SGC ดิ้นดึง SINGER อุ้มเพิ่มทุนปลดล็อกหนี้-วัดใจสินเชื่อมือถือบูม

SGC ดิ้นดึง SINGER อุ้มเพิ่มทุนปลดล็อกหนี้-วัดใจสินเชื่อมือถือบูม

ปัญหาทางธุรกิจกลุ่ม เจ มาร์ท หรือ JMART เผชิญผลกระทบจากการเร่งขยายการเติบโต จนทำให้สะดุดมีผลต่อผลกำไร-ราคาหุ้นและมูลค่าบริษัทผ่านมาร์เก็ตแคป ถือว่าเรื่องใหญ่สำหรับธุรกิจ

ประเด็นมีการโฟกัส ไปที่ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ดำเนินธุรกิจสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC ดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อซึ่ง 78 % กลุ่มสินเชื่อทะเบียนรถ (รถกระบะและรถบรรทุก) 18 % สินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้า และ 4 % สินเชื่ออื่นๆ

     จาก SGC ทำรายได้และกำไรเผชิญขาดทุนไตรมาส 2 ไตรมาส 3 และ 4 ปี 2566 ทั้งปีขาดทุน 2,275 ล้านบาท และ SINGER รับรู้ขาดทุนไปด้วย 3,209 ล้านบาท มาจากการตั้งสำรองหลังรับรู้ขาดทุนด้านเครดิต 3,771 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 855 % จากปี 2565 ส่งผลทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) จาก 2.09 เท่า ที่ 3.31 เท่า และมีโอกาสขยับแตะ 4 เท่าในอนาคตหากยังไม่แก้ไขปัญหาฐานะการเงินจากฐานทุนที่ลดลง

    

   หลังจากประกาศเป้าหมายต้องการให้ SINGER และ SGC กลับมาเทิรน์อะราวด์ปี 2567 จากการตั้งสำรองลดลงและเพิ่มสินเชื่อด้านอื่น โดยเฉพาะสินเชื่อสมาร์ทโฟนที่คาดปี 2567 มีพอร์ตที่ 5,000-6,000 ล้านบาท ด้วยการออกแคมเปญ Locked Phone ที่ราคา 8,000 บาทต่อเครื่อง และคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 28 % (โทรศัพท์ไม่เข้าข่ายสินค้าควบคุม) ทำให้คาดว่าจะมียอดขายโทรศัพท์ 1 แสนเครื่อง

       เม็ดเงินการขยายสินเชื่อดังกล่าวและเป้าหมายเทิรน์อะราวด์ของ SGC ยังเผชิญแรงกดดันจาก D/E ที่สูงกลายเป็นต้นทุน ทำให้เกิดการเพิ่มทุนรอบใหญ่ผ่านผู้ถือหุ้น  ซึ่ง SGC   ได้ประกาศเพิ่มทุน 5,232 ล้านบาท   เป็น 8,502 ล้านบาท โดยการออกหุ้นเพิ่มทุน 5,232 ล้านหุ้น เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) 3,270 ล้านหุ้น ในอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน

      รองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ครั้งที่ 1 (SGC-W1) 654 ล้านหุ้น อายุ 1 ปี และรองรับ SGC-W2 1,308 ล้านหุ้น อายุ 3 ปี ซึ่งมีวัตถุประสงค์การเพิ่มทุนนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการและขยายธุรกิจในอนาคต และใช้ชำระหนี้ SINGER ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท

      นอกนี้ยังรับความช่วยเหลือทางการเงินด้วยการทำสัญญาเงินกู้กับ SINGER วงเงินไม่เกิน 6,100 ล้านบาท ระยะเวลา 4 ปี เพื่อเป็นวงเงินสำรองเบิกใช้เพื่อชำระหนี้เดิมที่มีอยู่กับ SINGER ในกรณีที่บริษัทมีความจำเป็นต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

     

           “ตฤณ สิทธิสวัสดิ์ “ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินความจำเป็นเพิ่มทุน SGC สูงมากจากปัญหาหนี้ที่ D/E ขยับ 3.5-4 เท่า ทำให้มีปัญหาในการกู้ยื่มกับสถาบันการเงินตรึงตัว เมื่อศักยภาพการหาแหล่งเงินทุนมีปัญหาทำให้ SINGER ต้องเข้ามาใส่เงินผ่านทางเพิ่มทุนและให้กู้ยื่ม อีกส่วน

         ส่วนสภาพคล่อง SINGER ยังไม่ค่อยมีปัญหาแม้จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระส.ค. นี้จำนวน 2,000 ล้านบาทแต่ได้เตรียมเงินรองรับไว้แล้ว และมีดีลหุ้นกู้อีกรอบ ก.พ. 2568 จำนวน 1,700 ล้านบาท

         ขณะที่เป้าหมายหลักนำเงินไปขยายสินเชื่อสมาร์โฟนให้ได้ตามเป้าหมาย 1 แสนเครื่องมูลค่าพอร์ต 5,000-6,000 ล้านบาท หากทำได้จริงตัวเลขประเมินไว้ 70,000 เครื่อง ทำให้มี SGC กลับมามีกำไรปี 2568 ที่  572 ล้านบาท และ SINGER รับรู้กำไรในส่วนนี้ 428 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ต้องติดตามทำได้ไหม 

        “ช่วงที่ SGP ระดมทุนไอพีโอเข้ามาและดำเนินธุรกิจแต่พอส่วนทุนต้องตั้งเป็นหนี้ทำให้ต้องหาแหล่งเงินใส่ทุนเข้ามา เพราะต้องการรุกตลาดสินเชื่อสมาร์ทโฟมีโอกาสมาร์จินที่สูงจากการคิดดอกเบี้ยที่ 28 % เพราะยังเป็นสินค้ายังไม่ถูกควบคุม ”

           “อดิสรณ์ มุ่งพาลชล” นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดีลการเพิ่มทุนค่อนข้างเป็นปัจจัยบวกต่อ SINGER เพราะรับรู้กำไรผ่าน SGC และได้หนี้คืนแถมปล่อยกู้ก็ได้ดอกเบี้ย  ส่วนเงินที่ใส่เพิ่มทุนนำไปขยายสินเชื่อสมาร์ทโฟนล็อกราคา 8,000 บาทต่อเครื่องหากลูกค้าไม่ชำระตัดบริการการโทร ซึ่งด้วยจำนวนเงินไม่สูงทางบริษัทคาดว่าลูกค้ารีบนำเงินมาชำระหนี้ไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสีย ส่วน SGC ได้แก้ปัญหา D/E ที่สูงที่เป็นปัญหาต่อฐานทุนและต้องเร่งแก้ไขในส่วนนี้