NCL แจงลงทุน "เมตะ" 64 ลบ.ไม่แพง ส่วนกรณีคู่ค้ายืมไป 50 ลบ. เชื่อคืนครบ มิ.ย. 67

NCL แจงลงทุน "เมตะ" 64 ลบ.ไม่แพง ส่วนกรณีคู่ค้ายืมไป 50 ลบ. เชื่อคืนครบ มิ.ย. 67

NCL แจงข้อกังขาโดย ตลท. กรณีการลงทุนใน "บ.เมตะ" 64 ลบ. เผยพิจารณารอบคอบจ่ายราคาต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม ส่วนเงินที่ให้คู่ค้ายืมคือ "บ.สยาม มือทอง" วงเงิน 50 ลบ.โดยไร้หลักประกัน มั่นใจจะได้รับชำระคืนจนครบ 30 มิ.ย. 2567 นี้

นายพงษ์เทพ วิชัยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NCL ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2566 ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสอบถามในกรณี การจ่ายเงินซื้อเงินลงทุนใน บริษัท เมตะ เฟรทแอนด์โลจิสติกส์ จำกัด (บจ. เมตะ) มูลค่า 64 ล้านบาท และเรื่องรายการเงินกู้ยืมระยะสั้นแก่บริษัทคู่ค้าของบริษัทย่อยและเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสำรวจพื้นที่รอเรียกคืนจากบริษัทย่อยซึ่งเป็นรายการที่มีความเกี่ยวข้องกันของคู่สัญญาและมีความซับซ้อนของเงื่อนไขของสัญญา โดยเปิดเผยว่า 
 

ในการพิจารณาเข้าลงทุน คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย และพิจารณาความเสี่ยงโดยรวม รวมถึงได้วิเคราะห์ธุรกิจ ความสามารถในการดำเนินงานและผลการดำเนินงานของ บริษัท เมตะ เฟรทแอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด สำหรับมาตรการในการติดตามคณะกรรมการบริษัท ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารติดตามผลการดำเนินงาน อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือน และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการบริษัททราบเป็นรายไตรมาส ในกรณีหากมีผลการดำเนินงานลดลงอย่างเป็นสาระสำคัญให้แจ้งคณะกรรมการบริษัททันที เพื่อประเมินสถานการณ์โดยรวมต่อไป

ส่วนความเห็นของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการประเมินมูลค่ายุติธรรม คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่า ตามที่ บจ.เมตะ มีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามข้อมูลที่คาดการณ์ไว้นั้น เนื่องจากผลประกอบการของธุรกิจโลจิสติกส์ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและจุลภาค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศในปี 2566 ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวอย่างเป็นสาระสำคัญ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งหากพิจารณาผลประกอบการของธุรกิจในกลุ่มโลจิสติกส์จะเห็นว่าผลประกอบการของทั้งกลุ่มจะลดลงซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ตามที่ผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกต ในประเด็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของมูลค่าเงินลงทุน เนื่องจากเห็นว่า บริษัท เมตะ เฟรทแอนด์โลจิสติกส์ จำกัด มีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ตามประมาณการนั้น

คณะกรรมการบริษัทได้ตระหนักถึงกระบวนการดำเนินการภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเกี่ยวกับปฏิบัติตามขั้นตอนในการซื้อธุรกิจ ซึ่งได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในการประเมินมูลค่าธุรกิจเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยผลราคาประเมินธุรกิจของที่ปรึกษาการเงินอิสระ ดังกล่าวเป็นจำนวนประมาณราคายุติธรรมที่เหมาะสมที่ระดับราคา 66 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ต่อรองราคาซื้อธุรกิจกับ LGCTL และได้ข้อสรุปราคาตกลงกันที่จำนวน 64 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ประเมิน จึงขอเรียนว่า ราคาที่ตกลงซื้อขายดังกล่าวเป็นราคาที่มีความเหมาะสม และมีความสมเหตุสมผล ภายใต้ข้อมูลสมมติฐานตามที่ที่ปรึกษาการเงินอิสระได้เสนอไว้

ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัท ยังคงมั่นใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัท เมตะ เฟรทแอนด์โลจิสติกส์ จำกัด ว่ามีความมั่นคงและสามารถมีผลการดำเนินงานตามที่ประมาณการไว้ได้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวและการปรับราคาคำขนส่งที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

และต่อข้อสอบถาม การให้กู้ยืมระยะสั้น แก่บริษัท คู่ค้าของกลุ่มบริษัท และเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสำรวจพื้นที่มูลค่า 59 ล้านบาท ที่มาของการให้เงินกู้ยืมเงินระยะสั้นแก่บริษัทคู่ค้าของกลุ่มบริษัทมูลค่า 50 ล้านบาท โดยไม่มีหลักประกันนั้น

ตามที่บริษัท โกลเด้น ซัพพลาย จำกัด (GDS) (บริษัทย่อย) เป็นคู่ค้าทางธุรกิจกับ บริษัท สยาม มือทอง จำกัด ได้ร่วมกันรับงานบริการก่อสร้างโรงเรือนและติดตั้งอุปกรณ์ในโรงเรือนอัจฉริยะตามโครงการนำร่องโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BIO-Circular-Green-Economy) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินทุนจากรัฐบาลให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมและพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนในการบริหารจัดการ สนับสนุนเสริมสร้างความรู้เศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งเสริมสร้างศักยภาพแก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนประกอบด้วย 4 โครงการหลัก คือ 1. เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะแบบในร่ม 2. โครงการเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงพลังงาน 3. โครงการเทคโนโลยีผลิตส่งเสริมทางด้านการเกษตรและอาหารครบวงจร ผลิตปุ๋ยอินทรีย์หรือวัสดุเพาะปลูกจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 4. โครงการเทคโนโลยีผลิตน้ำดื่มแบบครบวงจร ซึ่งมีมูลค่าโครงการรวม 600.30 ล้านบาท โดยรับงานในนามบริษัท สยาม มือทอง จำกัด (บริษัท สยาม มือทอง จำกัด เป็นคู่สัญญากับกองทุนหมู่บ้าน) ทั้งนี้ บริษัท สยาม มือทอง จำกัด เป็นผู้ควบคุมดูแลงานก่อสร้างโรงเรือนและติดตั้งอุปกรณ์ในโรงเรือน และจ้าง GDS ให้เป็นตัวกลางจัดหาผู้รับเหมาที่ทำหน้าที่ในการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ในโรงเรือนตามโครงการดังกล่าว (บริษัท สยาม มือทอง จำกัด เป็นคู่สัญญากับผู้รับเหมา โดย GDS ได้รับค่าจ้าง ในอัตราร้อยละ10 ของมูลค่าโครงการ

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูง ต้องใช้เงินทุนในการเริ่มดำเนินโครงการจำนวนมากบริษัท สยาม มือทอง จำกัด มีเงินทุนสำหรับการเริ่มดำเนินโครงการบางส่วน จึงขอความช่วยเหลือจาก GDS ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมกันรับงาน เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้โดยราบรื่น บริษัท GDS ได้ใช้กระแสเงินสดภายในกลุ่มบริษัทในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัท สยาม มือทอง จำกัด จำนวน 50 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี ระยะเวลาสัญญากู้ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2566 ถึง วันที่ 2 มีนาคม 2567

ในการพิจารณาอนุมัติรายการดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดอำนาจดำเนินการ เพื่อกำหนดขอบเขตการจัดการบริหารงานของบริษัทฯ ซึ่งกำหนดให้การให้เงินกู้ยืมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศจำนวนเงินไม่เกิน 100,000,000 บาท เป็นอำนาจการดำเนินการของคณะกรรมการบริหาร โดยคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาถึงเหตุผล ความเหมาะสม และประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ แม้ว่าในงวดปี 2565 บริษัทฯ มีผลประกอบการขาดทุน แต่บริษัทฯ ยังคงมีกระแสเงินสดภายในกลุ่มบริษัท อีกทั้งได้พิจารณาถึงผลกระทบการดำเนินงานภายในบริษัทแล้ว ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินและสภาพคล่องของบริษัทฯ แต่อย่างใด ซึ่งบริษัทได้พิจารณาผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง ของบริษัท สยาม มือทอง จำกัด เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่บริษัทฯ ใช้ประกอบการพิจารณา
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้จัดทำสัญญาซึ่งระบุเงื่อนไขการให้เงินกู้ยืมอย่างรัดกุม นอกจากนี้บริษัทฯ พิจารณาเพิ่มเติมเรื่องความชัดเจนของการได้มาซึ่งสิทธิในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งได้รับการอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับ บริษัท สยาม มือทอง จำกัด มีประสบการณ์ในการดำเนินงานในลักษณะเดียวกับ โครงการ BCG ดังกล่าวข้างต้น และเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความชัดเจน ทำให้บริษัทฯ เชื่อมั่นได้ว่าการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวจะได้รับเงินคืนแน่นอน

ทั้งนี้ปัจจุบัน บริษัท สยาม มือทอง จำกัด ได้ชำระเงินกู้แล้วเป็นจำนวนรวม 38.9 ล้านบาท คงเหลือ 11.1 ล้านบาท บริษัท สยาม มือทอง จำกัด ได้ขอขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ออกไป จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 จากเดิมสัญญาสิ้นสุดวันที่ วันที่ 2 มีนาคม 2567 เนื่องจากปัจจุบัน โครงการกองทุนหมู่บ้านอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จึงทำให้บริษัท สยาม มือทอง จำกัด ยังคงใช้เงินลงทุนหมุนเวียนและยังไม่ได้รับเงินจากโครงการซึ่งโครงการจะก่อสร้างเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2567 บริษัท สยามมือทอง จำกัด สามารถเบิกเงินค่าก่อสร้างโครงการ และจ่ายชำระคืนเงินกู้ส่วนที่เหลือได้ ฝ่ายบริหารได้พิจารณารายละเอียดของข้อเสนอและได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมบริษัท ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขสัญญากู้ยืมเงิน ระหว่างบริษัท โกลเด้น ซัพพลาย จำกัด กับบริษัท สยาม มือทอง จำกัด ฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2566 โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้ยืมเงิน โดยขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 และมอบอำนาจให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ/หรือ ผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินการแก้ไขและลงนามในสัญญาดังกล่าว

ด้าน ความเหมาะสมของการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสำรวจพื้นที่การปรับลดขนาดการสำรวจพื้นที่ และประโยชน์ที่บริษัทคาดว่าจะได้รับจากโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามที่กลุ่มบริษัทได้รับรายงานสำรวจพื้นที่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 กลุ่มบริษัทได้นำรายงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างไร บริษัทยังมียอดหนี้ที่ต้องชำระสำหรับค่าสำรวจพื้นที่เท่าไร และต้องชำระอย่างไรรวมถึงความสัมพันธ์ของบริษัทที่สำรวจพื้นที่โครงการกับ คู่ค้าที่กลุ่มบริษัทให้กู้ยืมเงิน และความเกี่ยวพันกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐนั้น ที่มาและรายละเอียดของโครงการเป็นดังนี้

-คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 64 ให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เป็นวาระแห่งชาติปี 2564-2569 และมีมติเห็นชอบโครงการนำร่องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG จำนวนประมาณ 3,000 หมู่บ้าน มูลค่าโครงการรวมประมาณ 3,578 ล้านบาท
-ต่อมาสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) มีนโยบายจัดทำโครงการนำร่องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมูบ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2544 และจดทะเบียนนิติบุคคลตาม พ.ร.ก. จัดตั้งกองทุนหมูบ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ดำเนินงานภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ บรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วน เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนในด้านการเรียนรู้ เสริมสร้างศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในหมู่บ้านชุมชน
- เนื่องจากบริษัทฯเห็นว่าบริษัทฯ น่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการโครงการดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทจึงอนุมัติให้ศึกษาโครงการนำร่องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG บริษัทฯ จึงทำสัญญาจ้างเหมาสำรวจพื้นที่กับ บจก. เกษตรรวมมิตร เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมโครงการของกองทุนหมู่บ้าน และจ่ายเงินมัดจำงานจ้างเหมาสำรวจพื้นที่กับ บจก. เกษตรรวมมิตร จำนวน 59 ล้านบาท (50% ของค่าจ้างทั้งหมด)ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ครม. อนุมัติงบประมาณ 1,037 ลบ. และปรับลดจำนวนหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการคงเหลือกองทุนหมู่บ้านทั้งหมด 789 หมู่บ้าน จำนวนหมู่บ้านที่ได้รับมาดำเนินงานโครงการ คงเหลือ418 หมู่บ้าน มูลค่าโครงการรวม 600 ล้านบาท GDS จึงเจรจากับ บจก. เกษตรรวมมิตรเพื่อลดจำนวนหมู่บ้านที่ต้องสำรวจและไม่มีการจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยปัจจุบันบริษัทไม่มียอดหนี้ในการสำรวจพื้นที่ นอกจากนี้ผลจากการปรับลดขนาดโครงการและมูลค่าโครงการลดลง บริษัทฯ ปรับเปลี่ยนแผนจากการดำเนินโครงการด้วยตนเองเป็นการทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางจัดหาผู้รับเหมาให้กับบริษัทที่ได้รับคัดเลือกจากกองทุนหมู่บ้าน
- บจก. เกษตรรวมมิตร เป็นบริษัทที่ GDS ทำสัญญาจ้างเหมาในการสำรวจพื้นที่ ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์ไม่มีความเกี่ยวข้องกันกับ บริษัท สยาม มือทอง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้าที่บริษัท GDS ให้เงินกู้ยืมเงิน