"นกแอร์" พลิกมีกำไรปี 66 ที่ 47.6 ล้านบาท รายได้ค่าโดยสารโตเด่นหลังพ้นโควิด
บมจ. สายการบินนกแอร์ (NOK) พลิกมีกำไรปี 66 ที่ 47.6 ล้านบาท จากงวดปี 65 ที่ขาดทุน 2,616.67 ล้านบาท ชี้สถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายส่งผลดันจำนวนผู้โดยสารโตเป็น 4.5 ล้านคนในปีล่าสุด หนุนรายได้รวมแตะ 8,750.86 ล้านบาท สูงขึ้น 17.18% โดยเฉพาะในส่วนค่าโดยสารโตถึง 19.02%
ดร.วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลประกอบการ 12 เดือน สิ้นสุด 31 ธ.ค. 2566 มีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่เท่ากับ 47,65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดปี 65 ที่ขาดทุน 2,616.67 ล้านบาท
จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่คลี่คลายลงและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.4 ล้านคนในปี 2565เป็น 4.5 ล้านคนในปี 2566 ทำให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้หลักจากการขนส่งผู้โดยสารในอัตราเติบโตที่ก้าวหน้า ในขณะที่ค่าใช้จ่ายนั้นได้รับการควบคุมและบริหารอย่างเป็นระบบ ทำให้ต้นทุนค่าโดยสารและการให้บริการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทยังคงอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูฯ โดยที่ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ อย่างเคร่งครัดตลอดเวลาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างยั่งยืน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมการบินบริษัทได้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 8,750.86 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,283.21 ล้านบาท หรือ 17.18% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 1,217.66 ล้านบาท (19.02%) รายได้จากการบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 106.12 ล้านบาท (17.30%) ซึ่งปีนี้เป็นปีที่สายการบินฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
สำหรับรายละเอียดในปี 2566 มีรายได้จากค่าโดยสารจำนวน 7,618.04 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.02 จากปี 2565 เนื่องจากราคาตั๋วโดยสารถัวเฉลี่ยต่อที่นั่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และด้วยกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
ทำให้มีอัตราการเดินทางที่เพิ่มขึ้นโดยส่งผลให้อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80.24 เป็นร้อยละ 82.20หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.43 และจำนวนเที่ยวบินลดลงจาก 34,224 เที่ยวบิน เป็น 31,167 เที่ยวบิน หรือลดลงร้อยละ 8.93
นอกจากนั้นการใช้เครื่องบินต่อลำยังเพิ่มขึ้นจาก 7.00 ชั่วโมงปฏิบัติการต่อวัน เป็น 7.10 ชั่วโมงปฏิบัติการต่อวันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.43
รายได้จากการให้บริการในปี 2566 รายได้จากการให้บริการจำนวน 719.39 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.30 จากปีก่อนซึ่งเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนรายได้ค่าโดยสารตามจำนวนผู้โดยสาร โดยเฉพาะรายได้จากการโหลดสัมภาระ ,ค่าห้องรับรองพิเศษและ อาหาร, เครื่องดื่ม
ส่วนรายได้อื่นในปี 2566 รายได้อื่นจำนวน 413.43 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 7.94 จากปีก่อน เนื่องจากรายได้ที่เกิดจากการกลับรายการประมาณการหนี้ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน ลดลงจากปีที่ผ่านมา
และจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 8,703.20 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,381.14 ล้านบาท (13.70%) ส่งผลให้บริษัทฯมีขาดทุนลดลงจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ และ มีผลกำไรสุทธิในปี 2566
บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 3.14% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 5.65% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 82.20% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 80.24% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 4.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.70%
บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 จำนวน 47.66 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2565 ขาดทุนสุทธิ2,624.83 ล้านบาท หรือมีผลขาดทุนลดลง 2,672.49 ล้านบาท (-101.82%) โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 47.66 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.01 บาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 0.70 บาท