SBNEXT สอบโยกเงิน ตั้งทีมกม.ตรวจผู้บริหารเก่า-แจงก.ล.ต.10 ก.ค.

SBNEXT สอบโยกเงิน ตั้งทีมกม.ตรวจผู้บริหารเก่า-แจงก.ล.ต.10 ก.ค.

“สบาย คอนเน็กซ์ เทค” ตั้งทีมกฎหมายและที่ปรึกษาอิสระสอบธุรกรรมโยกเงินตามคำสั่ง ก.ล.ต. พุ่งเป้าผู้บริหารชุดเก่า ส่งคำชี้แจงเบื้องต้นใน 10 ก.ค. 67 “เอกรัตน์ แจ้งอยู่” ยอมรับต้องตั้งสำรองเพิ่มถึง Q3/67 เผยที่ดินนำไปค้ำยังเหลือมูลค่า 800 ล้าน ในการขอสินเชื่อสถาบันการเงิน

จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. สั่งการให้ บริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (มหาชน) หรือ SBNEXT และคณะกรรมการบริษัทเร่งชี้แจงข้อมูลประเด็นผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินไตรมาส 1/2567 ภายใน 10 ก.ค. 67 เพราะไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกันกรณีการกู้ยืมเงิน มีการนำสินทรัพย์ของบริษัทไปค้ำประกันให้กลุ่มบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รวมทั้ง SBNEXT ได้นำเงินกู้ยืมไปลงทุนในหุ้น SABUY 

ก่อนหน้านี้ปี 2565 กลุ่ม SABUY ได้เข้ามาลงทุน SBNEXT สัดส่วน 24.92 % พร้อมเปลี่ยนโครงสร้างบริหาร และแนวทางธุรกิจจากผลิตและจำหน่ายเครื่องกรองน้ำสู่การต่อยอดไปยังสินค้าอื่นๆแต่ผลประกอบการปี 2566 กลับขาดทุน ก่อน SABUY จะทยอยลดสัดส่วนการถือหุ้น  กรรมการทยอยลาออก รวมถึง “นายชูเกียรติ รุจนพรพจี” ลาออกจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SBNEXT เมื่อ 11 มี.ค. 2567  และยังลดสัดส่วนการถือหุ้นใน SABUY ด้วย ก่อนที่งบการเงินไตรมาส 1ปี  2567 ขาดทุนอย่างหนัก 1,960  ล้านบาท

ช่วง พ.ค. - มิ.ย. 2567 SBNEXT เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นและอำนาจบริหารภายในองค์กร โดย บริษัท เบตเตอร์ ดรีมส์ จำกัด กลับขึ้นมาถือหุ้นอันดับแรก 18.71% และกลุ่ม “แจ้งอยู่” เข้ามาถือหุ้นเพิ่ม ซึ่งสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้ก่อตั้งเดิมก่อนที่ SABUY จะลงทุน

นายเอกรัตน์ แจ้งอยู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SBNEXT เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนโดยจะมีการตั้งทั้งที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ และทีมกฎหมายเฉพาะเพื่อตรวจสอบตามข้อสงสัยที่ทาง ก.ล.ต. ให้ชี้แจง 10 ก.ค. นี้โดยต้องมีการสอบถามหรือสืบค้นข้อมูลโดยละเอียดจากกรรมการชุดเดิมที่ลาออกไป ซึ่งคาดจะได้ข้อสรุปข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการภายในกำหนด

เบื้องต้นผลกระทบทางการเงินมาจากรายการพิเศษซึ่งมีการตั้งสำรองไว้  เจอผลกระทบทั้งไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้ จากกรณีเอาเงินไปลงทุนหุ้นและเอาสินทรัพย์บริษัทไปค้ำประกันส่งผลเสีย  แต่โชคดีบริษัทยังมีสินทรัพย์ค่อนข้างมากมีที่ดินเหลือราว 800 ล้านบาทและ LTV ตัด ที่ 30 % จึงพอมีวงเงินเหลืออยู่ให้บริหารธุรกิจต่อ และมีลูกหนี้การค้าที่น่าจะทำให้มีเงินพอหมุนเวียน  และหลังจากนี้เริ่มมองหาพันธมิตรบ้างแล้วแต่คราวนี้คงเป็นการร่วมทุนโดยมีฝั่งบริษัทถืออำนาจบริหารหลัก  

“วันที่ 5 ก.ค. ทางเรานัดมีประชุมคณะกรรมการบริษัทปัจจุบันเพื่อหารือร่วมกันให้ได้คำตอบตามที่หน่วยงานกำกับข้างนอกที่มีข้อสงสัยโดยเร็วแล้วจะชี้แจงต่อไปให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าจะได้คำตอบที่น่าพอใจ และก็หวังว่านักลงทุนจะเห็นภาพว่าในระยะ 2 เดือนนี้เราได้พยายามเปลี่ยนแปลงอะไรภายในเยอะหลังกรรมการเก่ายกชุดออกไป”

สำหรับโครงสร้างหลังจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกไม่มากและจะชัดเจนภายในเดือน ก.ค. 2567 โดยไม่มี นายชูเกียรติ เข้ามามีบทบาทในองค์กร  ด้านกลุ่ม SABUY ภายใต้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่จะเกี่ยวข้องในแง่ความร่วมมือทางการค้าเป็นหลัก ส่วน “นายกระทรวง จารุศิระ”  ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SuperTrader ที่เข้ามาถือหุ้นลำดับ 5 ยังไม่ได้มีการเจรจากันถึงเหตุผลการเข้ามาถือหุ้นใหญ่ และไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว เบื้องต้นประเมินอาจเป็นเพียงการเข้ามาลงทุนระยะสั้นเท่านั้น

ขณะที่แนวโน้มธุรกิจตั้งเป้าหมายจะฟื้นตัวคาดหวังกลับมาหยุดขาดทุนได้ในปี 2568 จากการมุ่งทำตลาดสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำได้แก่ ระบบกรองน้ำ, เครื่องกรองน้ำ และ ตู้กดน้ำคุณภาพสูงระบบอัจฉริยะแบบหยอดเหรียญ ซึ่งแต่ละสินค้าแม้ยังไม่มีตัวเลขมูลค่าตลาดอย่างเป็นทางการแต่ประเมินเบื้องต้นคาดอยู่ที่ 8 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อประเภทสินค้า นอกจากนี้บริษัทยังจะขยายการขายเครื่องฟอกอากาศด้วย

โดยภายในปี 2567จะมีการเพิ่มตัวแทนขายจากปัจจุบันมีราว 400 คน ให้เป็น 700 คน เพิ่มตัวแทนขายภายนอกจาก 30 รายคาดหวังให้เป็น 100 ราย พร้อมเพิ่มช่องทางขายออนไลน์

ทั้งนี้ ก.ล.ต. สั้งให้ SBNEXT ชี้แจง 3 ประเด็น

1. SBNEXT ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกันกรณีการกู้ยืมเงินจากบุคคลที่เกี่ยวโยงกันและการนำสินทรัพย์ของ SBNEXT ไปค้ำประกันให้บุคคลที่เกี่ยวโยงกันนั้น มีรายละเอียดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติอย่างไร และมีใครเป็นผู้พิจารณาอนุมัติรายการ และหลักประกันเงินกู้ยืมมีความเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการดำเนินการแก้ไขรายการดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกัน

2. การกู้ยืมจาก SABUY สถาบันการเงิน และบุคคลอื่น ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์การกู้ยืมเงิน โดยนำไปลงทุนในหลักทรัพย์นั้น มีการลงทุนในหลักทรัพย์ใดบ้าง และแต่ละครั้งมีการปฏิบัติตามนโยบายลงทุน หลักเกณฑ์และขั้นตอนการลงทุน อำนาจการตัดสินใจลงทุน และวัตถุประสงค์การเข้าลงทุน หรือไม่และมีใครเป็นผู้พิจารณาอนุมัติรวมถึงกรณีที่เกิดผลขาดทุนในหลักทรัพย์ที่ลงทุน SBNEXT มีการปฏิบัติตามแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่กำหนดไว้หรือไม่

และ 3. การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของผลขาดทุนด้านเครดิต มีนโยบาย กระบวนการและขั้นตอน และอำนาจอนุมัติในการตั้งสำรองและการตัดหนี้สูญอย่างไร และมีการปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายหรือไม่