PROEN เชื่อ Data Center ใหม่เต็มเร็วกว่าแผน เร่งลงทุนครบ 1.5 พันล้านในปี 68
บมจ. โปรเอ็น คอร์ป (PROEN) เปิด PROEN OTT DC ช่วง Q3/67 รองรับลูกค้าทั้งใน-ต่างประเทศโดยเฉพาะสาย AI ที่ต้องการกำลังไฟฟ้าสูงกว่าปกติ มั่นใจดาต้าเซนเตอร์แห่งใหม่บริการเต็มพื้นที่เร็วกว่าแผน เร่งลงทุน 1.5 พันล้าน ดันครบ 5 เฟสก่อนสิ้นปี 68 สร้างรายได้ประจำเพิ่ม 600 ล้านต่อปี
นายกิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ไตรมาส 3/2567 บริษัทเตรียมเปิดศูนย์ข้อมูล Internet Data Center ในชื่อ PROEN OTT DC ถนนพระราม 9 - ศรีนครินทร์ รองรับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
โดยแต่เดิมบริษัทมีบริการดาต้าเซนเตอร์พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ณ อาคารโทรคมนาคม บางรัก รองรับการใช้ไฟฟ้ารวม 1.2 เมกะวัตต์ ให้บริการเต็มจำนวน 700 ตู้แร็ค ใช้ไฟฟ้าหล่อเลี้ยง 3.5 กิโลวัตต์ต่อตู้แร็ค ทว่าปัจจุบันขนาดการใช้กำลังไฟฟ้ากำลังปรับเปลี่ยนสูงขึ้นซึ่งลูกค้ารายใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามาจะใช้กำลังไฟฟ้าหล่อเลี้ยง 7.5-16.0 กิโลวัตต์ต่อตู้แร็คทำให้ต้องขยายพื้นที่เพิ่ม
พื้นที่ดาต้าเซนเตอร์แห่งใหม่วางงบลงทุนรวม 1,500 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร รองรับการใช้ไฟฟ้ารวม 5 เมกะวัตต์ จึงสามารถรองรับกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI Server ได้ ซึ่งต้องไฟฟ้าหล่อเลี้ยง 12 กิโลวัตต์ต่อตู้แร็ค เท่ากับจำนวนรองรับ 300-400 ตู้แร็คก็จะเต็มกำลังรองรับ อีกทั้งลูกค้ามีแนวโน้มต้องการใช้กำลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้คาดหมายดาต้าเซนเตอร์แห่งใหม่จะให้บริการเต็มภายในปี 2568 เร็วกว่าประมาณการเดิมที่เคยคาดจะใช้เวลา 3-5 ปีจึงจะเต็ม
อีกทั้งประเมินผู้ประกอบการที่ให้บริการดาต้าเซนเตอร์อื่นๆ ในประเทศก็จะมีลูกค้ามากขึ้นทั้งอุตสาหกรรมสอดคล้องกับการเติบโตของ AI ที่ต้องการใช้กำลังไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพิ่มโอกาสทางธุรกิจในวงการไอซีทีขยายสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้นในหลายด้านเช่น การเกษตร การเงินการธนาคาร การแพทย์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะสะท้อนผลดีมาสู่การขยายงานในตลาดของบริษัทด้วย
ส่วนการที่ต่างชาติบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับโลก ได้แก่ Google, Microsoft, และ Amazon Web Services แสดงความสนใจมาลงทุนประเทศไทย หรือแม้กระทั่งบริษัทจีนเช่น Huawei มาทำบริการคลาวด์ในประเทศไทย ทำให้มีบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีมีโอกาสตามเข้ามาทำธุรกิจในไทยตามไปด้วย ส่งผลให้ความต้องการใช้ดาต้าเซนเตอร์มีมากขึ้นตามลำดับ
"ตอนนี้เราอยู่เฟสแรกลงทุนไป 1 พันล้านบาท รองรับได้ 1 เมกะวัตต์ แต่เมื่อเราได้เงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนผุ้ถือหุ้นเดิมก็จะเร่งทำเฟส 2 และ 3 รองรับให้ถึง 3 เมกะวัตต์ให้ได้ในช่วงต้นปี 2568 และจะให้เสร็จครบ 5 เฟสภายในสิ้นปีหน้าเพื่อรองรับให้ได้ 5 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสร้างรายได้ประจำเพิ่มอย่างน้อย 6 ร้อยล้านบาทต่อปีใน 2569" นายกิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม กล่าว
อนึ่ง เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567 ประชุมผู้ถือหุ้น มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจำนวน 519.47 ล้านหุ้น จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ราคาหุ้นละ 1 บาท อัตราส่วน 1 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุน พร้อมแจกวอร์แรนท์ (PROEN-W2) ฟรี อัตราส่วน 4 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 วอร์แรนท์ วันกําหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Record Date) เป็นวันที่ 19 มิ.ย. 2567 วันจองซื้อและชำระค่าหุ้น 8 ก.ค. 2567 ถึงวันที่ 12 ก.ค. 2567
นายกิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ยังกล่าวอีกว่า บริษัทมีเป้าหมายการเติบโตรายได้ปี 2567 ที่ 20% จากปี 2566 ที่มีรายได้ 767.57 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้แบ่งเป็นรายได้ประจำสม่ำเสมอ (Recurring Income) ประมาณ 30% รายได้ธุรกิจ ICT 30% โครงการภาครัฐ 30% อื่นๆ 10% และคาดว่าในปีเมื่อดาต้าเซนเตอร์แห่งใหม่ให้บริการเต็มพิกัด รายได้ในส่วนธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอจะเพิ่มเป็น 55-60% รายได้ธุรกิจ ICT 20% โครงการภาครัฐและรายได้อื่นๆ จะอยู่ที่ 20% โดยประมาณ