เจาะลึก 8 ตลาดหุ้นภูมิภาค ครึ่งปี 67 ‘ไทย’ Fund Flow ไหลออกหนัก 2.8 พันล้านดอลลาร์

เจาะลึก 8 ตลาดหุ้นภูมิภาค ครึ่งปี 67 ‘ไทย’ Fund Flow ไหลออกหนัก 2.8 พันล้านดอลลาร์

เจาะลึก 8 ตลาดหุ้นภูมิภาค ครึ่งปี 67 ‘ไทย’ Fund Flow ไหลออกหนัก 2.8 พันล้านดอลลาร์ ด้านเงินไหลเข้ามากสุด ตลาดหุ้นญี่ปุ่น 2.79 หมื่นล้านดอลลาร์ อันดับ 2 เป็นเกาหลีใต้ 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์ อันดับ 3 ไต้หวัน 4.1 พันล้านดอลลาร์ รับอานิสงส์หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฟื้นตัวขึ้น

แม้ว่าสถานการณ์การเมืองจะลดความร้อนแรงลงไปบ้างแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงอึมครึม ยืดเยื้อต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนยังมีความกังวล เพราะหุ้นไทยโดนกดดันจากปัจจัยการเมือง ทำให้เกิดความไม่แน่นอน นักลงทุนกลุ่มหลักที่เป็นฝ่ายขายสุทธิยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งขายสุทธิต่อเนื่อง Fund Flow ยังไหลไม่หยุด ท่วม 1 แสนล้านบาท หรือราว 2.78 พันล้านดอลลาร์  นับว่ามากสุดเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาค ขณะที่โซนเอเชียเหนือ กลับมีเม็ดเงินไหลเข้ามากสุด หลังจากได้รับอานิสงส์จากธีมเทคโนโลยีสหรัฐที่เข้ามาช่วยหนุน

กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปัจจัยการเมืองอาจจะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิดกัน หากเทียบกับการเมืองในอดีตผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงคาดเดายาก แต่ปัจจุบันพรรคการเมืองที่มีเสียงเกิน 100 มีแค่ 2 พรรค โดยมองว่า พรรคใหญ่ ๆ อย่าง เพื่อไทย และภูมิใจไทย เป็นตัวแปรหลักในสมการ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดยาก แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ต้องมีพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นแม้ยังไม่แน่ใจว่า กรณีของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จะเป็นอย่างไร หากสมมุติมีการเกิดถอดถอน แต่พรรคเพื่อไทยยังเป็นแกนนำ นโยบายที่สัญญาไว้อย่าง ดิจิทัลวอเล็ตอาจจะดีเลย์ออกไป ดังนั้นที่ีคนกังวลปัจจัยการเมืองต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นความกังวลที่มองเกินไป 

สำหรับภาพรวมการลงทุนตั้งแต่ที่ผ่านมาเงินส่วนใหญ่จะไหลเข้าไปในประเทศที่ิอิงกับธีมการลงทุนหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐ ที่มีการฟื้นตัว โดยเกาะกระแสธีม AI ส่งผลให้ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน จะมีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้อิงการเติบโตของหุ้นใหญ่ฝั่งสหรัฐฯ เป็นการขายสุทธิตั้งแต่ต้นปี 2567 

โดยฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติของภูมิภาคเอเชีย ตั้งแต่ต้นปี 2567 จะเห็นว่า เกาหลีใต้ ซื้อตั้งแต่ต้นปีที่ 15,926 ล้านดอลลาร์ ส่วนไต้หวัน ซื้อตั้งแต่ต้นปี ที่ 3,995 ล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศที่ขายสุทธิมากสุด เป็นไทยยังอยู่เป็นลำดับต้น ๆ  ที่ 2,702 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อินเดีย เงินไหลออก 3,386 ล้านดอลลาร์ เวียดนาม 1,382 ล้านดอลลาร์ ฟิลิปปินส์ 481 ล้านดอลลาร์ และอินโดนีเซีย 405 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูลจาก Bloomberg) 

ทั้งนี้ มองภาพการลงทุนในหุ้นไทย ณ ปัจจุบันลงมาแถว 1300 จุด บวกลบ มองเป็นจุดซื้อที่ดีที่สุดใน 12-18 เดือนข้างหน้า ขณะที่นักลงทุนอาจจะมองภาพตลาดค่อนข้างแย่ในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเบิกจ่ายงบที่มีความล่าช้า ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับปี 2563 จะเห็นว่าในปี 2562 ประเทศไทยมีเลือกตั้ง และปี 2563 งบก็ออกมาล่าช้า เป็นการซ้ำรอยกัน เป็นปีหลังการเลือกตั้งที่งบประมาณออกมาล่าช้า แต่จะมาเร่งมาก ๆ ในช่วงปลายปี 

โดยในไตรมาส 4/67 ท่องเที่ยวจะดี และการเบิกจ่ายจะกลับมาปกติ การบริโภคหรือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเดือน ต.ค. หรือดิจิทอลวอเลต ก็จะตามมาจากกำลังซื้อในไตรมาสสุดท้าย นอกจากนี้ มองว่า อัพไซด์ของตลาดมาจากรายได้เกษตรกร ปีนี้เริ่มกลับมาเป็นบวก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรค่อนข้างจะดี มองไปอีก 1 ปีข้างหน้าการฟื้นตัวจะกลับมาอย่างเต็มที่ 

ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายสายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในครึ่งปีแรกต่างชาติขายหุ้นไทยออกไป 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 2.78 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นเงินไหลออกมากที่สุดในภูมิภาค รองลงมาเป็นเวียดนาม 1.4 พันล้านดอลลาร์ ฟิลิปปินส์ 480 ล้านดอลลาร์ อินโดนีเซีย ไหลออก 405 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นการไหลออกจากฝั่งเอเชียใต้  

ขณะที่เม็ดเงินส่วนใหญ่จะเอนเอียงไปทางเอเชียเหนือ เนื่องจากเป็นหุ้นอิงกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง โดยการคาดหวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเฟด โดยประเทศที่มีการซื้อสุทธิมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น 2.79 หมื่นล้านดอลลาร์ อันดับ 2 เป็นเกาหลีใต้ 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์ อันดับ 3 ไต้หวัน 4.1 พันล้านดอลลาร์ 

ทั้งนี้ กระแสสาเหตุที่ไทยมีเงินไหลออกมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีการกระจุกตัวไหลออกค่อนข้างมากประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลัก ๆ มาจากประเด็นการเมืองเป็นเซนติเมนที่กดดันทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงมาแรง 

แต่ถ้ากลับไปดู Valuation หุ้นไทยโดยกดลงมาค่อนข้างถูก P/E อยู่ที่ 14 เท่า Book Value อยู่ที่ 1.2 เท่า ขณะที่นักลงทุนกลัวปัจจัยการเมือง แต่กลับส่งผลให้หุ้นปันผลขยับเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.5% ส่วนกำไรยังมีแนวโน้มการเติบโตได้ดีตามจีดีพี 

โดยในระยะถัดไป ปัจจัยการเมืองถือว่ามีการตอบรับไปแล้ว และมีทิศทางบวกมากขึ้น หลังจากที่กรณีสว. มีมติเอกฉันท์ ไม่ขัดต่อขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นความกังวลต่องบประมาณปี 2568 ที่จะเลื่อนอาจจะดีขึ้น ส่งผลให้ความกังวลเริ่มหายไป ส่วนการบริหารประเทศมองว่า พรรคเพื่อไทยยังคงได้มีโอกาสที่จะดำเนินนโยบายต่าง ๆ แบบเดิมได้อยู่ ดังนั้น ตามสภาวะจึงมีความผ่อนคลายมากขึ้น 

“การที่ฝรั่งขายหนัก ๆ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีการชอตหนักมาก โดยชอตสุทธิเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 13.5% หากเทียบกับช่วงโควิด ฝรั่งมีการชอตหุ้นบ้านเรายังอยู่แค่ 6% เอง ซึ่งถือว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็น 2 เท่า แต่สิ่งที่จะช่วยในการชอตได้คงเป็นเกณฑ์ตลาดในส่วนของ Uptick ที่จะเริ่มมีในวันที่ 1 ก.ค.2567 จะทำให้การชอตยากขึ้น ซึ่งตลาดเคยใช้ในช่วงตอนโควิดแล้ว ก็ถือว่าได้ผลที่ดี ปริมาณการชอตปรับลดลงไปค่อนข้างมาก แต่วอลุ่มไม่ได้ลดตามสักเท่าไร ดังนั้นมองว่า ความรุนแรงในครึ่งปีหลังจะไม่รุนแรงเท่าครึ่งปีแรกที่เผชิญอยู่ขณะนี้” 

เจาะลึก 8 ตลาดหุ้นภูมิภาค ครึ่งปี 67 ‘ไทย’ Fund Flow ไหลออกหนัก 2.8 พันล้านดอลลาร์