เร่งปลุกเชื่อมั่นตลาดทุน สกัด ‘วิกฤติ‘ ซ้ำรอย ‘ต้มยำกุ้ง’
"วิกฤติ" ในตลาดทุนไทย กำลังจะกลายเป็น “วิกฤติต้มยำกุ้ง” หากยังไม่ทำอะไร สะท้อนภาพตอนนั้น "จอร์จ โซรอส" (George Soros) ผู้ซึ่งเห็นช่องโหว่เข้ามา "โจมตีค่าเงินบาท" จนลามสู่วิกฤติ ดังนั้น "เน็กเก็ต ชอร์ต" ก็กำลังจะถูกผู้เห็นช่องโหว่ดังกล่าวเข้ามาทำลายแบบเดียวกัน
ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอุปสรรคใหญ่ หากไม่ทำอะไรจะ “วิกฤติ” จากตอนแรกที่ “ไม่วิกฤติ” แต่ตอนนี้กำลังจะกลายเป็น “วิกฤติ” สาเหตุหลักสำคัญคือ “ความเชื่อมั่น” สะท้อนภาพจากบรรยากาศการลงทุนใน “ตลาดหุ้นไทย” ที่ถูกปกคลุมไปด้วยความ “อึมครึม” และตอนนี้การขาดความเชื่อมั่นดังกล่าวกำลังลามมาสู่ “ภาคธุรกิจ” เนืี่องจากบริษัทหนึ่งจะเติบโตได้มาจากหลายปัจจัย 1.ต้องมีฐานทุนที่แข็งแรง 2. ต้องมีบริการและโปรดักต์ ก็จะส่งผลไปให้เกิดความเชื่อมั่นและเครดิตในภาคธุรกิจ
สาเหตุสำคัญที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ และถือเป็นความผิดปกติดัชนี SET Index ที่ปรับตัวลงหนักมากหากเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในปี 2567 ดัชนี SET เป็น “ขาลง” ชัดเจนเพิ่งสร้าง “จุดต่ำสุดใหม่” ในรอบเกือบ 4 ปี นับแต่ต้นปีถึงสิ้นวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ปรับลงแล้ว 8.42% พร้อมด้วยมูลค่าการขายสุทธินักลงทุนต่างประเทศสะสมถึง 100,287.48 ล้านบาท ส่วนปริมาณซื้อขายต่อวันต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทชัดเจน จากอดีตย้อนหลัง 5 ปีก่อนหน้านี้ที่อยู่ราว 65,000 ล้านบาท
ดังนั้น การปรับตัวลงของตลาดทุนไทยอาจจะ “ไม่ปกติ” แม้จะมีเหตุผลอ้างว่า ตลาดทุนสร้างเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายเพื่อเอื้อตลาดหุ้นมีดุลยภาพ แต่ในความเป็นจริงอุปกรณ์และเครื่องมือที่เชื่อว่าครบ จริงๆ อาจจะไม่ครบถ้วน และเมื่ออุปกรณ์ไม่ครบก็มี “ช่องว่าง หรือ ช่องโหว่” ซึ่งคนที่ “ใช้” ช่องโหว่นี้เป็นก็เข้ามาหาผลประโยชน์ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนโดยรวมมาเกิดความจำเป็น ซึ่งผลกระทบต่อมาก็ทำให้เกิดการ “ขาดความเชื่อมั่น”
สะท้อนภาพให้เห็นง่ายๆ "กิจการขนาดใหญ่" ทีี่มีพื้นฐานธุรกิจที่ดี หรือแม้กระทั่งที่อยู่ใน SET50 ในความเป็นจริงธุรกิจไม่ได้มีอะไรผิดปกติ แต่เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลงมาเยอะๆ ความไม่เชื่อมั่นก็สามารถสั่นคลอนให้พื้นฐานธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างมีนัยในสายตานักลงทุน , ลูกค้า หรือแม้แต่เครดิต
โดยมีธุรกรรมการขายหุ้นที่ไม่มีในมือ หรือ “เน็กเก็ต ชอร์ต” ตกเป็นตัวร้ายในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทำให้ความเชื่อมั่นที่หายไป
เน็กเก็ต ชอร์ตต่างจากชอร์ตเซลปกติคือ การไม่จำเป็นต้องมีหุ้นในมือก็สามารถส่งคำสั่งขายได้จึงเสมือนไม่มีต้นทุน และสาเหตุที่ธุรกรรมเกิดขึ้นผ่านหุ้นประเภท "เอ็นวีดีอาร์" เนื่องจากง่ายต่อการไม่ต้องแสดงตัวตน ซึ่งระเบียบและอำนาจหน่วยงานกำกับดูแลของไทยยังไม่เอื้อให้เข้าไปตรวจสอบรายชื่อผู้กระทำการได้
ดังนั้น ในกระบวนการเน็กเก็ต ชอร์ต ช่องโหว่อยู่ที่ผู้รับฝากทรัพย์สิน หรือ คัสโตเดียน อันเป็นหน่วยงานที่เก็บหุ้นของนักลงทุนสถาบัน และ Delivery versus Payment หรือ "ดีวีพี" คือ รูปแบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์กระทำในเวลาเดียวกัน โดยหลักการนักลงทุนสถาบันได้รับความไว้วางใจว่าน่าเชื่อถือจึงไม่ต้องตรวจสอบอยู่แล้ว
โดยนักลงทุนสถาบันต่างประเทศจะขายปริมาณมากเท่าไหร่ก็ได้แม้ว่าจะไม่มีหุ้นในมือ เพียงแต่ต้องซื้อคืนมาปิดสถานะสิ้นวัน หรือคัสโตเดียนที่เป็น Omnibus Account อาจใช้เทคนิคการโยกหุ้นในกลุ่มมาปิดสถานะไว้ชั่วคราวก่อนได้แล้วค่อยซื้อคืนในวันถัดไป
อย่างไรก็ตามในระดับสากลคัสโตเดียนที่ต้องสงสัยอาจถูกหน่วยงานกำกับดูแลเรียกขอข้อมูลตรวจสอบได้ว่ามีหุ้นให้ยืมจริงหรือไม่ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทยยังเข้าถึงการตรวจสอบตรงนี้ไม่ได้จึงเป็นคำถามว่า ควรระงับการชอร์ตเซลชั่วคราวจนกว่าระบบตรวจสอบจะทำได้ในเชิงลึกมากขึ้นหรือไม่
แม้จะมีเหตุผลอ้างว่า ตลาดทุนสร้างเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายเพื่อเอื้อตลาดหุ้นมีดุลยภาพ แต่พฤติกรรมชอร์ตเซลในตลาดหุ้นไทยผ่านเอ็นวีดีอาร์กลับให้ผลตรงข้าม อีกทั้งจริงๆ แล้วนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการชอร์ตเซลโดยสุจริตก็สามารถทำผ่านหุ้นสามัญปกติที่มิใช่ เอ็นวีดีอาร์ ก็ได้
และอีกเหตุผลที่อ้างว่า การที่ต่างชาติชอร์ตเซลผ่านเอ็นวีดีอาร์เพราะต้องการสิทธิประโยชน์เรื่องปันผลก็ไม่สมเหตุสมผลเพราะอย่างไรก็ต้องเร่งปิดสถานะการถือครองอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มว่า นักลงทุนไทยสามารถอำพรางตนแปรสภาพเป็นนักลงทุนต่างชาติได้ผ่านการจัดตั้งนิติบุคคลในต่างประเทศแล้วค่อยติดต่อบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์เพื่อใช้บริการ และถ้าไม่มีการชอร์ตเซลผ่าน เอ็นวีดีอาร์ ก็จะไม่กระทบกับนักลงทุนต่างชาติ การที่มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันหุ้นไทยที่ลดลงเป็นเท่าตัวจากอดีตแสดงถึงต่างชาติตัวจริงมีสัดส่วนในตลาดหุ้นไทยน้อยมากแล้ว
เครื่องมือที่กำลังถูกมองว่าเป็นอาวุธวิเศษของนักลงทุนผู้ไม่หวังดีคือ “โรบอตเทรด” (High Frequency Trading) อันสร้างความได้เปรียบจากความรวดเร็วในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และความถี่จึงควบคุมแนวโน้มราคาจิตวิทยาราคาหุ้นได้ง่าย ดังนั้น หุ้นที่โดน เน็กเก็ต ชอร์ต มักจะถูกคำสั่งขายจากโรบอตเทรด สังเกตจากปริมาณการซื้อขายจำนวนน้อยหลักร้อยหุ้นในภายช่วงเวลาระดับวินาที ซึ่งผู้ลงทุน ทั่วไปไม่มีทางป้อนข้อมูลได้ทัน
ดังนั้น เทียบเปรียบ "วิกฤติชอร์ตเซล" เหมือน “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ที่ตอนนั้น "จอร์จ โซรอส" (George Soros) หรือที่คนไทยมักรู้จักเขาในฐานะของ "พ่อมดการเงิน" ผู้ซึ่งเห็นช่องโหว่เข้ามา "โจมตีค่าเงินบาท" จนลามสู่วิกฤติต้มยำกุ้ง ดังนั้น "เน็กเก็ต ชอร์ต" ในตลาดทุนไทยก็กำลังจะถูกผู้เห็นช่องโหว่ดังกล่าวเข้ามาทำลายตลาดทุนไทย ด้วยการทำลายความเชื่อมั่นกิจการไปทีละแห่ง และหากปล่อยอาจจะขยายวงกว้างความเสียหายขึ้นเรื่อยๆ ต่อราคาหุ้นที่หายไปลดความมั่งคั่งนักลงทุนในประเทศ และการทำธุรกิจจริงซึ่งจะเสียความแข็งแรงด้านฐานะการเงินซึ่งอาจลามไปถึงการตกงานของคนงานในธุรกิจต่างๆ
อีกทั้งเป็นเรื่องปกติที่เจ้าของธุรกิจเจ้าของหุ้นตัวเองจะนำหุ้นบริษัทไปเป็นหลักประกันเพื่อเข้าถึงสินเชื่อ ถ้าทำในสัดส่วนที่พอเหมาะ แต่ถ้าหุ้นถูกปั่นในขาลงก็ไปกระตุ้นให้เกิดข่าวลือตามมาด้วย สถาบันการเงินจะเข้มงวดมากขึ้นกับการให้สินเชื่อ และลูกค้าสงสัยสถานะของบริษัท สุดท้ายธุรกิจจริงจะขาดสภาพคล่องตามไปด้วย หุ้นส่วนที่เป็นหลักประกันก็ต้องถูกเรียกเพิ่มเติมหรือถูกบังคับขาย
พร้อมกันนี้มองว่า รัฐบาลสามารถช่วยกระตุ้นบรรยากาศการลงทุนได้ถ้ามีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น หรือให้กองทุนภายใต้กำกับดูแลภาครัฐบาลเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่น
“บรรยากาศหดหู่ในตลาดทุนอาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยให้วิกฤติได้จริงไม่ต่างจากช่วงต้มยำกุ้ง ดังนั้น อาจถึงเวลาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องเข้ามาร่วมกันป้องกันและหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะลามไปสู่วิกฤติจริงๆ”