บล.เอเซีย พลัส มองหุ้นไทยไตรมาส 2 พ้นจุดต่ำสุด หวังยืนเหนือ 1,350 จุด
บล.เอเซีย พลัส มองตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 พ้นจุดต่ำสุด กำไร บจ.โตเด่น - หลายปัจจัยหนุน พยุงเศรษฐกิจไทย - มาตรการดึงเชื่อมั่นนักลงทุน หวังดัชนีฟื้นยืนเหนือ 1,350 จุด และยังขึ้นได้ต่อ มองดัชนีปลายปีนี้ 1,570 - 1,580 จุด แนะหุ้นทยอยฟื้นตามเศรษฐกิจ และหุ้นกำไรยังโตเด่น
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 มีโอกาสผ่านพ้นจุดต่ำสุด ซึ่งบริเวณดัชนี 1,350 จุด ถือเป็นระดับ PE ต่ำสุดในรอบ 10 ปี และเป็นแนวรับที่แข็งแกร่ง ขณะที่แนวต้าน 1,450 จุด
ขณะที่เศรษฐกิจไทยต่ำจนไม่น่ากลัว และเริ่มเห็นหลายปัจจัยช่วยพยุงเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายการคลังที่เข้มข้นผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ภายในช่วงเวลาเพียง 5-6 เดือน ด้วยมูลค่า 3.48 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 9.3% รวมถึงมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท, ฟรีค่าธรรมเนียม VISA สำหรับนักท่องเที่ยว และการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในระยะถัดไปน่าจะเป็นแรงส่งหุ้นไทยในระยะถัดไป
ต่อมาเป็นความคาดหวังการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น แม้ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ อาจจะคงไว้ 5.5% ยาวนานขึ้น หลังเงินเฟ้อสูงกว่าคาด แต่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงน่าจะเริ่มเห็นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะมีโอกาสปรับลดลงได้ 1 ครั้ง 0.25% ในช่วงเดือนมิ.ย.นี้มากที่สุดเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ในมุมมองที่สะท้อนให้เห็นถึงการสอดประสานทั้งนโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน จะสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนกลับมาได้ และหาก กนง.ลดดอกเบี้ย หุ้นไทยมักปรับขึ้น ในช่วง 1-2 เดือนถัดมา หรือช่วง 2 เดือน ปรับขึ้นเฉลี่ยถึง 9%
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของตลาดหุ้นไทย คอยหนุนปริมาณการซื้อขายจะค่อยๆ กลับมา หลังทางการเพิ่มชั่วโมงซื้อขายจาก 4 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน เป็น 5 ชั่วโมงต่อวัน และมีมาตรการในการกำกับดูแลตรวจสอบ Short Selling, Program Trading คาดเริ่มมีผลบังคับใช้ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ หนุนTurnover ของ SET มีโอกาสกลับมาสูงกว่า 70% ต่อปี
นายเทิดศักดิ์ กล่าวเพิ่มว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ตลาดหุ้นไทย จึงมีความน่าลงทุนมากขึ้น คือ 1.มุมกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 1 ปี 2567 ที่มีโอกาสเติบโตทั้งไตรมาสก่อนหน้า จากฐานกำไรงวดไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ต่ำกว่าปกติ พร้อมกับมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหนุน หลังค่าเงินบาทอ่อนค่าแรงกว่า 7%
ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 หุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่ามีสัดส่วน มาร์เก็ตแคปกว่า 40% รวมถึงราคาน้ำมันดิบโลกปรับขึ้นแรงเกิน 15% จากไตรมาสก่อนหน้า หนุนให้เกิด Stock Gain ในหุ้น Commodity ที่มีสัดส่วนหลักในตลาด
2.มุม Valuation SET จะเห็นแนวรับสำคัญทางพื้นฐานที่บริเวณ 1,350 จุดโดย SET ที่ระดับ 1,350 จุด มี PER67F ที่ 16.6 เท่า (-1SD ในรอบ 10 ปี) และเป็นระดับต่ำสุดรองจากช่วงวิกฤติโควิดปี 2563 ขณะที่ในเชิง PBV มีค่าที่ 1.31 เท่า (-2SD ในรอบ 10 ปี) อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่ส่วนต่างผลตอบแทนตราสารหนี้กับหุ้นกว้างมาก โดยมี MEYG ที่4.25% (สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต) หนุนให้เม็ดเงินมีโอกาสทยอยไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงในระยะถัดไป และหนุนดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 2567 ให้เป้าหมายไว้ที่ 1,570 - 1,580 จุด ซึ่งปัจจุบันดาวน์ไซด์จำกัดแล้ว
“น่าจะเริ่มเห็นฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหนกลับเข้ามาได้ในช่วง นี้และต่อเนื่องครึ่งหลังปีนี้เมื่อเริ่มเห็นกำไร บริษัทจดทะเบียนฟื้น และจีดีพีฟื้น รวมถึงค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่ามากเราคาดว่าทิศทางค่าเงินบาทปีนี้ไม่ควรอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ จากที่ผ่านมามีแรงขายออกไปมากแล้ว และดาวน์ไซด์หุ้นไทยจำกัด และโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงสงครามขยายวงกว้างคงไม่มีมากนัก แต่ยังต้องติดตามรวมถึงความเสี่ยงการเมืองในประเทศ“
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ณ ดัชนีหุ้นไทย บริเวณ 1,350 จุด ในไตรมาส 2 ปีนี้มี ระดับ Valution ที่น่าสนใจแนะนำหุ้นทยอยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ ( SCCC MTC BJC KBANK ) และหุ้นกำไรไตรมาส 2 ปีนี้ เด่น (PTTGC BGRIM)
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์