FETCO จ่อชง'คลัง'เร็วที่สุด ฟื้น LTF -ปรับเงื่อนไข พร้อมหั่นดัชนีสิ้นปีนี้
FETCOเตรียมหารือ 'คลัง' เร็วที่สุด เดินหน้าฟื้น LTF -ปรับเงื่อนไข ชู 3 ความท้าทาย หนุนกระตุ้นตลาดหุ้นไทยคึกคัก พร้อมหั่นเป้าดัชนีฯ ปีนี้เหลือ 1,535 จุด หลังดอกเบี้ยลงช้ากว่าคาด ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ล่าสุด เม.ย.67 อยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
หลังจาก “พิชัย ชุณหวชิร”รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยอมรับว่าการนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)กลับมานั้น เป็นหนึ่งแผนที่ต้องการทำเพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นไทยให้กลับมาคึกคัก
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า เฟทโก้ เตรียมเข้าหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) โดยมีข้อเสนอทั้งการปรับเงื่อนไขระยะเวลาลงทุนของกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) สั้นลงใกล้เคียงกับกองทุน LTF หรือยกเลิกกองทุน SSF นำกองทุน LTF กลับมาใช้แทนหรือจะเปลี่ยนชื่อกองทุน ก็สามารถทำได้
รวมถึงมองโอกาสขอปรับเงื่อนไขระยะเวลาลงทุนกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) สั้นลงจาก 8 ปี และการขยายวงเงินลงทุนเพิมเดิม เพื่อดึงดูดผู้ลงทุนให้สนใจมากขึ้น พร้อมเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ สำหรับกองทุนลดหย่อนภาษี ตามที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ได้ทำการศึกษาและมาแนวคิดที่นำมาเสนอ เช่น กองทุนเพื่อการออมเงินสำหรับการศึกษาของบุตร เป็นต้น
พร้อมกันนี้ เฟทโก้ ยังมองว่า สิ่งที่ควรจะทำเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นไทยได้เร็วขึ้น และยังเป็นความท้าทายของผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนใหม่ มี 3 ประเด็นท้าทาย คือ
1.การขับเคลื่อนตลาดทุนไทยไปสู่อนาคต พัฒนาสินทรัพย์การลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำบริษัทสตาร์อัพเข้ามาจดทะเบียนในตลาดทุนไทย เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอินโดนีเซียและตลาดหุ้นสหรัฐที่มีกลุ่มหุ้น 7 นางฟ้า พร้อมกับการพัฒนาตลาดทุนไทยทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ และสินทรัพย์ดิจิทัล รองรับธุรกรรมในตลาดทุนแห่งอนาคต
2. การสร้างตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน ด้วยการจัดระเบียบและจัดการปัญหาในมุมมืดของตลาดทุนไทย ที่สร้างความเสียหายช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดกรณีหุ้นมอร์ หุ้นสตาร์ก หุ้นกู้เอกชนและหุ้นขนาดเล็ก ที่ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย
3.การยกระดับเพิ่มประสิทธภาพตลาดทุนไทย ด้วยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎเกณฑ์ให้ทันสมัยในหลายด้าน เพื่อช่วยลดต้นทุนและสร้างกำไรให้ทุกองค์ประกอบในตลาดทุน สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน
"ตอนนี้หลายคน มองว่า ตลาดหุ้นไทยไร้เสน่ห์ แต่แนวทางดังกล่าวจะช่วยเพิ่มเสน่ห์เป็นตลาดหุ้นไทยแห่งอนาคต สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะไทย ยังเป็นเป้าหมายการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้าของนักลงทุนต่างประเทศ ในคลื่นการลงทุนครั้งใหม่รอบนี้ ตลาดหุ้นจะได้รับประโยชน์มากที่สุด อยู่ที่ว่าตลาดทุนไทยจะฉวยโอกาสมาเป็นของเราได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ท้าทาย"
แนวโน้มภาพรวมตลาดหุ้นไทยปีนี้ นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า เฟทโก้ ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย สิ้นปี 2567 มาที่ 1,537 จุด จาดเดิม 1,590 จุด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยค้างสูงนานกว่าคาด ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และภาคการเงินโลกผันผวน และคาดสิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 1,447 จุด
อย่างไรก็ตาม เฟทโก้ มองว่า ในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ ตลาดหุ้นไทย มีโอกาสฟื้นตัว มีเซนทริเมนต์เชิงบวก จากแรงหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ภาคการท่องเที่ยวคึกคัก ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเติบโตได้ใกล้เคียง 3% ถือว่าเป็นการเติบโตมากกว่าปีก่อน เป็นระดับที่สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ พร้อมทั้งธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ เริ่มทยอยลดอัตราดอกเบี้ย ในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า
ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มองว่า ธปท. มีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงเงินเฟ้อ และทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้าจะโตได้มากน้อยแค่ไหน หลังจากปีนี้ภาพรวมหลายฝ่ายมองเศรษฐกิจโตประมาณ 2.7% จากเดิมที่คาด 3-4%
"ธนาคารกลางแต่ละแห่งมีทิศทางปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้เคียงกัน จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะฟื้นตัวรอบใหม่ แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับลดช้ากว่าจากเศรษฐกิจยังดีเงินเฟ้อปรับลงยาก ส่งผลให้เฟดมีความจำเป็นคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานขึ้นกว่าคาด"
นอกจากนี้มองว่า ทิศทางเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) มองว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนต่างๆ ดีขึ้น ซึ่งหุ้นไทยปรับลดลงมากแล้วจะเป็นตลาดที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับตลาดอื่่นๆ อย่าง แนสแด็ก ทองคำ คริปโทเคอร์เรนซี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้ว
ขณะที่ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ล่าสุด ในเดือนเม.ย.67 (สำรวจระหว่างวันที่ 19-30 เม.ย.67) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือน ก.ค.2567) อยู่ที่ระดับ 92.29 โ ดยยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) , หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION) ด้านปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อีกทั้งตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกายังอยู่ในระดับสูงซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในการคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป รวมถึงต้องจับตามองสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความไม่แน่นอน
ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ มาตรการภาครัฐในกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อประคองเศรษฐกิจ ความชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปี 67