‘ประกันสังคม’ลุยปรับพอร์ตลงทุน แนะเพิ่มน้ำหนักหุ้นต่างประเทศ
“สำนักงานประกันสังคม” ปรับพอร์ตมุ่งลงทุน “สินทรัพย์เสี่ยง” มากขึ้น สอดรับความเหมาะสม-ศักยภาพ “กองทุนประกันสังคม” ด้าน “กบข.” มองหุ้น SET50 ไม่แพง “เอเซีย พลัส” คาดหุ้น SET50 ปันผลเฉลี่ย 3% “โกลเบล็ก” เผยกองทุนต้องเลือกหุ้นใหญ่-ดี “ฟินโนมีนา” ชี้ลงทุนนอกผลตอบแทนจูงใจ
“ประกันสังคม” ในแวดวงตลาดทุนไทยถือเป็นหนึ่งใน “นักลงทุนรายใหญ่” เนื่องจากเงินที่มนุษย์เงินเดือนถูกหักเดือนละ 5% โดยสูงสุดไม่เกิน 750 บาท ซึ่งเงินออมของเราในช่วงระหว่างที่เราจ่ายเข้าไป ในทุก ๆ เดือน ถูกนำไปทำอะไร ? คำตอบก็คือ จะถูกนำไปลงทุน ผ่าน “กองทุนประกันสังคม” นั้นเอง !
สะท้อนผ่านรายงานจากกองทุนประกันสังคม เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ด้าน “การลงทุน” ฉบับที่ 4 (ปี 2563-2567) ระยะที่ 1 สำนักงานประกันสังคมมีการทบทวนแผนการลงทุนใหม่ โดยยังคงให้มีการลงทุนใน “สินทรัพย์เสี่ยง” มากขึ้น เนื่องจากสอดรับความเหมาะสมกับสถานการณ์และศักยภาพของ “กองทุนประกันสังคม” เพื่อเพิ่ม “ผลตอบแทน” ให้เป็นตามเป้าหมาย
โดยการปรับเปลี่ยนการลงทุนเพื่อมุ่งเน้นในการลงทุน “ตราสารหนี้ไทย-ตราสารทุนต่างประเทศ-การลงทุนในหลักทรัพย์นอกตลาด” ซึ่งจะทำให้กองทุนมีผลตอบแทนคาดหวังระดับสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศเป็นการ “ลดการกระจุกตัว” ของเงินลงทุนและเป็นการบริหารความเสี่ยงกองทุน เพื่อให้มีผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาว แทนการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนขึ้นกับสภาวะตลาดในประเทศไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
สะท้อนผ่านเป้าหมายสัดส่วนการลงทุนในแต่ละประเภทสินทรัพย์โดยจำแนกตามลักษณะ ประกอบด้วย 1.กลุ่มสินทรัพย์มั่นคง สัดส่วน 70% , สินทรัพย์เสี่ยง สัดส่วน 30% 2.กลุ่มสินทรัพย์ในประเทศ สัดส่วน 68% , สินทรัพย์ต่างประเทศ สัดส่วน 32% และ 3.กลุ่มสินทรัพย์ตราสารหนี้ สัดส่วน 70% , กลุ่มสินทรัพย์ตราสารทุน สัดส่วน 24% , กลุ่มสินทรัพย์ทางเลือก สัดส่วน 6%
เปิด “10 หุ้น” SET50 “กองทุนประกันสังคม” ถือ
“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจพอร์ตการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม พบถือครองหุ้นไทย ณ ปัจจุบันจำนวนมาก หากดูที่สำนักงานประกันสังคมถือครองใน “ดัชนี SET50” ที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) “10 อันดับแรก” คือ บมจ. ปตท. (PTT) จำนวน 456.26 ล้านหุ้น ราคาหุ้น ณ วันที่ 4 ก.ค. อยู่ที่ 32.75 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าถือครอง 14,942.51 ล้านบาท บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) จำนวน 219.99 ล้านหุ้น ราคาหุ้น ณ วันที่ 4 ก.ค. อยู่ที่ 54.75 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าถือครอง 12,044.67 ล้านบาท
บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) จำนวน 52.37 ล้านหุ้น ราคาหุ้น ณ วันที่ 4 ก.ค. อยู่ที่ 226 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าถือครอง 11,835.97 ล้านบาท บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) จำนวน 55.63 ล้านหุ้น ราคาหุ้น ณ วันที่ 4 ก.ค. อยู่ที่ 210 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าถือครอง 11,681.44 ล้านบาท บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) จำนวน 407.26 ล้านหุ้น ราคาหุ้น ณ วันที่ 4 ก.ค. อยู่ที่ 26.50 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าถือครอง 10,792.39 ล้านบาท
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จำนวน 71.88 ล้านหุ้น ราคาหุ้น ณ วันที่ 4 ก.ค. อยู่ที่ 127.50 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าถือครอง 9,164.62 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จำนวน 65.56 ล้านหุ้น ราคาหุ้น ณ วันที่ 4 ก.ค. อยู่ที่ 135.50 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าถือครอง 8,882.97 ล้านบาท
บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จำนวน 151.77 ล้านหุ้น ราคาหุ้น ณ วันที่ 4 ก.ค. อยู่ที่ 56.75 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าถือครอง 8,612.90 ล้านบาท บมจ. เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) จำนวน 81.11 ล้านหุ้น ราคาหุ้น ณ วันที่ 4 ก.ค. อยู่ที่ 104.50 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าถือครอง 8,476.44 ล้านบาท และ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) จำนวน 195.25 ล้านหุ้น ราคาหุ้น ณ วันที่ 4 ก.ค. อยู่ที่ 38.25 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าถือครอง 7,468.41 ล้านบาท รวมมูลค่าถือครองหุ้น 10 ตัว กว่า 1.03 แสนล้านบาท
“กบข.” มองหุ้น SET50 ยังน่าสนใจ ไม่แพง-มีปันผล
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า การลงทุนใน SET50 ถือเป็นทางเลือกหนึ่งเพราะมีบริษัทที่ถือว่าเป็นหลักของภาพรวมตลาดหุ้นอยู่ เป็นการลงทุนคาดหวังการเพิ่มขึ้นของราคาไปพร้อมกับคาดหวังได้รับเงินปันผล
ทั้งนี้ในตลาดหุ้นไทยยังมีหุ้นที่น่าสนใจลงทุนทั้งในแง่ราคาไม่สูงนักเมื่อเทียบราคาพื้นฐานเหมาะสม และยังมีหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดี อีกทั้งมีหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศโดยหุ้นในกลุ่ม SET50 แต่ละตัวก็มีความน่าสนใจต่างกันไปส่วนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการยังเน้นลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี ไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายลงทุนไปจากสัดส่วนเดิมที่วางแผนไว้ทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ
“บล.เอเซีย พลัส” ชี้หุ้นใหญ่โอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า กลยุทธ์การเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ประเภท SET50 ยังมีความน่าสนใจ โดยยังมีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากที่ในแง่มูลค่าหุ้น (Valuation) มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี
อย่างไรก็ตามในส่วนของกองทุนประกันสังคม โดยนโยบายก็จำเป็นต้องลงทุนกิจการขนาดใหญ่พื้นฐานแข็งแรง ดังนั้นทางเลือกในการลงทุนหุ้นไทยจึงมีไม่มาก โดยหลักจึงต้องอยู่ในหลักทรัพย์ SET50 ในทางกลับกันหากเพราะการเลือกลงทุนในหุ้นขนาดเล็กกว่า อาจเสี่ยงมีปัญหาด้านสภาพคล่องซื้อขายหลักทรัพย์
ด้านผลตอบแทนการเติบโตของมูลค่าหุ้นรายตัวใน SET50 อาจไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนในขณะนี้เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่มีความไม่แน่นอน แต่ในภาพรวม คาดหุ้นใน SET50 จะให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลราว 3% ต่อปี
ส่วนการเลือกไปลงทุนหุ้นในต่างประเทศหรือสินทรัพย์เสี่ยงอื่นก็จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กรอบนโยบายกำกับสัดส่วนของตัวกองทุนจะพิจารณา
“บล.โกลเบล็ก” ชี้เป้าหมายหุ้นพื้นฐานดี SET50
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก เปิดเผยว่า โดยปกติหุ้นที่อยู่ใน SET50 ถือเป็น 1 เงื่อนไขที่กองทุนต่างๆ มักกำหนดเพื่อพิจารณาเลือกลงทุน ดังนั้น กองทุนประกันสังคมและนักลงทุนสถาบันต้องเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดี โดยหุ้น SET50 จึงถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ขณะที่การออกไปลงทุนต่างประเทศยังมีข้อควรระวังเรื่องทิศทางความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยค่าเงินบาทอ่อนตัว
ทั้งนี้ ตามหลักการแล้วหากในอนาคตเงินบาทอ่อนค่าเทียบกับตลาดประเทศอื่นเข้าไปลงทุนย่อมถือเป็นผลดีสำหรับการไปลงทุนในต่างประเทศ แต่หากถ้าเงินบาทกลับมาแข็งค่าผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศปรับลดลง
“บลน.ฟินโนมีนา” ชี้หุ้น-พันธบัตรตปท.ผลตอบแทนจูงใจ
นายเจษฎา สุขทิศ กรรมการ บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา เปิดเผยว่า กองทุนประกันสังคมของประเทศไทยมีกรอบเงื่อนไขและระเบียบที่เน้นลงทุนด้วยความปลอดภัย ทำให้หากผู้จัดการที่บริหารกองทุนต้องการเพิ่มความเสี่ยงเชิงรุกอาจจำเป็นต้องคำนึงรอบด้านทั้งขนาดสินทรัพย์ และภาระใช้จ่าย จึงทำให้เพิ่มระดับความเสี่ยงมากเกินไปไม่ได้
สำหรับความเหมาะสมของระดับความเสี่ยงนั้น มิอาจระบุค่าชัดเจนได้ แต่เชื่อว่าหากกองทุนให้น้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งประเภทหุ้นต่างประเทศ และตราสารหนี้ในต่างประเทศมากขึ้นย่อมเปิดโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงกว่าเลือกลงทุนเฉพาะในประเทศ
ทั้งนี้จากสถิติย้อนหลังระยะ 10 ปีค่าเฉลี่ยตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนราว 10% ตลาดหุ้นสหรัฐให้ผลตอบแทน 20% ส่วนหุ้นไทยโดยเฉพาะใน SET50 ผลตอบแทนได้น้อยกว่าเนื่องจากผลประกอบการบจ. โดยรวมมิได้เติบโตก้าวกระโดด ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยมีตัวอย่างกองทุนประกันสังคมในต่างประเทศที่สร้างผลตอบแทนได้ดีจากความยืดหยุ่นเชิงนโยบายที่สามารถเลือกลงทุนสินทรัพย์ได้ทั่วโลก