‘กูรู’เปิดทางรอด‘ธุรกิจ บล.’ หลังเผชิญดัชนีต่ำสุดรอบ 15 ปี ฉุดกำไรทรุด แนะหา ‘รายได้’ ใหม่เสริม

‘กูรู’เปิดทางรอด‘ธุรกิจ บล.’ หลังเผชิญดัชนีต่ำสุดรอบ 15 ปี ฉุดกำไรทรุด แนะหา ‘รายได้’ ใหม่เสริม

‘กูรู’เปิดทางรอด‘ธุรกิจ บล.’ หลังเผชิญดัชนีต่ำสุดรอบ 15 ปี ฉุดกำไรทรุด แนะหา ‘รายได้’ ใหม่เสริม หวัง “พิชัย” ฟื้นกองทุน LTF หนุนฟันด์โฟลว์ไหลกลับหุ้นไทย ดันวอลุ่มเทรดคึกคัก

บรรยากาศลงทุนใน “ตลาดหุ้นไทย” ยังคงเผชิญมรสุมไม่จบสิ้น ! ทั้งปัจจัยกระทบภายในและนอก สะท้อนผ่านดัชนี SET INDEX อยู่ในทิศทาง “ร่วง” 3 ปีติดต่อกัน !! (2565-2567) หรือร่วงสู่ระดับ “ต่ำสุดในรอบ 15 ปี” ขณะที่ “มูลค่าซื้อขาย” (วอลุ่ม) ต่ำเตี้ยเรี่ยดินแค่ 20,000-40,000 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งภาพปัจจุบันตลาดหุ้นไทยยัง “Underperform” เทียบตลาดหุ้นต่างประเทศ สะท้อนผ่าน “เงินลงทุนต่างชาติ” (Fund Flow) นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ยังอยู่ในโซนไหลออกจากหุ้นไทยมากสุดในภูมิภาค และไหลออกมากสุดในปีที่ผ่านมา มูลค่ารวมกว่า -5,507.13 ล้านดอลลาร์...

ดังนั้น แน่นอนว่า “ปัจจัยลบ” ดังกล่าวกระทบต่อผลการดำเนินงานของ “ธุรกิจหลักทรัพย์ (บล.)” หรือ “โบรกเกอร์” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ !! สะท้อนผ่านในปี 2566 ที่ผ่านมา ผลดำเนินงาน “ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ” หรือมีอัตราการเติบโตแค่เพียง 3% เทียบกับในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา (หรือปี 2556) ผลดำเนินงานเติบโตระดับ 16.8% ในปีที่ผ่านมาภาพรวมธุรกิจบล. มีผล “ขาดทุนมากถึง 10 บริษัท” ดังนั้น เส้นทางของธุรกิจบล. จะ “รุ่ง” หรือ “ร่วง”

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FECTO) วิเคราะห์ให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า ธุรกิจบล. รายได้หลักมาจาก “ค่าธรรมเนียม” การซื้อขายหลักทรัพย์ และวาณิชธนกิจ (IB) ดังนั้น เมื่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังไม่สดใสทั้ง “ดัชนีหุ้น-วอลุ่ม” โดยเฉพาะวอลุ่มเทรดที่อยู่ต่ำระดับ 30,000 ล้านบาทต่อวัน ยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ถือเป็นปัจจัยฉุดรั้งภาพรวม “กำไรธุรกิจบล.” ดังนั้น ปีนี้ภาพรวมธุรกิจบล. คงยังเห็นภาพขาดทุนต่อ !

ดังนั้น ธุรกิจบล. หากไม่อยาก “ล้มหาย” จำเป็นต้องปรับตัวใหม่ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นแต่ปัจจุบัน บล.ก็มีการคุมค่าใช้จ่ายกันเต็มที่แล้ว ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญทำให้ “พลิกกำไร” คงต้องมาจาก “การเพิ่มรายได้ใหม่” และต้อง “กระจายโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม” ในส่วนอื่นๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น

ทั้ง “การพัฒนาบริการแนะนำการลงทุน” และ “ผลิตภัณฑ์การลงทุน” ที่มีคุณภาพรองรับตลาดในอนาคตยิ่งเฉพาะการลงทุนในตลาดต่างประเทศเพื่อเป็นการขยายกลุ่มนักลงทุนและทำให้นักลงทุนใส่เงินเพิ่มขึ้นรวมถึงการพัฒนาบริการเสนอขาย “กองทุนรวม” เพิ่มขึ้นเพราะปีที่ผ่านมาจะพบสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายกองทุนของธุรกิจบล.มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับรายได้ค่าธรรมเนียมหลัก

สอดรับการผลักดันนำ “การนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว” (LTF) กลับมาสร้าง “ความหวัง” และ “คึกคัก” ในตลาดหุ้นไทยครึ่งหลัง ตามแนวคิดของ “พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการเฟทโก้ในสัปดาห์นี้ ! คงต้องหารือและเตรียมความพร้อมเพื่อนำเสนอข้อมูลการผลักดันกองทุน LTF และคาดว่าในอีก 1-2 สัปดาห์อาจจะเข้าหารือกับทาง รมว.คลัง

“กองทุน LTF เป็นส่วนหนึ่งช่วยหนุนบรรยาการการลงทุนหุ้นไทยทั้งดัชนีและวอลุ่มได้ ครึ่งปีหลัง วอลุ่มปรับตัวดีขึ้น มองว่า มีโอกาสที่กำไรธุรกิบล. จะฟื้นกลับมา”

“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า บรรยากาศลงทุนในตลาดหุ้นไทยวอลุ่มเทรดยังอยู่ในระดับ “ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทต่อวัน” ถือว่าเป็น “แรงกดดัน” ให้นักลงทุนยังไม่กล้ากลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย แม้ว่าตอนนี้องค์ประกอบพื้นฐานตลาดหุ้นไทยพร้อมแล้ว ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ทิศทางดีขึ้น และ Valuation หุ้นไทยไม่แพงซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาครวมถึงมาตรการเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนมีความชัดเจนมากขึ้นพร้อมหนุนการปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นไทยก็ตาม

หากบรรยากาศลงทุนตลาดหุ้นไทยไม่เปลี่ยนแปลง คาดธุรกิจบล. โดยเฉพาะบล.รายเล็ก และมีโครงสร้างรายได้หลักมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น ยังมี “ความเสี่ยงขาดทุน” ไปไม่รอด และ “ถูกควบรวมกิจการจากรายใหญ่”

ดังนั้น มองการปรับตัวของธุรกิจบล. ในช่วงเวลานี้เป็นสิ่งที่สำคัญ และมีความจำเป็นต้องพยายาม “กระจายโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม” ที่มาจากบริการและการเสนอขายผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเกี่ยวข้องกับเรื่องกองทุน LTF ที่จะนำกลับมาอีกครั้ง น่าจะเป็นตัวช่วยได้

ย้อนกลับไปในช่วง 3 ปีก่อนยกเลิกกองทุน LTF มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นมูลค่าถึงระดับ 60,000-70,000ล้านบาทต่อปี และจากการที่ รมว.คลัง มองว่าหากนำกองทุน LTF กลับมารอบนี้จะเพิ่มมูลค่ามาร์เก็ตแคปของตลาดได้ถึง “1 ล้านล้านบาท” แน่นอนหากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยดีขึ้น รายได้ค่าธรรมเนีียมของธุรกิจบล. สัดส่วนใหญ่จากซื้อขายหุ้นและออก IPO คาดว่ายิ่งช่วยหนุนแนวโน้มทำกำไรของธุรกิจบล. ปรับขึ้นได้

“กรรณ์ หทัยศรัทธา” นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ซีจีเอส-อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ต้องยอมรับเป็นจุดที่หลายบริษัทหลักทรัพย์มีความ “ยากลำบาก” ซึ่งหากรมว.คลัง มีการนำกองทุน LTF นำเข้ามาคาดจะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นไทยได้ทันที เนื่องจาก Turn Over Ratio ปัจจุบันอยู่ที่ 60% จะเพิ่มเป็น 80% ตามค่าเฉลี่ยรอบวอลุ่มเทรดจะมีมากขึ้น รวมถึงมูลค่าการซื้อขายต่อวันจะมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

โดยตลาดประเมินว่า ถ้ากองทุน LTF เข้ามาทุก ๆ เงินใหม่ที่ใส่เข้ามา 10,000 ล้านบาท จะช่วย SET INDEX ได้ประมาณเกือบ 20 จุด นอกจากนี้ หากเข้าไปดูตัวเลขย้อนหลังช่วงปี 2556-2562 ในช่วง 7 ปีที่มีกองทุน LTF เทียบดูว่า Correlation มีความสัมพันธ์เคลื่อนไหวค่อนข้างสูง และจะส่งผลให้อุตสาหกรรมโบรกเกอร์กลับมาคึกคักได้อย่างแน่นอน ซึ่งคาดว่าน่ากองทุน LTF จะเกิดขึ้นมาใหม่ได้สูง ซึ่ง ณ ขณะนี้มีการหารือกันอยู่หลายฝ่าย

ทั้งนี้ มีกลยุทธโดยมีกองทุนส่วนบุคคล หุ้นต่างประเทศมากขึ้น และวาณิชธนกิจ โดยให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น ในส่วนของบทวิเคราะห์มีทั้งสถาบันและรายย่อยที่ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งต้องยอมรับอุตสาหกรรมโบรกเกอร์มีการแข่งขันกันค่อนข้างแรง 

“อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า จากปีที่ผ่านมากำไรของบริษัทหลักทรัพย์มีการปรับตัวลงไป เกิดจากมูลค่าการซื้อขายที่ลดลงมาเรื่อยๆ จากที่เคยอยู่ระดับ 70,000-80,000 ล้านบาทต่อวัน ปัจจุบันเหลือ 30,000-40,000 ล้านบาทต่อวัน รวมถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้ค่าคอมมิชชันลดลงเช่นกัน ! 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันโบรกสูงขึ้น บริษัทเองพยายามเน้นขายโปรดักต์ใหม่ ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์นักลงทุน เช่น การลงทุนในต่างประเทศ กองทุนรวม หรือตราสารพิเศษ เช่น DR รวมถึงลงทุนทางอ้อม เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุน รวมทั้งในครึ่งปีหลังเตรียมออกแอปพลิเคชันใหม่เพื่อรองรับกลุ่มนักลงทุน