เปิด “3ตัวละครสำคัญ” ของสารตั้งต้น “มหากาพย์การโกง” STARK
เปิด “3ตัวละครสำคัญ” ในคดี “มหากาพย์การโกง” ของ STARK ที่ทำให้ “ผู้คว่ำหวอด” ในแวดวงตลาดหุ้น “ผวา” กันถ้วนหน้า เพราะถือเป็นการโกงครั้งใหญ่ ! ในรอบกว่า 49 ปี ในตลาดหุ้นไทย สร้างความเสียหายระดับ “หมื่นล้าน”
นับตั้งแต่ “มหากาพย์” แห่งการโกงของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งมโหฬารใน “ตลาดหุ้นไทย” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นเป้าแรกที่ “ถูกโจมตี” อย่างหนักในความหละหลวม ผิดพลาดในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) และความหย่อนยานในมาตรการปกป้องประชาชนผู้ลงทุน
โดย “คดี STARK” ปลุกความสนใจของประชาชนและนักลงทุนทั้งประเทศ ซึ่งเฝ้าจับตาการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้บริหารที่ร่วมกันวางแผน “ปล้นตลาดหุ้น” และยังเป็นการปล้นกันแบบดื้อๆ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย หรือกฎแห่งกรรมใดๆ ในการสร้างความวอดวายกับประชาชนจำนวนหลายหมื่นราย และมูลค่าความเสียหายนับ “หมื่นล้านบาท”
ทั้งนี้ ก่อนจะกลายเป็นมหากาพย์ครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นไทย ก็ต้องมี “จุดเริ่มต้น” ของการโกงโดยเรื่องนี้ “สารตั้งต้น” ของ STARK คงหนีไม่พ้น “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ผู้ซึ่งเป็นคนอยู่เบื้องหลังและถือเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA และยังมี “ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ” อดีตประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) และยังเป็นเลขาคนสนิทของ “ชนินทร์”
จากการปิดดีล “บริษัท Phelps Dodge” บริษัทผู้ผลิตสายไฟฟ้า สัญชาติอเมริกัน ที่ตัดสินใจขายธุรกิจในไทยที่ประสบปัญหาโดยผู้ที่มารับซื้อต่อก็คือ “วนรัชต์” ด้วยมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท
โดยเบื้องลึกผู้ที่อยู่เบื้องหลังดีลดังกล่าวคือ “ชนินทร์” ผู้ที่มีประสบการณ์ในการเข้า “ซื้อกิจการ” (เทคโอเวอร์) และเป็นคนที่คอยช่วยเหลือ “วนรัชต์” ในการเดินเกมทางธุรกิจทั้งหมด !!
ทั้งนี้ จากธุรกิจของ Phelps Dodge ในไทย ประสบปัญหาขาดทุนหนัก แต่หลังจากที่ “วนรัชต์” เข้าไปซื้อกิจการได้เพียงไม่กี่ปี บริษัทก็เริ่ม “พลิกกำไร” และต่อมา “กลุ่มวนรัชต์” นำพาธุรกิจเข้าตลาดหุ้นด้วยการ Backdoor Listin ผ่านทาง บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM โดยการซื้อหุ้น “เพิ่มทุน” ในราคาหุ้นละ 60 สตางค์ และเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนประมาณ 94% ในปี 2561 และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น STARK !!
โดยมี “ชนินทร์” นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ STARK และมี “วนรัชต์” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่ “ศรัทธา” เริ่มเข้ามาทำงานและเกี่ยวข้องกับ STARK ตั้งแต่ปี 2559 ด้วยการเข้ามาเป็นกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทลูกของ STARK จากนั้นในปี 2562 ได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาเป็น กรรมการ, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน และ เลขานุการ STARK ผ่านการชักชวนของ “ชนินทร์”
หลังจากนั้น ปฏิบัติการเริ่มสร้างภาพโปรไฟล์ดีของ STARK ด้วยการ “พลิกฟื้น” ธุรกิจให้เติบโต มีผลประกอบการ “กำไร-รายได้” เติบโตต่อเนื่อง ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นจน “ดึงดูด” ความสนใจจากนักลงทุนทั้งนักลงทุนรายใหญ่-รายย่อย-สถาบัน (กองทุน) ทั้งในและต่างประเทศ ต่างพาเหรดเข้ามาถือหุ้นกัน “คึกคัก”
กระทั่งปลายปี 2565 STARK ได้เสนอขาย “หุ้นเพิ่มทุน” แก่สถาบันการเงินหลายแห่ง คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อบริษัท LEONI Kabel และ LEONIsche แต่ว่าหลังได้รับเงินเพิ่มทุนครบแล้ว ผู้บริหารของ STARK กลับยกเลิกดีล... และไม่คืนเงินดังกล่าวอีกด้วย โดยอ้างจะหาการลงทุนใหม่ๆ แทน เพราะดีล LEON ให้เหตุผลว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน LEONI จนอาจส่งผลกระทบกับสถานะทางการเงินของบริษัท
จนกระทั้งสัญญาณ “ฮันนีมูน” (honeymoon) ก็จบลงเมื่อสัญญาณ “ร้ายเริ่มต้นขึ้น !” อยู่ๆ ราคาหุ้นร่วงโดยนักลงทุนไม่รู้สาเหตุ ก่อนสารพัดข่าวร้ายจะเริ่มทะลักออกมาแบบไม่ให้นักลงทุนตั้งตัวและไม่คาดคิดว่าหุ้นที่สร้างภาพสวยหรูจะมีปัญหาอะไรซ่อนอยู่ภายในองค์กรมากมาย และเรื่องราวดังกล่าวเริ่มบานปลายมากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่งงบการเงินไม่ได้ !! คือ ชนวนก่อความสงสัย เหตุใดทำไมบริษัทที่มีกำไรเติบโตต่อเนื่อง มีกองทุนถือหุ้น ถึงส่งงบการเงินตามกำหนดไม่ได้ และขอเลื่อนมาเรื่อยๆ จนกระทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องขึ้นเครื่องหมาย “SP” พักการซื้อขายชั่วคราว ตามาด้วยกระแสข่าวไม่ดีเกี่ยวกับฐานะการเงินของบริษัทก็ถูกขุดคุ้ยออกมาไม่ขาดสาย จนกระทั้ง STARK รายงานงบการเงินประจำปี 2565 ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ จาก “กำไรสุทธิ” กลายเป็น “ขาดทุนสุทธิ”
เรื่องยังไม่จบลงเพียงแค่นั้นโดยในช่วงเวลาที่หุ้นถูกพักการซื้อขายเป็นเวลา 3 เดือน ก็มีรายงานว่า “ชนินทร์” นำทีมกรรมการบอร์ดรวม 7 คน ยื่นลาออกจาก “บอร์ด STARK” และหนึ่งในนั้นก็มี “ศรัทธา” ด้วย โดยมี “วนรัชต์” ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รับตำแหน่งเป็นรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทน พร้อมกับออกมายอมรับว่า บริษัทอาจมีการฉ้อโกงทางบัญชีเกิดขึ้นจริง !!
ต่อมา STARK แจ้งว่าได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (DSI) เพื่อติดตามทรัพย์สินของบริษัทคืน รวมถึงบริษัทได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) ซึ่งนั่นก็แปลว่า บริษัทยอมรับแล้วว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นที่มีความเสียหายจำนวนมากเกิดขึ้นกับบริษัท...
โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษออกหมายเรียกผู้ต้องหาคดี STARK ได้แก่ “ชนินทร์” และ “ศรัทธา” ให้มารับทราบข้อกล่าวหา นัดหมายวันที่ 6-7 ก.ค. 2566 ที่กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากพบพยานหลักฐานมีพฤติการณ์ตกแต่งบัญชี และได้รับผลประโยชน์
และต่อมา ก.ล.ต. ส่งเรื่องให้ DSI กล่าวโทษ กลุ่มอดีตผู้บริหาร STARK รวม 11 ราย ซึ่งรวมถึง “ชนินทร์” กรณีตกแต่งงบการเงินของ STARK ในช่วงปี 2564-2565 เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง อีกทั้งได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
ภายในวันเดียวกันนี้ DSI ออกหมายจับ “ชนินทร์” หลังพบการข่าวรายงานหลบหนีออกนอกประเทศ พร้อมกันนี้ฟาก ก.ล.ต. ก็มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิด และห้ามมิให้ออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวมีกำหนด 15 วัน
ก่อนที่ DSI เปิดเผยความคืบหน้าคดีโดยพนักงานสอบสวนได้สอบสวนเส้นทางการเงินและอายัดบัญชีในบริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิส ของนายชนินทร์ เย็นสุดใจซึ่งมีวงเงินเหลือเท่ากับ 220 ล้านบาท เป็นการอายัดเพิ่มเติมจากเคยอายัดที่ดิน 2 แปลง และบ้าน 1 หลังแล้ว
และเมื่อ พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีทุจริตใน STARK ซึ่งมี “ศรัทธา”
ทั้งนี้ ภายหลังประทับรับฟ้องแล้ว “ศรัทธา” (จำเลยที่ 1) ได้ยื่นคำร้องหลักทรัพย์เป็นเงินสด 10 ล้านบาท ขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้ว คดีนี้ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการแห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง มีลักษณะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยกคำร้อง
ขณะที่ต่อมา “วนรัชต์” ถูกควบคุมตัวโดยอัยการส่งฟ้องศาล และศาลไม่ให้ประกันตัว แม้เจ้าตัวให้การปฏิเสธ จากนั้นถูกส่งต่อเข้า เรือนจำทันที โดยศาลพิจารณาแล้ว ลักษณะการกระทำ ความผิดสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม มูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก
และล่าสุดวันนี้ ! ผู้ต้องการคนสำคัญ “ชนินทร์” ได้ถูกคุมตัวจากดูไปมาถึงประเทศไทย เพื่อดำเนินคดี หลังหลบหนีเกือบ 1 ปี โดยคาดว่าพรุ่งนี้ดีเอสไอจะส่งฟ้องศาลต่อไป ดังนั้น คงต้องติดตามบทสรุปของมหากาพย์ STARK ว่าจะจบเช่นใด !!