ร้อนแรง! ดาวโจนส์ทะยาน 253 จุด นลท.เปิดรับความเสี่ยง หลังปิดฉากสงคราม
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์(22 เม.ย.)ดีดตัวขึ้น 253 จุด ขณะที่นักลงทุนส่งแรงซื้อเข้าตลาด หลังคลายความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน พร้อมจับตารายงานผลประกอบการหลายบริษัทในสัปดาห์นี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 253.58 จุด หรือ 0.67% ปิดที่ 38,239.98 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 43.37 จุด หรือ 0.87% ปิดที่ 5,010.60 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 169.29 จุด หรือ 1.11% ปิดที่ 15,451.30 จุด
นักลงทุนแห่ขายสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่พากันเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น หลังเจ้าหน้าที่อิสราเอลระบุว่า การโจมตีของอิสราเอลต่ออิหร่านเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่าที่มีจุดประสงค์เพื่อทำลายล้างอิหร่าน ขณะที่เจ้าหน้าที่อิหร่านยืนยันว่า อิหร่านไม่มีแผนที่จะตอบโต้อิสราเอล
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งในสัปดาห์นี้ ได้แก่ เทสลา อิงค์, อินเทล คอร์ป, ไมโครซอฟท์ คอร์ป, แอปเปิ้ล อิงค์, อัลฟาเบท อิงค์ และเมตา แพลตฟอร์มส์ อิงค์
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.
กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 96.1% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนมิ.ย.และก.ค. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนก.ย.
ทั้งนี้ นักลงทุนเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ของเฟดเป็นเดือนก.ย. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนมิ.ย. หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ
ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.5% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. จากระดับ 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.8% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. จากระดับ 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ.