ลิเบอเรเตอร์ เปิดโลกใบใหม่ของการออมด้วย DCA
ลิเบอเรเตอร์ เผย DCA เป็นวิธีการออมเงิน และลงทุนในหุ้นที่ง่าย และเหมาะสมสำหรับนักลงทุนรายย่อย โดยจะเป็นการซื้อหุ้นเป็นจำนวนเงินที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ
จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์ หรือ น้าแดง Head of Research บล.ลิเบอเรเตอร์ ระบุว่า Dollar Cost Averaging หรือ DCA เป็นวิธีการออมเงิน และลงทุนในหุ้นที่ง่าย และเหมาะสมสำหรับนักลงทุนรายย่อย โดยจะเป็นการซื้อหุ้นเป็นจำนวนเงินที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ เช่นทุก 1 เดือน หรือทุก 1 สัปดาห์ โดยไม่สนใจว่าราคาหุ้นจะอยู่ในระดับใด
ตัวอย่าง นายเขียวลงทุนในหุ้น XYZ ด้วยวิธี DCA เป็นจำนวน 3,000 บาทต่อเดือน สมมติว่า นายเขียวซื้อหุ้นที่วันที่ 31 ของทุกเดือน สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับนายเขียว คือ
- เดือนมกราคม ราคาหุ้น 30 บาท นายเขียวจะได้ 3,000/30 = 100 หุ้น
- เดือนกุมภาพันธ์ ราคาหุ้น 20 บาท นายเขียวจะได้ 3,000/20 = 150 หุ้น
- เดือนมีนาคม ราคาหุ้น 40 บาท นายเขียวจะได้ 3,000/40 = 75 หุ้น
สรุปในช่วง 3 เดือนนายเขียวได้หุ้น XYZ รวม 325 หุ้น คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 9,000/325 = 27.69 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะเห็นว่าต่ำกว่าราคาสูงสุดที่ 40 บาท แต่ก็ไม่ได้ต่ำเท่ากับจุดต่ำสุดที่ 20 บาท ซึ่งจะเห็นว่า DCA เองก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ดังนี้
ข้อดีของ DCA
- ช่วยกระจายความเสี่ยงด้านราคาต้นทุนดีกว่าการลงทุนครั้งเดียว
- สร้างวินัยในการออม และลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
- ผลตอบแทนระยะยาวมีแนวโน้มสูงกว่าการลงทุนครั้งเดียวหากเลือกหุ้นได้ถูกต้อง
ข้อเสียของ DCA
-ผลตอบแทนอาจต่ำกว่าการลงทุนทั้งหมดทีเดียวในจังหวะที่ดี และหากตลาดปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ต้องมีวินัยลงทุนสม่ำเสมอ ซึ่งในบางจังหวะอาจไม่สอดคล้องกับชีวิตบ้าง
- ค่านายหน้าซื้อขายอาจจะสูงขึ้น เพราะมีจำนวนซื้อขายมากจำนวนครั้ง
ซึ่งถ้าถามน้าแดง น้าว่าข้อดีมันมากกว่าข้อเสียนะ โดยเฉพาะข้อเสียเรื่องค่านายหน้าซื้อขายเพราะตรงนี้ต้องบอกว่าไม่ใช่ปัญหาของชาว Liberator เลย เพราะทุกๆ วันที่ 21 เราได้กำหนดให้เป็นวันพิเศษสำหรับลูกค้าทุกคนที่สามารถซื้อขายได้โดยไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม ทั้งหุ้นไทยหุ้นอเมริกา และ TFEX หรือจำง่ายๆ ว่าเป็นวัน "เทรดหุ้นฟรี ไม่มีค่าคอมฯ" ซึ่งหากวันที่ 21 ไปชนกับวันหยุด ก็จะขยับเป็นวันทำการถัดๆ ไปแทน
อย่างไรก็ดี เพื่อนๆ จะถามเยอะอยู่ 2 ข้อคือ
1. ผมเหมาะทำ DCA ไหม?
จริงๆ น้าอยากบอกว่า DCA ทำได้ทุกคนครับ เพียงแต่มันจะยิ่งดีมากๆ หากการ DCA มันสอดคล้องกับกระแสเงินสดขาเข้าของเพื่อนๆ โดย DCA จะยิ่งเหมาะกับคนที่
+ มีรายได้ประจำจากเงินเดือนหรือรายได้จากธุรกิจส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ
+ อาจไม่มีเวลา หรือความรู้ในการวิเคราะห์จังหวะการลงทุนมากนัก พูดง่ายๆ ไม่เก่งเรื่อง Technical analysis
+ มีทัศนคติ และวินัยในการออมระยะยาวไม่กังวลเมื่อราคาหุ้นลดลง หรือเป็นคนใจเย็น กล้ามองขาดยาวๆ
2. เราจะเลือก DCA ในหุ้นอะไรดี เลือกไม่ถูกมีหลักคิดอย่างไร?
ถ้าตอบเร็วๆ ก็คือ เราไม่ควร DCA ในหุ้นทุกตัว แต่ควรเลือกลงทุนในหุ้น
+ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีการเติบโตที่น่าสนใจในระยะยาว
+ หุ้นของธุรกิจที่เข้าใจง่าย
+ มีการแข่งขันไม่รุนแรงมาก
+ มีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และสม่ำเสมอ
เพราะการทำ DCA เป็นการลงทุนระยะยาวการเลือกหุ้นที่ดีจะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จได้
น้าแดงอยากแนะนำ เพื่อนๆ มาลองใช้ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ "Dividend เย็นใจ" ที่เรานำเสนอในทุกๆ วันที่ 15 ของทุกเดือน เป็นไกด์ไลน์ได้นะครับ
บทสรุปสุดท้าย ก็คือ DCAไม่ใช่ยาวิเศษนะถ้ามันดี คงรวยทั้งโลกไปแล้ว! กระบวนการจัดการ,เลือกโบรกเกอร์, การเลือกหุ้นที่ถูกต้อง และการมีวินัย ล้วนมีผลต่อความสำเร็จทั้งสิ้น
โดยเฉพาะการเลือกหุ้น ซึ่งน้าแดงขออนุญาตยกยอดไปลงรายละเอียดในฉบับหน้านะครับ (DCA ขั้น advance ที่โค้ชไม่เคยสอน)
นอกจากกระบวนการข้างต้นจะถูกต้องแล้ว การเฝ้าติดตามปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่ทำ DCA เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้งก็ยังดี อย่าคิดว่า DCA เหมือนเอาเงิน
ใส่ตุ่มฝังดินแล้วทิ้งไว้นะ เพราะโลกธุรกิจทุกวันนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก กำไรมาดีๆ ผ่านไป 12 เดือนพังก็มีเยอะครับ "สูตรสำเร็จด้วยทางลัดไม่มี แต่น้ายังเชื่อว่าเราประสบความสำเร็จเพราะลงทุนลงแรงมากพอน่ะ..มี"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์