำกับหุ้นไทย “ปิดโอกาส” หุ้นปั่น - สร้างราคา

สร้างความเชื่อมั่นตลาดหุ้นผ่านงานกำกับ เพื่อให้นักลงทุนไม่มีข้อกังวลทยอยออกมาเป็นมาตรการที่ปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่อง บางมาตรการยังอยู่ระหว่างรับฟังข้อมูล(เฮียริ่ง) และดำเนินการได้ทันทีส่งผลทำให้งานกำกับในมือ ตลท.จะยับยั้งธุรกรรมที่เป็นข้อกังขาได้อย่างไร

“รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล”  รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขาองค์กร และกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย (ตลท.)   ยกงานกำกับซื้อขายเพิ่มเติมเป็นการป้องกันรายการที่ไม่เหมาะสมหรือสามารถทำให้นักลงทุนฉุกใจก่อนที่จะซื้อ และขายได้ มีทั้งมาตรการยังเฮียริ่ง และมาตรการดำเนินการได้เลย

ส่วนยังรอเฮียริ่งมาตรการกำกับขายชอร์ต (Short selling) และโปรแกรมเทรดดิ้ง (Program Trading) ผ่านอนุมัติจากบอร์ด ตลท. ส่วนกลุ่มมาตรการดำเนินการได้ การเพิ่มเหตุจากเครื่องหมาย C มีผลบังคับใช้ไปแล้วเดือนเม.ย. รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลการขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืน (Outstanding Short Positions) เป็นรายหลักทรัพย์ เริ่มวันที่ 9 เม.ย.67 นี้ เพื่อให้ทราบว่าวันนี้มีคนมาชอร์ตหุ้นนี้เท่าไร เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนจะซื้อขาย หรือ  “ตัดสินใจก่อนจะขายหมู” 

“มุมด้านนักลงทุนมีข้อมูลในมือ เหมือนเคสหุ้น Game Stop ในสหรัฐ ที่รายย่อยรวมกลุ่มมาสู้กับกลุ่มเฮดจ์ฟันด์ที่ชอร์ตหุ้นไว้เพราะนักลงทุนรายย่อยเห็นข้อมูลแล้วว่าหุ้นตัวนั้นถูกชอร์ตเกินกว่าที่ควรเป็นทางพื้นฐาน การเปิดข้อมูลในส่วนนี้ทำให้ฉุกใจคิดได้ว่าหุ้นถูกชอร์ตมากเกินไปไหม    ถ้าจะขายต้องระวังไม่ไปตามเกมของรายใหญ่ที่ชอร์ตหุ้นเพื่อหวังกดราคาหุ้นลง ” 

ขณะที่แนวทางกำกับซื้อขายที่พูดถึงมากคือ การ “เพิ่มมาตรการ Auction”  หรือการประมูลหุ้นซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่มีการซื้อขายอยู่แล้วในตลาด LiVEx ด้วยการส่งคำสั่งซื้อขายแทน Auto Order Matching (AOM) เมื่อซื้อขายตรงกันถูกต้องเกิดขึ้นทันที แต่ Auction เป็นรอบประมูลซื้อขายในเวลาที่กำหนดทำให้การซื้อ (Bid)ขาย (Offer) อาจจะไม่เกิดขึ้นในทันทีเพราะไม่ได้เป็น AOM

เบื้องต้นยังไม่ได้กำหนดจะวันละกี่รอบแต่จากตลาด LiVEx วันละ1 รอบ ซึ่งแนวทางนี้จะมา ลดราคาหุ้นที่มีความร้อนแรง แทนที่จะมาส่งคำสั่ง AOM เยอะๆ ตลอดเวลาหรือสร้างราคา Bid-Offer

 

มาตรการกำกับหุ้นไทย “ปิดโอกาส” หุ้นปั่น - สร้างราคา

อย่างมาตรการกำกับซื้อขายระดับ T1 T2 และ T3 ดำเนินการแล้วยังไม่มีผลต่อราคาหุ้น ซึ่งเคสที่เกิดขึ้น เพิ่มหยุดซื้อขาย 1 วัน (Pause) ราคาหุ้นกลับมาร้อนแรงต่อ  ต้องมีมาตรการบางอย่างมากระตุกนักลงทุนได้คิดแต่ไม่ได้ห้ามซื้อขายเพราะคนอยากซื้ออยากขายทำได้รูปแบบ Auction ใครจะสร้างราคาสร้างกระแสไม่ได้แล้ว เพราะคนที่ซื้อจะขายด้วยเวลาจำกัดต้อง “ตั้งใจทำรายการซื้อขายจริง” ไม่งั้นจะมีแต่รายย่อยทั่วไปแห่ลงทุนตามกระแส และกลายเป็นแมลงเม่า

“ยิ่งหุ้นฟรีโฟลว์น้อยยิ่งมีผลในการสร้างราคา หรือ Corner เพราะสามารถดึงราคาได้ง่ายจากวอลุ่มน้อยทำใช้การซื้อขายมีผลต่อราคา ซึ่ง Auction จะมาปิดช่องตรงนี้ได้ เพราะการสร้างราคาทำได้ยาก”

 

โดยจะยังมี Ceiling -Floor เหมือนเดิมเพื่อให้เกิดรายการซื้อขายที่เหมาะสม มั่นใจได้ว่าเป็นผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนจริงๆ ไม่ได้ซื้อเพราะตามกระแส  ซึ่งวัตถุประสงค์ป้องกันรายย่อยที่แห่ตามกระแสกลัวตกรถ ดังนั้นการกำกับจะใช้ทั้งราคาลง และราคาขึ้น และต้องทำทั้งสอง 2 ขาทางเพราะขาขึ้นก็มีความเสี่ยงนักลงทุนไปติดดอย กลัวตกรถซื้อทุกราคาจึงอยากให้คิดว่าลงทุนแล้วเหมาะสมไหม

อีกมาตรการ “Circuit Breaker” รายหุ้นที่ปรับตัว ขึ้น/ลง 10% ของราคาซื้อขายล่าสุด (หรือ Dynamic price band) ฟังแล้วดูรุนแรง เดิมทำทั้งตลาดหุ้นกรณีมีประเด็นกระทบตลาดหุ้นรุนแรง กรณีการใช้กับหุ้นรายตัวที่มีความผิดปกติ มีความผันผวน เบื้องต้นเงื่อนไขยังอยู่ระหว่างการเฮียริ่งว่าใช้เบรกหุ้นรายตัว 10 นาที หรือ 20 นาที ไป 30 นาทีเลย

แต่หลักการจะเข้ามาเบรกหุ้นที่ผันผวนมีการซื้อขายผิดปกติระหว่างวัน หากราคาลงไป 10% ใช้ Circuit Breaker เปิดซื้อขายราคาร่วงอีก 10% ใช้ Circuit Breaker ต่อ จนลงมาที่ Floor เป็นการเบรกอารมณ์นักลงทุนว่ามีข้อมูลอะไรที่ทำให้ต้องกระหน่ำขายขนาดนั้น แม้จะขาขึ้นก็นำมาใช้ด้วยเหมือนกัน เพราะยิ่งขาขึ้นเร็ว และแรงไม่มีปัจจัยพื้นฐานเป็นความเสี่ยง ยิ่งสอบถามบริษัทแล้วก็ไม่มีพัฒนาการใดๆ นักลงทุนควรได้ติดตามข้อมูลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังมีการประกาศยกระดับมาตรการกำกับซื้อขาย ทั้งขายชอร์ต (Short selling) และ โปรแกรมเทรดดิ้ง (Program Trading) ไม่ได้ออกมารุนแรงแข็งกร้าวเหมือนบางประเทศที่ยกเลิกการชอร์ตเซลล์บางกองทุน ลงโทษโดยตรงปรับเป็นเม็ดเงินไปเลยเพราะต้องพิจารณาเป็นการส่งสัญญาณเชิงลบหรือไหม

“การชอร์ตเซลล์มีจุดเด่นสามารถเพิ่มสภาพคล่องได้ และเป็นจุดเด่นสำหรับตลาดหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติก็มองว่ามีสภาพคล่องซื้อขายง่ายเป็นเสน่ห์ตลาดหุ้นไทย หากทำแล้วกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนจนยกเลิกกลายเป็นความไม่ชัดเจนแต่นักลงทุนต้องการความชัดเจนว่าจะลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่ออีกไหม”

กรณีการตรวจสอบ Naked Short ในอดีตมีการลงโทษสมาชิกหรือโบรกเกอร์ แต่กฎหมายไทยแตกต่างจากประเทศอื่นอย่าง จีน หรือ เกาหลีใต้ ที่ลงโทษได้ถึงตัวผู้ลงทุนแต่ไทยให้ลงโทษโบรกเกอร์ ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อเห็นว่าเป็นลูกค้ารายใหญ่ก็เกรงใจกลัวลูกค้าหนีก็ไม่อยากทำอะไรลูกค้า เป็นที่มาเกณฑ์ใหม่ลงโทษโบรกเกอร์เพิ่มเป็น 3 เท่าจากของเดิมจากที่ปรึกษาเสนอแนะว่า “โทษปรับของไทยต่ำเกินไปทำให้คนทำความผิดไม่เกิดความเกรงกลัว โทษปรับน้อยก็คุ้มที่จะทำ ” รวมทั้งการเข้าไปกำหนดถึงประเด็น Custodian ที่มักจะมีประเด็นไม่รายงาน และเอาผิดอะไรไม่ได้

ดังนั้นหากเจอรายการที่เข้าข่าย Naked Short ด้วยการให้โบรกเกอร์รายงานมีหุ้นในมือก่อนสั่งขายให้เวลาขอข้อมูล 15 วันกับ Custodian มาพิสูจน์  ซึ่งไม่ว่าธุรกรรมจะมีการขายเช้ากลับไปซื้อบ่ายแต่ต้องแสดงให้ได้ว่ามีหุ้นก่อนขาย เป็นหน้าที่โบรกเกอร์ให้มั่นใจมีหุ้นในมือ

ส่วนที่เป็นนักลงทุน HFT ที่มีความรวดเร็วส่งรายการซื้อขาย ตลท. มีระบบตรวจสอบมาตรฐานตลาดหุ้นสากล แต่กลุ่ม HFT จะคุมเข้มให้มาขึ้นทะเบียนจะโฟกัสกลุ่มสมองกล และ Algorithm กลุ่มนี้ไม่ได้ เปรียบจากความรวดเร็วมาตั้งเครื่องใกล้กับทาง ตลท. แล้วส่งคำสั่งได้เร็ว แต่อยู่ที่ระบบประมวลผลได้เร็วตัดสินใจเร็วไปด้วยทำให้ส่งคำสั่งเร็วกว่าคนอื่น

“HFT มาขึ้นทะเบียนต้องการเห็นพฤติกรรมซื้อขาย และติดตามใกล้ชิด พร้อมมี minimum resting time พวกโปรแกรมส่งคำสั่งซื้อ และถอดออกไปหลายออเดอร์ภายในระยะเวลาเพียงวินาที สามารถใส่เข้าถอนออกได้เร็วเพราะใช้คอมพิวเตอร์ทำ ซึ่ง ตลท. ไม่ต้องการรายการแบบนี้ จึงทำให้ค้างไว้กี่วินาทีถึงถอนออกไปได้ ”

       การทำปรับเกณฑ์ต่างๆ มีหลายมาตรการ แม้จะมีมาตรการก่อนหน้านี้แล้วแต่การเพิ่มเช่น Circuit Breaker หรือ Auctionยังคง Ceiling -Floor ไว้เพื่อมีใช้ในหลายสถานการณ์เหมือนมียาหลายเม็ดไว้ใช้รักษาเพราะไม่รู้ว่าอนาคตเกิดสถานการณ์อะไรเกิดขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์