10 หุ้นเสี่ยงค้ำมาร์จินพุ่ง 50% 'GLORY - SCM - YGG ' สูงสุด
ปิด 10 รายชื่อ หุ้นนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันบัญชีมาร์จิน สุดอึ้ง ! หุ้นท็อป 3 สัดส่วนสูงปรี๊ด 60-50 % ของจำนวนหุ้นทั้งหมด GLORY W1 - SCM - YGG - GPI และ BABA80 บล.ฟิลลิป คาด Uptick ลดแรงขายชอร์ต และหุ้นหลายตัวเกิดการซื้อกลับลดแรงกดดันขาลงได้มีหุ้นน่าสนใจ HANA -TOP และ KTC
ปรากฏการณ์ราคาหุ้นเผชิญแรงขายชอร์ต (short selling) และยังถูกบังคับขาย (Force Sell) จากบัญชีมาร์จินในหลายหุ้นส่งผลต่อภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยโดยรวม จากความเสี่ยงที่อาจจะมีหุ้นดังกล่าวเกิดขึ้นได้อีกหากยังไม่มีแรงหนุนกลับมาดึงวอลุ่มในตลาดหุ้นไทย และชะลอการขายชอร์ต
ท่ามกลางการซื้อขายผ่านบัญชีมาร์จินที่ลดลงจากปี 2565 ที่ 184,312 ล้านบาท ต่อเดือน ปี 2566 ที่ 113,090 ล้านบาทต่อเดือน และเดือนเม.ย. 2567 ที่ 71,171 ล้านบาทต่อเดือน กลับเผชิญวอลุ่มซื้อขายหายไป และราคาหุ้นมีแรงขายทำให้เกิดสถานการณ์ราคาร่วงอย่างรุนแรง และต่อเนื่อง
กรณีล่าสุดหุ้น บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)หรือ NRF ที่เผชิญราคาดิ่งฟลอร์เป็นวันที่ 3 จากราคาหุ้น 4.30 บาท (17 มิ.ย.67)ร่วงมาอยู่ที่ 1.45 บาท (20 มิ.ย.67) หรือลดลง 66.27 % ด้านมาร์เก็ตแคปหายไป 51.63 % จาก 6,095.93 ล้านบาท มาอยู่ที่ 2,948.73 บาท หรือหายไป 3,147.20 ล้านบาท จากการเปิดเผยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการขายชอร์ต และ Force sell หลังผู้ถือหุ้นมีการนำหุ้นไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันบัญชีมาร์จินเดือนเม.ย. สูงถึง 38 %
จากการรวบรวมข้อมูล “กรุงเทพธุรกิจ” หุ้นมีการนำหลักทรัพย์ค้ำประกันบัญชีมาร์จินกับโบรกเกอร์สูงสุด 10 อันดับแรกเดือนเม.ย. และพ.ค. พบว่าเป็นหุ้นขนาดเล็กแต่กลับมีสัดส่วนวางมาร์จินสูงถึง 60-50 % ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่ชำระแล้ว(paid up )
โดยในเดือนเม.ย. หุ้น 3 อันดับแรก GLORY –W1 มีสัดส่วนสูงถึง 67.71% หรือ 91 ล้านหน่วย อันดับ 2 หุ้น SCM มีสัดส่วน 52.09% หรือ 314 ล้านหุ้น และ 3.GPI สัดส่วน 51.12% หรือ 306 ล้านหุ้น ขณะที่เดือนพ.ค. อันดับ 1.GLORY – W1 สัดส่วน 67.71% หรือ 91 ล้านหน่วย อันดับ 2.YGG สัดส่วน 54.23% หรือ 326 ล้านหุ้น และอันดับ 3.BABA80 สัดส่วน 53.79% หรือ 268 ล้านหุ้น
แหล่งข่าวโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า การ Force sell หลักการบริหารความเสี่ยงของโบรกเกอร์หลังลูกค้าไม่สามารถวางเงินหรือหลักทรัพย์มาเติมได้ทัน ซึ่งแต่หุ้นแต่ละตัวทางโบรกเกอร์จะคิดสัดส่วนวางหลักประกันเพิ่มเติมไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ประเมิน แต่ยอมรับว่าการขายชอร์ตก็มีส่วนกดดันราคาหุ้น ส่วนหุ้นไหนจะมีผู้ถือหุ้นนำหุ้นตัวเองมาวางค้ำประกันไม่ได้หมายความว่าจะทำการขายชอร์ตหุ้นตัวเองไปด้วย
นางสาวชุติกาญจน์ สันติเมธวิรุฬ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นเริ่มมีความกังวลในประเด็นการถูก Force Sell เพิ่มในหุ้นที่มีสัดส่วนถูกนำไปวางประกันในบัญชีมาร์จินสูง ซึ่งอาจมีแรงขายออกมาเพิ่มเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลง หุ้นดังกล่าวนำโดย SCM - GPI - SAAM - TFG - YGG และ SA
อย่างไรก็ตามวันที่ 1 ก.ค.67 ตลาดหลักทรัพย์บังคับใช้กฎ Uptick Rule แทนที่กฏ Zero-plus Tick ทำให้หุ้นที่มีการขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืนมีโอกาสถูกขายชอร์ตยากมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสที่จะเกิดการ Short covering ซึ่งจะเป็นการลดแรงกดดันต่อราคาหุ้น และหนุนการฟื้นตัวของราคา 3 อันดับแรกของหุ้นดังกล่าวได้แก่ HANA -TOP และ KTC โดยคิดเฉพาะหุ้นสามัญไม่รวม NVDR อิงข้อมูลซื้อขายวันที่ 19 มิ.ย.67
หากอิงกับเกณฑ์ที่ทาง ตลท.เตรียมทบทวนหลักทรัพย์ที่ขายชอร์ตได้ และจะมีการเปิดเผยเกณฑ์วันที่ 21 มิ.ย.67 โดยกำหนดกรณี Non-SET 100 เพิ่ม มาร์เก็ตแคปเป็น 7.5 พันล้านบาท จากเดิมที่ 5 พันล้านบาท และ Turnover Ratio เฉลี่ย 12 เดือน 2% ทางฝ่ายวิเคราะห์มองว่ามาตรการข้างต้นจะเป็นแรงหนุนที่เข้ามาช่วยจำกัดทางลงของหุ้นที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น เนื่องจากจะไม่สามารถขาย ชอร์ตได้ในระยะถัดไป และมีโอกาสเกิดการ Short covering เพื่อลด/ปิดสถานะเสี่ยงของนักลงทุน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์