ต่างชาติทิ้งหุ้น 10 ปี ’1 ล้านล้าน‘ ไทยรั้งท้ายอาเซียน ติดกับดัก การเมืองป่วน
“ตลาดหุ้นไทย” ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “นักลงทุนต่างชาติ” เทขายต่อเนื่องกว่า “1 ล้านล้าน” สัดส่วนการถือครองลดลง 10% เดิม 37% ล่าสุด 6 เดือนแรกปี 67 “ขายสุทธิ” กว่า “แสนล้าน”
ด้าน “บล.กสิกรไทย” เผย 5 สาเหตุผลทำหุ้นไทยดิ่งหนัก “จีดีพีโตต่ำ-กำไรต่อหุ้น และราคาทรุด-ภาคผลิตอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า” พร้อมยกประเด็นการเมืองฉุดไทย ล่าสุด “4 คดี” กดดัน เผย “กองทุนเฮดจ์ฟันด์ท็อปภูมิภาค” ส่งสัญญาณกรณีเลวร้ายสุด อาจกระทบงบปี 2568 ส่อล่าช้าเหมือนงบปี 2567 ชี้ 20 วัน “การเมืองป่วน” ต่างชาติผวาเทขายเกือบ 4 หมื่นล้าน ดัชนีหุ้นไทยต่ำสุดรอบ 4 ปี
บรรยากาศการลงทุน “ตลาดหุ้นไทย” วานนี้ (20 มิ.ย.67) ดัชนี SET INDEX ร่วงต่ำสุดของวันอยู่ที่ 10.13 จุด มาอยู่ที่ 1,293.69 จุด ก่อนเคลื่อนไหวมาปิดตลาดที่ 1,298.29 จุด ลดลง 5.53 จุด หรือ 0.42% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 37,897.06 ล้านบาท
โดยพบ “นักลงทุนต่างชาติ” ขายสุทธิ 1,959.89 ล้านบาท ถือเป็นการขายสุทธิต่อเนื่อง 20 วันทำการนับตั้งแต่อุณหภูมิทางการเมืองกลับมาร้อนแรง เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2567 หลังศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกฯ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน สะท้อนผ่านต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องกว่า 40,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติลดลงถึง 10% หรือคิดเป็นมูลค่าเงินไหลออกจากหุ้นไทยกว่า “1 ล้านล้านบาท” ทำให้สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติการถือครองหุ้นไทย ลดลงจาก 37% เหลือ 27% ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยกว่า “1 แสนล้านบาท”
สาเหตุ “หุ้นไทย” ย่ำอยู่ที่เดิม
นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่า มี 5 สาเหตุที่หุ้นไทยติดกับดักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนผ่านดัชนีหุ้นไทย “ยังไม่ไปไหน” คือ 1.การขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ยังติดกับดักอยู่ที่ 2-2.5% และคาดการณ์เศรษฐกิจไทยมักจะถูกปรับลดลดลงในเดือนธ.ค. น้อยกว่าที่คาดไว้เดิมในเดือนม.ค.ราว 1%
2. กำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ยังติดกับดักที่ระดับ 90-95 เท่า คิดเป็นความสามารถในการทำกำไรไม่เกิน 2.5 หมื่นล้านบาท ต่อไตรมาส หรือไม่เกิน 1 ล้านล้านบาทต่อปี
3. ราคาหุ้น (PE) ในตลาดหุ้นไทยยังติดกับดักที่ 13 เท่า ยังไม่เติบโตไม่ถึง 20 เท่า เหมือนตลาดหุ้นโลกอย่างประเทศพัฒนาแล้วได้
4.ภาคการเกษตรและภาคการผลิตติดกับดัก ขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยภาคการเกษตรฟื้นยาก จากราคาผลผลิตตกต่ำ โดยเฉพาะข้าว ขณะที่ภาคการผลิตคิดเป็น 30% ของจีดีพี พบว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างภาคการผลิตของไทย สัดส่วน 27% เป็นธุรกิจดั่งเดิมมีธุรกิจที่ใช้ AI และใช้เทคโนโลยี มีสัดส่วนเพียง 3% ถือว่าต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค อย่าง เอเชียเหนือ เช่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มีสัดส่วนภาคการผลิต 30% เท่ากัน แต่มีธุรกิจที่ใช้ AI และเทคโนโลยีสัดส่วนถึง 15% รวมถึงสิงคโปร์ และเอเชียใต้หลายประเทศแซงหน้าไปแล้ว
และ 5.ยังติดกับดักความเสี่ยงการเมืองในประเทศ ทำให้ “นักลงทุนต่างชาติ” มอง “หุ้นไทยไม่ฟื้น” และขายทำกำไรหุ้นไทยต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดดัชนีตลาดหุ้นไทย ยังปรับตัวลงต่อเนื่องหลุด 1,300 จุด และในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยกว่า 1 แสนล้านบาท
นายสรพล กล่าวต่อว่า จากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติ ที่เป็น “กองทุนเฮดจ์ฟันด์” ระดับท็อปของภูมิภาค พบว่า สาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังเทขายหุ้นไทย เนื่องจากมีความกังวลปัจจัยเสี่ยงการเมืองในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะหากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่องบประมาณปี 2568 จะล่าช้าออกไปเหมือนงบประมาณปี 2567 หรือไม่
ขณะเดียวกัน นักลงทุนในประเทศส่วนใหญ่ ไม่ได้มีความกังวลปัจจัยเสี่ยงการเมืองในประเทศ แต่กำลังอยู่ในภาวะใช้ความกลัวนำเหตุผล สะท้อนชัดเจนจากหุ้นหลายตัวราคาแตะฟลอร์เป็นหุ้นที่วางเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิน เมื่อราคาหุ้นตกลงไปมากจนแตะระดับต้องเรียกหลักประกัน Call และ Force sell ในที่สุด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในปี 2563 ช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่สถานการณ์ปัจจุบันปัจจัยเสี่ยงแตกต่างกัน
ชี้ 3 ปัจจัย หนุนแรงซื้อจากระดับ 1,280 จุด
ดังนั้น แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังมองว่า มีความหวัง และมีโอกาสฟื้นตัวจาก “3 ปัจจัยสำคัญ” ทำให้มีแรงซื้อหุ้นไทยกลับเข้ามา คือ
1. ช่วงต้นเดือนก.ค.การเมืองในประเทศมีความชัดเจน และนิ่งมากขึ้น
2.แนวโน้มเศรษฐกิจไทย และกำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก
3. ภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้นในการกลับมาของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ตามแนวคิด รมว.คลัง และการบังคับใช้มาตรการ uptick เริ่ม 1 ก.ค.67 นี้
ทั้งนี้ จาก 3 ปัจจัยดังกล่าว แม้ไม่ต้องมีแรงขาย แต่เชื่อว่าจะมีแรงซื้อกลับมา ส่วนจะซื้อกลับเข้ามามากน้อยแค่ไหนยังต้องติดตาม แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นให้น้ำหนักมีโอกาสขึ้นมากกว่าลง เมื่อเทียบกับระดับดัชนีเป้าหมายสิ้นปีนี้คาดไว้ที่ 1,280 จุด และคาดในอีก 12 เดือนข้างหน้า หรือกลางปี 2568 มีโอกาสปรับตัวขึ้นที่ระดับ 1,450 จุด หรือยังมีอัพไซด์ 10% จากโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีหน้ามีความหวังดีขึ้นมากกว่าปีนี้ เพราะ พ.ร.บ.งบประมาณสามารถเบิกจ่ายได้เต็มปี ทำให้มองว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าดาวน์ไซด์ 10% ดัชนีที่ระดับ 1,100 จุด
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนหุ้นไทย แน่นอนว่า ดัชนีที่ระดับ 1,280 จุด สะท้อนตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นช้ากว่า (underperform) ตลาดหุ้นโลก ราว 50% ซึ่งราคาหุ้น (PE) ยังถือว่าถูก และที่สำคัญเมื่อเทียบกับส่วนต่างผลตอบแทนจากปันผลของหุ้น กับผลตอบแทนดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล (Earning yield gap ) เริ่มกลับที่ระดับ 4% ทำให้การลงทุนหุ้นมีความน่าสนใจ
แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เรายังคงให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจต่างประเทศ เช่น เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นหรือเศรษฐกิจสหรัฐที่ไม่ได้แย่นัก เช่น ธุรกิจโรงกลั่น(TOP, SPRC) ธุรกิจส่งออกอาหารสัตว์ และยาง รวมถึงธุรกิจเดินเรือ เนื่องจากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ที่ดัชนีหุ้นไทยลงกว่า 100 จุด พบว่า หุ้นที่ธุรกิจมีสัดส่วนรายได้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในประเทศปรับตัวลงแรง ในขณะที่หุ้นที่สัดส่วนรายได้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในประเทศไม่ปรับลดลงแต่อย่างใด
20 วันทำการ “การเมือง” ปั่นป่วน ต่างชาติขายเกือบ 4 หมื่นล้าน.
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันการเมืองในประเทศแซงหน้าความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ และตลาดหุ้น นำไปสู่เม็ดเงินต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยทุกวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2567 ยอดสะสมมาเรื่อยๆ 4 คดี ได้แก่ 1.ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณา คดียุบพรรคก้าวไกล สั่งยืนพยานเพิ่ม 2.ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณา คดี 40 สว.ยื่นถอดถอนนายเศรษฐา สั่งยืนบัญชีพยานเพิ่ม 3.ศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ขาดคำร้องพ.ร.ป .ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 4.อัยการนัดนำตัว ทักษิณ ส่งฟ้องศาลคดี 112 โดยกระจุกให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพร้อมกันในวันที่ 18 มิ.ย.2567
ทั้งนี้ ตั้งแต่ 23 พ.ค. - 20 มิ.ย.2567 ปัจจัยการเมืองในประเทศกดดันดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงมา 6.2% จากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 31,471 ล้านบาท
เมื่อ 18 มิ.ย.2567 แรงกดดันเบาลง จากความคืบหน้าทางการเมืองมีพัฒนาการเชิงบวก 2 ประเด็น คือ 1.ศาลอาญาประทับรับฟ้อง คดีนายกทักษิณ ทำผิดมาตรา 112 แต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยยื่นหลักทรัพย์ 5 แสนบาท และ 2.ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ กระบวนการเลือก สว.67 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมเดินหน้าต่อ เลือก สว.26 มิ.ย.นี้ ซึ่งประเด็นทั้งสอง ลดระดับความกังวลในเรื่องการเบิกจ่ายงบปี 2568 ล่าช้า รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยังคืบหน้าตามแผน
แต่ยังมีอีก 2 ประเด็น คาดจะได้ข้อสรุป ช่วงเดือนก.ค.2567 คือ 1.คดี 40 สว.ยื่นถอดถอนนายก เศรษฐา ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาสอบคุณสมบัติ นายกฯ จะมีขึ้นอีกรอบในวันที่ 10 ก.ค. 2567 และคดียุบพรรค ก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาต่อในวันที่ 3 ก.ค.2567 และนัดให้คู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐานวันที่ 9 ก.ค.2567
แต่อย่างไรก็ตามความไม่ชัดเจนทางการเมืองยังคงหลงเหลือ มีส่วนกดดันตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังเทขายหุ้นไทยต่อเนื่อง มากที่สุดในภูมิภาค 19 วันทำการ ไหลออกสุทธิ 3.66 หมื่นล้านบาท
หากนับ 20 วันทำการ (21 พ.ค.-20 มิ.ย. 2567 ) ต่างชาติเทขายหุ้นไทย ติดต่อกันแล้ว 3.9 หมื่นล้านบาท จากประเด็นความไม่แน่นอน จากปัจจัยการเมืองในประเทศยืดเยื้อ รวมถึงกนง.ส่งสัญญาณชัดเจนไม่ลดดอกเบี้ย ความกังวลความเสี่ยงสภาพคล่อง ในตลาดหุ้นบางบริษัท กดดัน ดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวลงเร็วจนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี แต่มาพร้อมความคาดหวังเสถียรภาพของตลาดหุ้นไทย นำร่องโดยมาตรการ อัปติ๊ก (Uptick) เริ่ม 1 ก.ค.นี้
'นักลงทุน’ ขาดความเชื่อมั่นระดับสูง เหตุผวาการเมือง
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ ดัชนีฯ หุ้นไทยค่อนข้างผันผวน โดยสาเหตุหลักๆ มาจากสภาวะตลาดหุ้นไทย “ขาดความเชื่อมั่นระดับสูง” สะท้อนภาพทำให้ดัชนีหุ้นไทยลงลึก เนื่องจากนักลงทุนไม่อยากกลับเข้ามาลงทุน
ทั้งนี้ จากปัจจัยหลัก อาทิ มาตรการในตลาดทุนในการแก้ปัญหาชอร์ตเซล ส่วนมาตรการ Uptick Rule ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์ , นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง และปัจจัยที่เพิ่งเข้ามาส่งผลกระทบแค่เพียง 14 วันเท่านั้น ในประเด็นการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะ 2 คดี เป็นปัจจัยเสริมซึ่งมองเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงลบให้ตลาดหุ้นไทย โดยหากนับตั้งแต่มีประเด็นการเมืองพบว่า “นักลงทุนต่างชาติ” ขายหุ้นไทยทะลุ 30,000 ล้านบาทแล้ว และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันต่างชาติขายหุ้นไทยกว่า 1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดต้องรีบสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนกลับมา ด้วยมาตรการต่างๆ อย่าง “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” (LTF) กลับมาภาวะตลาดหุ้นก็น่าจะดีขึ้น ซึ่งก็หวังภาครัฐจะรีบดำเนินการ และควรคลอดออกมา 4-5 เดือนก่อนถึงช่วงสิ้นปี เพราะทุกฝ่ายจะได้เตรียมตัวได้ทัน และที่สำคัญกองทุน LTF เงื่อนไขต้องดึงดูดและตอบโจทย์นักลงทุน รวมทั้งรัฐต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นผลชัดเจน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์