บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม ยันไม่ปิดกิจการ ตามข่าวลือ ก.ล.ต.กำชับทำตามสัญญาลูกค้า
บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม แจงลูกค้ายังไม่ปิดกิจการตามข่าวลือ พร้อมยืนยันว่ายังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาทบทวนแผนการยุติการให้บัญชีมาร์จิ้นเท่านั้น ฟาก ก.ล.ต. ติดตามสถานการณ์พร้อมกำชับให้ดำเนินการเป็นไปตามสัญญากับลูกค้าอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Z.com ชี้แจงผ่าน เพจ Facebook ของบริษัทฯ ว่าจากที่ปรากฎ ในข่าว ทั้งสี่อโชเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ เพื่อทำให้เข้าใจว่าบริษัทฯ จะปิดกิจการในประเทศไทย บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และทำให้เกิดความสับสน ซึ่งบริษัทไม่เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซดคอม (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ GMO InternetGroup ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่น สถานะทางการเงินของบริษัทแม่มีความมั่นคง
สูง
และนอกเหนือจากนั้น บริษัทแม่ได้ยืนยันมาแล้วว่า บริษัทแม่ไม่มีแผนที่จะยกเลิกกิจการในประเทศไทย และยังคงสนับสนุนให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อไป
ในส่วนของการยุติการให้บริการบัญชีมาร์จิ้นนั้น บริษัทฯ ขอยืนยันว่ายังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาทบทวนแผนการยุติเท่านั้น โดยบริษัทฯ ยังไม่มีการเรียกคืนหนี้ หรือกระทำการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งบริษัทฯ ได้รายงานและหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พร้อมรับข้อสังเกตมาพิจารณาประกอบการจัดทำแผนในการดำเนินการโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อลูกค้า และภาวะการณ์ซื้อขายในตลาดโดยรวม
และการปรับหุ้นทุกตัวในบัญชีมาร์จิ้นเป็นเกรด F ไปก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ไม่ทำให้มีการบังคับขายเกิดขึ้น และไม่ส่งผลต่อนักลงทุนทั้งสิ้น หากแต่การปรับหุ้นเป็นเกรด F หมายความว่า บริษัทฯ จะไม่ทำการปล่อยกู้เพิ่ม
หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนการดำเนินธุรกิจ ทางบริษัทฯ จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะ ผ่านช่องทางหลักของบริษัทฯ
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า สำหรับกรณี บล. จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นั้น ก.ล.ต. ได้ติดตามสถานการณ์และสื่อสารกับ บล. มาโดยตลอด รวมถึงได้กำชับให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปตามสัญญาที่มีกับลูกค้า ในลักษณะที่เหมาะสมและเป็นธรรม
อย่างไรก็ดีในปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทุกแห่งสามารถดำรงเงินกองทุนได้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยส่วนใหญ่ (ประมาณ 98% ของ บล.) สามารถดำรงเงินกองทุนได้มากกว่า 2 เท่าของเกณฑ์ขั้นต่ำ แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องสุทธิเพียงพอชำระหนี้สินทั้งหมดที่มีต่อลูกค้า (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ค. 67)
ก.ล.ต. ได้มีการกำกับดูแล โดยติดตามสถานะการดำรงเงินกองทุนของ บล. เป็นรายวัน และกำกับดูแลระบบงานของ บล. ในหลายด้าน โดยในส่วนของการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (margin loan) บล. ต้องมีการบริหารความเสี่ยง ตั้งแต่การคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ให้มาร์จิ้นได้ (marginable securities) กำหนดอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้น (initial margin) ที่เหมาะสม มีการติดตามระดับมาร์จิ้น (maintenance margin) หากต่ำลงถึงระดับที่กำหนด ต้องเรียกหลักประกันเพิ่ม (call margin) หากต่ำลงไปอีก บล. สามารถบังคับขายหลักประกันได้ (force sell)
ทั้งนี้ อัตรามาร์จิ้นที่ บล. กำหนด ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดด้วย นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังติดตามการกระจุกตัวของหุ้นที่ปล่อยมาร์จิ้น สัดส่วนการปล่อยมาร์จิ้นเทียบกับเงินกองทุนของบริษัท เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงของ บล. ตลอดจนผลกระทบต่อสภาพตลาด และระบบการซื้อขายโดยรวมด้วย
ในกรณีที่ลูกค้ามีอัตรามาร์จิ้นต่ำจนใกล้ หรือถึงระดับที่ต้องเรียกหลักประกันเพิ่ม บล. มักมีการเจรจากับลูกค้าเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันก่อนที่จะถึงระดับบังคับขายด้วย
ณ วันที่ 27 พ.ค.2567 บล. มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) เฉลี่ยต่อรายที่ 1,520 ล้านบาท และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) เฉลี่ยต่อรายที่ 282% (เกณฑ์ดำรง NCR ขั้นต่ำ 7%) และในขณะที่ margin loan ในปัจจุบัน มีหลักประกันที่ครอบคลุมมูลหนี้สูงถึง 3 เท่า
สำหรับ เกณฑ์ขั้นต่ำ กำหนดให้ บล. ดำรง NC > 25 ล้านบาท กรณีประกอบทั้งธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ > 15 ล้านบาท กรณีประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง และกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ดำรง NCR > 7% ของหนี้สินทั่วไปและทรัพย์สินที่ลูกค้าวางไว้เป็นประกันเพื่อซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า