’3 ดัชนีโลก‘ กอดคอทำนิวไฮใหม่ รับดาวโจนส์พุ่งทะลุ 40,000 จุด

’3 ดัชนีโลก‘ กอดคอทำนิวไฮใหม่ รับดาวโจนส์พุ่งทะลุ 40,000 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ทำนิวไฮพุ่งทะลุ 40,000 จุด เป็นครั้งแรก ดันตลาดหุ้นทั่วโลก พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นำโดย ดาวโจนส์ S&P500 และแนสแด็ก ขานรับดัชนี CPI สหรัฐสะท้อน ‘เงินเฟ้อ’ ต่ำกว่าคาด ชี้เศรษฐกิจสหรัฐ ‘แข็งแกร่ง’

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า "ดัชนีดาวโจนส์" พุ่งทะลุระดับ 40,000 จุด เป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ (16 พ.ค.67) ขณะเดียวกันดัชนีหุ้นโลกทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ท่ามกลางความคาดหวังเรื่อง “การลดดอกเบี้ย” ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ประกอบกับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน

ขณะเดียวกันดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ดัชนี S&P 500 และดัชนีแนสแด็กเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในการซื้อขายระหว่างวัน ก่อนปิดตลาดลดลงเล็กน้อย โดยดาวโจนส์ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในเดือนต.ค.2565 โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ฟื้นตัวได้ดี แม้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงก็ตาม

ขานรับดัชนี  CPI ต่ำคาด

ดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนี ปิดตลาดแตะระดับ "สูงสุดเป็นประวัติการณ์" ในวันพุธที่ผ่านมา หลังจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค CPI สหรัฐที่ใช้สะท้อน “เงินเฟ้อ” เดือนเม.ย. ถูกเปิดเผยในวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.3%  ถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เล็กน้อย ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.4% 

แม้ตัวเลขจะชี้ว่าเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคเริ่มชะลอตัวลง แต่แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ โดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขที่บ่งชี้ว่า จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐลดลง 10,000 คน เหลือ 222,000 คนในสัปดาห์ล่าสุด และราคาสินค้านำเข้าของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเดือนที่แล้ว

เศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งอาจทำให้เฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ตัวเลข CPI ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ อาจเป็นสัญญาณว่าเฟดอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หรืออาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้

หลังจากข้อมูลจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานเปิดเผย ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (U.S. Treasury yields) ก็ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 6 สัปดาห์ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังแข็งแกร่ง ประกอบกับเจ้าหน้าที่เฟดออกมากล่าวว่า พวกเขาต้องการเห็นความคืบหน้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อก่อนที่จะลดอัตราดอกเบี้ย

ประธานเฟดชี้ตัวเลขเศรษฐกิจยังไม่น่าพอใจ

นำโดย จอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางแห่งนครนิวยอร์ก กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดนี้ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้

ด้าน โทมัส บาร์คิน ประธานธนาคารกลางแห่งริชมอนด์เห็นด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่ธนาคารกลางต้องการ

และ โลเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางแห่งคลีฟแลนด์ ก็ได้ออกมาย้ำว่าการคงนโยบายการเงินของเฟดให้อยู่ในระดับปัจจุบัน จะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง กลับสู่เป้าหมายที่ 2% 

ตลาดเงินโลกรับอานิสงส์ดาวโจนส์

ขณะเดียวกันดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เทียบกับสกุลเงินหลักๆ อย่างเยน และยูโร ปรับตัวขึ้น 0.29% ไปอยู่ที่ 104.50 ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลง 0.16% อยู่ที่ระดับ 1.0865 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเทียบกับเยนญี่ปุ่น 0.34% อยู่ที่ระดับ 155.39 เยน

ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี (Benchmark 10-year yields) ล่าสุดอยู่ที่ 4.38% เพิ่มขึ้น 2.3 เบสิสพอยท์ หลังจากเคยลดลงไปแตะ 4.313% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา ปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ปรับตัวกลับมาอยู่เหนือ 4.331%

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์