8 หุ้นอสังหา ระดับหมื่นล้าน ระส่ำหนัก ราคาดิ่งจัด พาติดดอย ลบเฉียด 60%
8 หุ้นอสังหา ระดับหมื่นล้าน ระส่ำหนัก ราคาดิ่งจัด พาติดดอยลบเฉียด 60% หุ้น ORI ราคาลบมากสุด 56.69% ขณะที่มาร์เก็ตแคปลดลงตั้งแต่ต้นปีที่ 8,516 ล้านบาท หรือ -41.07%
หุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น Safe Zone ของนักลงทุนในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี แต่ทว่าในวันนี้หุ้นอสังหาริมทรัพย์กำลังเผชิญความท้าทายอย่างหนัก แม้ว่าทางภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการเติบโต เพื่อเป็นปัจจัยหนุนนำตลาด แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือน อีกทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัจจัยเศรษฐกิจโลก ไม่เท่านั้นหุ้นที่อยู่ในความสนในอย่าง ANAN หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้ปรับราคาลดแรง จากกรณีหุ้นกู้
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” จะพาไปเจาะ “หุ้นอสังหา” ระดับหมื่นล้าน ยังคงระส่ำหนัก ราคาดิ่งจัดลบเฉียด 60% เมื่อเทียบราคา ณ ปัจจุบัน 11 มิ.ย.2567 กับช่วง 1 ปี หรือ 52 สัปดาห์ ที่ราคาสูงที่สุด
1.บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ORI
- ราคาสูงสุดช่วง 52 สัปดาห์ที่ 11.50 บาท เทียบ ราคา ณ 11 มิ.ย.67 ที่ 4.98 บาท เปลี่ยนแปลง 6.52 บาท หรือ 56.69%
- ราคาตั้งแต่ต้นปีที่ -41.07%
- มาร์เก็ตแคป 12,221.53 ล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นปี 20,737.33 ล้านบาท ลดลง 8,515.8 ล้านบาท
2.บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) SC
- ราคาสูงสุดช่วง 52 สัปดาห์ที่ 4.70 บาท เทียบ ราคา ณ 11 มิ.ย.67 ที่ 2.94 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 1.76 บาท หรือ 37.44%
- ราคาตั้งแต่ต้นปีที่ -12.20%
- มาร์เก็ตแคป 12,318.37 ล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นปี 14,014.95 ล้านบาท ลดลง 1,696.58 ล้านบาท
3.บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) PSH
- ราคาสูงสุดช่วง 52 สัปดาห์ที่ 13.60 บาท เทียบ ราคา ณ 11 มิ.ย.67 ที่ 9.30 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 4.3 บาท หรือ 31.62%
- ราคาตั้งแต่ต้นปีที่ -22.31%
- มาร์เก็ตแคป 20,571.95 ล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นปี 26,480.91 ล้านบาท ลดลง 5,908.96 ล้านบาท
4.บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) AP
- ราคาสูงสุดช่วง 52 สัปดาห์ที่ 12.80 บาท เทียบ ราคา ณ 11 มิ.ย.67 ที่ 8.90 บาทเปลี่ยนแปลงลดลง 3.9 บาท หรือ 30.47%
- ราคาตั้งแต่ต้นปีที่ -21.68%
- มาร์เก็ตแคป 27,841.21 ล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นปี 35,548.66 ล้านบาท ลดลง 7,707.45 ล้านบาท
5.บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) LH
- ราคาสูงสุดช่วง 52 สัปดาห์ที่ 8.65 บาท เทียบ ราคา ณ 11 มิ.ย.67 ที่ 6.25 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 2.4 บาท หรือ -27.75%
- ราคาตั้งแต่ต้นปีที่ -23.31%
- มาร์เก็ตแคป 74,685.71 ล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นปี 97,390.16 ล้านบาท ลดลง 22,704.45 ล้านบาท
6.บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) SIRI
- ราคาสูงสุดช่วง 52 สัปดาห์ที่ 2.10 บาท เทียบ ราคา ณ 11 มิ.ย.67 ที่ 1.60 บาทเปลี่ยนแปลงลดลง 0.5 บาท หรือ 23.81%
- ราคาตั้งแต่ต้นปีที่ -10.17%
- มาร์เก็ตแคป 27,373.22 ล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นปี 29,180.72 ล้านบาท ลดลง 1,807.5 ล้านบาท
7.บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) QH
- ราคาสูงสุดช่วง 52 สัปดาห์ที่ 2.36 บาท เทียบ ราคา ณ 11 มิ.ย.67 ที่ 1.89 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 0.47 บาท หรือ 19.92%
- ราคาตั้งแต่ต้นปีที่ -14.29%
- มาร์เก็ตแคป 20,571.61 ล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นปี 24,000.21 ล้านบาท ลดลง 3,428.60 ล้านบาท
8.บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) SPALI
- ราคาสูงสุดช่วง 52 สัปดาห์ที่ 21.80 บาท เทียบ ราคา ณ 11 มิ.ย.67 ที่ 17.60 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 4.2 บาท หรือ -19.27%
- ราคาตั้งแต่ต้นปีที่ -3.23%
- มาร์เก็ตแคป 35,154.97 ล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นปี 36,326.80 ล้านบาท ลดลง 1,171.83 ล้านบาท
วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด FSS บริษัทในเครือ บล. ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพรวมหุ้นกลุ่มอสังหาฯ ค่อนข้างไม่ดี เนื่องจากเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนถึงต้นปีนี้ค่อนข้างไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดีมากนัก บวกกับธนาคารที่มีการเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีต ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกดดันให้กลุ่มอสังหาฯ Underperform
ทั้งนี้หากเทียบเป็นรายตัวจะเห็นว่า มีบางตัวที่มีราคาปรับตัวลงค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละบริษัท ว่า ตลาดที่จับนั้นเป็นกลุ่มใด มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงในไตรมาสที่ผ่านมา ตลาดที่เป็นแนวราบค่อนข้างเหนื่อยกว่าตลาดคอนโดมิเนียม เพราะฉะนั้นต้องไปดูว่า บริษัทใดเน้นไปทางแนวราบเยอะก็อาจจะโดนกดดันมากกว่าบริษัทอื่น ๆ ที่เน้นขายคอนโดมิเนียม
“หากย้อนกลับไปในช่วงโควิด โครงการแนวราบจะขายดีกว่าคอนโดมิเนียม แต่พอตั้งแต่กลับมาเปิดประเทศตั้งแต่ปีที่แล้ว โครงการที่เป็นคอนโดมิเนียมจะได้รับการตอบรับค่อนข้างดีกว่า”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูการไตรมาส 1 จะไม่ค่อยดี และจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ และจะไปเร่งตัวอีกทีตอนประมาณไตรมาส 4 เพื่อทำยอดให้ได้ตามเป้า โดยมีการอัดแคมเปญต่าง ๆ ในช่วงท้ายปี เพื่อปิดยอด เพราะฉะนั้นโมเมนตัมจะค่อยปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจด้วยว่า จะสามารถพลิกฟื้นกลับมาได้เร็วได้มากน้อยแค่ไหน โดยมองว่า จะเป็นในลักษณะค่อย ๆ ทยอยฟืิิ้นดีขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล และตามภาพเศรษฐกิจของไทยที่เห็นว่า ไตรมาส 1/67 สามารถกลับมาโตใน QoQ ได้ ขณะที่แบงก์ชาติมองว่าจะสามารถโตได้ QoQ ในทุก ๆ ไตรมาสของปีนี้
ทั้งนี้ หุ้น AP และ SIRI มีความน่าสนใจ หลังจากที่ิทิศทางผลการดำเนินงานที่ผ่านค่อนข้างแข็งแกร่ง
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาพรวมหุ้นกลุ่มอสังหา ได้รับความเข้มงวดของธนาคารที่มีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงผู้บริโภคยังไม่มีแนวโน้มที่จะมีการตัดสินใจซื้อในสินค้าคงทนที่มีข้อผูกมัดระยะยาวจากภาระหนี้ที่หนี้ภาคครัวเรือนค่อนข้างสูง ทำให้ไม่มีกำลังที่จะไปซื้อสินค้าชิ้นใหญ่
นอกจากนี้หุ้นอสังหาฯ ที่ราคาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการจ่ายเงินปันผลด้วย และหุ้นกลุ่มอสังหาฯ มีการจ่ายเงินปันผลสูงที่ 6-8% จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หุ้นกลุ่มอสังหา Underperform
ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมีการเปิดตัวโครงการมากขึ้น คาดว่าจะมีดีมานด์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ที่มีดีมานด์จากชาวไต้หวันเริ่มมาซื้อคอนโดมิเนียมในเมืองไทยมากขึ้น รวมถึงประเทศเมียนมาด้วย ซึ่งก่อนหน้านั้นจะเป็นชาวจีนที่เข้ามาซื้อ
“อย่าง AP จะเห็นว่ายอดขายตั้งแต่ต้นปีที่ทำได้ถีงปัจจุบันจะมาจากคอนโดมิเนียมเป็นส่วนใหญ่ที่เติบโตสูง”
โดยแนะนำนักลงทุน Selective หุ้นที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยเฉพาะหุ้น AP และ LH ที่ราคาปรับตัวลงมาค่อนข้างมากและยังมีอัพไซด์