“3 แนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย พร้อมรับสังคมดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว”
แนวทางพัฒนาตลาดทุน ซึ่งเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ของตลาดทุนไทย เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญสอดคล้องกับสังคมดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว ที่เชื่อว่า จะสร้างความมั่นใจให้กับทิศทางของตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจาก “มาตรการชุดใหญ่” ทั้ง ส่งเสริมการออมการลงทุน และ ยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน แล้ว ในการแถลงข่าว “ความท้าทายสู่โอกาส : การขับเคลื่อนตลาดทุน” โดยกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ผมขอนำมาขยายความให้ฟังกันอีกสักหน่อย คือ “แนวทางพัฒนาตลาดทุน” ซึ่งเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ของตลาดทุนไทย เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญสอดคล้องกับสังคมดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว ที่เชื่อว่า จะสร้างความมั่นใจให้กับทิศทางของตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยแนวทางพัฒนาตลาดทุนที่เรามองไปข้างหน้า มีอยู่ 3 แนวทางหลัก ๆ ครับ
แนวทางแรก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า DIF ซึ่งเป็นโครงการเพื่อยกระดับตลาดทุนดิจิทัลและรองรับการออกหลักทรัพย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (digital/tokenized securities)
โครงการ DIF เป็นความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อพัฒนาระบบ Digital Infrastructure ที่เชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูล และให้บริการผู้เกี่ยวข้อง รองรับกระบวนการดิจิทัลตลอดสาย ตั้งแต่การนำหลักทรัพย์ออกเสนอขายในตลาดแรก (primary market) ไปจนถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในตลาดรอง (secondary market) เช่น การซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ การชำระราคาและส่งมอบ ตลอดจนกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนหลักทรัพย์ โดยเริ่มจากระบบ web portal ในเฟส 1 สำหรับการยื่น filing ตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้เอกชนทั่วไปที่ไม่มีความซับซ้อน เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุน โดยระยะแรกเปิดให้กับกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน ภายใต้โครงการนำร่อง (sandbox) ของ ก.ล.ต. ไปตั้งแต่เดือน เม.ย. ปี 2566
ในเฟสต่อไปจะเป็นการพัฒนาระบบ web portal service ให้สามารถรองรับการออกเสนอขาย “หุ้นกู้เอกชนที่ไม่มีความซับซ้อน” ให้ครบถ้วนสำหรับกลุ่มผู้ลงทุนทุกประเภท และรองรับการออกเสนอขายหุ้นกู้เอกชนที่มีความซับซ้อน (complex bond) ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีแผนจะพัฒนาระบบ Digital Infrastructure ให้ครอบคลุมกิจกรรมใน ตลาดรอง เช่น การซื้อขาย tokenized securities ประเภทตราสารหนี้ และหน่วยลงทุน รวมถึงกระบวนการภายหลังการซื้อขายที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้ง เร่งผลักดันการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) เพื่อรองรับการออกหลักทรัพย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (digital/tokenized securities) เช่น หุ้นกู้ หุ้น และหน่วยลงทุน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส 1 ปี 2568
การพัฒนา Digital Infrastructure นี้จะทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้สะดวกและเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น เช่น สามารถซื้อขายตราสารหนี้ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่รับได้ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ
แนวทางที่สอง การส่งเสริมการระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยเล่าให้ฟังไปบ้างแล้วนะครับ เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Initial Coin Offering : ICO) เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ โดยที่มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสมเพียงพอ ทั้งโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real-estate backed token) และโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน (infra-backed token) โทเคนดิจิทัลกลุ่มความยั่งยืน (sustainability-themed token) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ (utility token พร้อมใช้) รวมถึงการขออนุญาต ICO แบบกลุ่ม (shelf filing) พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนระบบนิเวศของ investment token ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
แนวทางที่สาม การส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลและสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและสร้างความโปร่งใสเชื่อถือได้ อย่างที่ทราบกันนะครับว่า ภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญกับปัจจัยความยั่งยืน (sustainability) รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยประเทศไทยเองอยู่ระหว่างจัดทำกฎหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซดังกล่าวเป็นศูนย์ (Net Zero) เช่น การจัดให้มีระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Allowance) ระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ระบบภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นต้น
แต่ “ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย” ยังมีขนาดเล็ก เนื่องจากยังเป็นตลาดภาคสมัครใจและมีผู้เล่นและปริมาณการซื้อขาย ที่จำกัด รวมทั้งอาจยังขาดความโปรงใส่ในด้านราคา เนื่องจากการซื้อขายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในลักษณะ Over-the-counter ซึ่งเป็นการตกลงซื้อขายกันเอง ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเห็นโอกาสในการสร้างตลาดรองของคาร์บอนเครดิต โดยส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภาคสมัครใจผ่านการออกโทเคนดิจิทัล ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) และการกำหนดให้คาร์บอนเครดิตเป็นสินค้าอ้างอิง ภายใต้พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 (พ.ร.บ. สัญญาฯ)
ในเร็ว ๆ นี้ ภายในไตรมาส 3 ปี 2567 จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับดูแล “utility token พร้อมใช้” โดยยกเว้นการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของแพลตฟอร์มที่ให้บริการซื้อขาย tokenized carbon credit รวมถึง utility token แบบอุปโภคบริโภคประเภทอื่น ๆ นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจกำหนดประเภทของ utility token (เช่น tokenized carbon credit) ที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ประกอบด้วย ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้า) สามารถให้บริการได้
เรียกได้ว่า นอกจากการรับมือกับ “ความท้าทาย” ที่เข้ามากระทบทั้งในระยะสั้นและระยะกลางแล้ว ก.ล.ต. ยังคงเดินหน้าพัฒนาตลาดทุนและบูรณาการความร่วมมือจากผู้ร่วมตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดทุนไทยพร้อมรับทุกจังหวะของ “โอกาส” ในการขับเคลื่อนให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว