“การพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดทุนไทย”
อนาคตอันใกล้นี้ ก.ล.ต. จะเปิดให้มีโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและบริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุน
สำหรับท่านที่ได้ติดตามพัฒนาการของ “ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล” มาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ก็ได้ติดตามพัฒนาการและแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งสามารถกำกับดูแลได้อย่างเท่าทัน
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ก็มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุนโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุน รวมทั้งได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อส่งเสริม trust and confidence ของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และสนับสนุนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยให้มีคุณภาพ ตลาดมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทย
หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงและได้ประกาศใช้ไปแล้ว เช่น การห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการ deposit taking & lending ซึ่งเป็นบริการที่มีความเสี่ยงสูง และการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องขออนุญาตประกอบกิจการอื่นจาก ก.ล.ต. ก่อนในทุกกรณี และการปรับปรุงหลักเกณฑ์โฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้เกิดความคล่องตัวแก่ภาคธุรกิจมากขึ้น
อีกทั้งยังมีหลักเกณฑ์ด้านอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงเพิ่มเติมอีก เช่น ด้านเงินทุน ด้าน governance ของ ผู้ประกอบธุรกิจ ประกอบด้วยด้านโครงสร้างการบริหารกิจการ (board governance) และด้านความรู้และประสบการณ์ทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและการบริหารกิจการที่ดีของกรรมการผู้มีอำนาจและผู้จัดการ เพื่อให้ ผู้ประกอบธุรกิจมีกลไกควบคุมดูแลการบริหารกิจการอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความเสี่ยง รวมทั้งสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบัน ประเทศไทยเปิดให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ 6 ประเภท ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจฯ จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.
มาถึงตรงนี้ ผมขอเล่าถึงแนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต. จะคำนึงถึง 5 เรื่องหลัก ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ได้แก่ (1) การมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ (2) ความปลอดภัยของทรัพย์สินของลูกค้า (3) การรักษาความปลอดภัยจากการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (4) การมีระบบบัญชีที่เหมาะสม และ (5) การมีมาตรการการรู้จักลูกค้า การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และมาตรการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการฟอกเงิน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทยังมีหลักเกณฑ์เฉพาะเพื่อให้เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น กรณีศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต ยังกำหนดให้ต้องมี exchange rules ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (listing and delisting rules) และหลักเกณฑ์ในการซื้อขาย การชำระราคาและการส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล (trading, clearing and settlement rules) การกำหนดให้มีระบบการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการซื้อขาย เป็นต้น
ในอนาคตอันใกล้นี้ ก.ล.ต. จะเปิดให้มีโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Regulatory Sandbox) เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและบริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุน เปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถทดสอบการให้บริการกับลูกค้าจริงได้ โดยไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องได้รับอนุญาต แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ซึ่ง ก.ล.ต. จะประเมินและติดตามความเสี่ยงเพื่อประโยชน์การวางแนวทางการกำกับดูแลต่อไป
ขณะนี้โครงการ Sandbox อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น ผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th) ได้ถึงวันที่ 10 พ.ค. นี้ และคาดว่าอีกไม่นานจะประกาศเป็นหลักเกณฑ์เปิดรับผู้ร่วมโครงการได้ และทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการใช้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น แต่ต้องเตือนกันไว้สักนิดหนึ่งก่อนนะครับว่า การใช้บริการภายใต้โครงการ sandbox เป็นการทดสอบ ซึ่งไม่ได้ถูกกำกับดูแลดังเช่นบริการปกติ ดังนั้นผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาเงื่อนไขและข้อจำกัดก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการ
นอกจากการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว ก.ล.ต. ยังได้บังคับใช้กฎหมายกับ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต แต่ฝ่าฝืนกฎหมายไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และบุคคลที่มี การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งผู้ให้บริการที่ไม่ได้รับอนุญาตแต่เข้ามาชักชวนคนไทยให้ลงทุน (solicit) เช่น ตั้งตัวแทนในประเทศไทย ส่งเสริมการตลาดและโฆษณาเป็นภาษาไทย ได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเป็นสกุลเงินบาท ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และ/หรือออนไลน์
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ติดตามสังเกตการณ์อีเวนท์หรือการออกบูธแนะนำบริการด้านการลงทุนหรือชักชวนลงทุน รวมถึงประสานกับผู้จัดงานให้ช่วยตรวจสอบผู้ที่มาร่วมออกบูธ หากพบข้อสงสัยว่าเป็นผู้ประกอบการที่อาจเข้าข่ายการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตมาเชิญชวนให้ใช้บริการ หรือร่วมลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตามกฎหมาย ก.ล.ต. จะเข้าไปดำเนินการต่อไป
ส่วนการชักชวนลงทุนทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ ก.ล.ต. ติดตามและได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจของ ก.ล.ต. ไปแล้วหลายราย และมีอีกหลายรายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับ และหากเข้าข่ายการกระทำที่อาจผิดกฎหมายอื่น ก็จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมายอีกด้วย
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ออกข่าวแจ้งเตือนผู้ลงทุนให้ระมัดวังในการลงทุนอยู่เป็นระยะ ๆ และผู้ลงทุนสามารถสืบค้นรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจว่าได้รับใบอนุญาตหรือไม่ ได้ที่แอปพลิเคชัน “SEC Check First” และตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่ “investor alert” บนเว็บไซต์ ก.ล.ต.
อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ขอน้อมรับความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้องมาประมวล และพร้อมนำไปปรับปรุงเพื่อการพัฒนา “ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดทุนไทย” รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายต่อไป ขอให้มั่นใจว่า ก.ล.ต. ไม่ได้เพิกเฉย หรือละเลยการทำหน้าที่อย่าง แน่นอนครับ