ต่างชาติทิ้ง‘หุ้น-บอนด์’2แสนล้าน ‘ThaiBMA’ ชี้สภาพคล่องไทยสูงรองรับได้
คงปฏิเสธไม่ได้ “ตลาดเงิน-ตลาดทุน” นับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน (5 ก.ค.) ถูกปกคลุมด้วยความเปราะบาง สะท้อนกระแสเงินลงทุนจาก “ต่างชาติ” (Fund Flow) ขายสุทธิต่อเนื่อง
บ่งชี้ผ่านแรงเทขาย “หุ้นไทย” มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท และ “ตราสารหนี้ไทย” (บอนด์) มูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท รวมเกือบ 2 แสนล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ “ทองคำ-กองทุนอสังหาริมทรัพย์” พบเงินทุนไหลออกเช่นกัน
หนึ่งในเหตุผลอาจจะมาจาก “ความไม่ชัดเจน” ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติ “ขาดความเชื่อมั่น” สืบเนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เต็มที่ การเบิกจ่ายงบภาครัฐล่าช้า และความไม่แน่นอนปัจจัยทางการเมืองกลับมากดดันอีกครั้งรวมถึงมีปัจจัยเฉพาะตัวกดดันหุ้นไทย ซึ่งตลาดรอผลของมาตรการยกระดับและสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ชัดเจน
สวนทางกับ “ฟันด์โฟลว์” ที่ไหลเข้าสุทธิใน “ตลาดประเทศเกิดใหม่” (ไม่รวมไทย) ทั้งในตลาดตราสารหนี้มูลค่า 1.45 แสนล้านบาท และตลาดหุ้น มูลค่า 3 ล้านล้านบาท โดยพบว่าส่วนใหญ่ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าในตลาดหุ้น อย่าง อินเดีย , จีน , ไต้หวัน
ขณะที่ตลาดบอนด์ไหลเข้า อย่าง จีน , อินเดีย ด้วยสารพัด “ปัจจัยหนุน” ทั้งราคาสินทรัพย์ลงทุนจีนไม่แพง ทางการจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะที่อินเดียมีการเติบโตสูงกว่าไทย และยังมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัวอีกด้วย
ส่วนตราสารหนี้ไทย ล่าสุดบทวิเคราะห์กลยุทธ์ลงทุนตลาดเกิดใหม่ของ “ธนาคารเจพีมอร์แกน” (J.P. Morgan) ระบุถึงกลยุทธ์การลงทุนตลาดเกิดใหม่ ว่าตลาดตราสารหนี้ไทยจะได้รับผลกระทบหนัก หลัง 28 มิ.ย. 2567 เนื่องจากตราสารหนี้ของอินเดียเข้าสู่ดัชนี GBI-EM โดยกระบวนการจะเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายในระยะเวลา 10 เดือน และทยอยเพิ่มน้ำหนักตลาดตราสารหนี้อินเดียเดือนละ 1% จนถึงระดับสูงสุด 10% ภายใน 31 มี.ค. 2568 จึงประเมินนักลงทุนต่างชาติจะดึงเงินทุนไหลออก 1.2 แสนล้านบาท “กดดัน” ตลาดตราสารหนี้ไทยเปราะบางนั้น
“กรุงเทพธุรกิจ” สอบถามมุมมองถึงผลกระทบดังกล่าว “อริยา ติรณะประกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ทาง ThaiBMA ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อเนื่อง โดยจากมุมมองดังกล่าวหากฟันด์โฟลว์ไหลออกเฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท ประเมินว่าไม่ได้มีผลกระทบอย่างมี “นัยสำคัญ” ต่อตลาดตราสารหนี้ไทย ซึ่งมองว่าเป็นความกังวลที่มากเกินไป และยังไม่ได้พบความเสี่ยงต่อความเปราะบาง
“ฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกจากตราสารหนี้ไทยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันกว่า 6 หมื่นล้าน ไม่ได้เป็นลบอย่างมีนัยสำคัญมาก หากเทียบกับฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกจากหุ้นไทยระดับแสนล้าน ซึ่งที่ผ่านมาฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกในระดับดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในตลาดเงินตลาดทุนไทยมาแล้วและด้วยสภาพคล่องในประเทศที่มีอยู่สูงดังนั้นประเมินว่ารองรับได้”
ดังนั้น ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงมีเสถียรภาพ สะท้อนจากข่าวการปรับน้ำหนักเกิดขึ้นตั้งแต่ปีก่อนแล้ว และกองทุนต่างชาติทยอยลดลงน้ำหนักล่วงหน้า ซึ่งไม่ได้เป็นเม็ดเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ของไทยอย่างรุนแรงในระยะเวลาอันสั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ครึ่งแรก ปี 2567 เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย ทั้งไตรมาส 1 และ ไตรมาส 2 รวมเป็นมูลค่าขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทย 66,514 ล้านบาท ซึ่งมาจากหลายปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด
ขณะที่ สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยปรับลดลงเล็กน้อยจาก 7% มาอยู่ที่ 5% ประเมินระยะข้างหน้ามีโอกาสปรับลดลงบ้างแต่การปรับลดลงจำกัดแล้วประกอบกับด้วยสภาพคล่องในประเทศอยู่ระดับสูง ทั้งเงินฝากและความต้องการพันธบัตรของนักลงทุนไทยรองรับอีกมาก ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน ด้วยบอนด์ยีลด์และค่าเงินบาทยังทรงตัว ไม่ได้ถูกกระชากขึ้นแรงจนส่งผลกระทบต่อการออกพันธบัตรระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน
ดังนั้น มองระยะข้างหน้าสัดส่วนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทย ยังมี “โอกาสเพิ่มขึ้นได้” เช่นกัน หากสถานการณ์ข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้นสนับสนุน ทั้งเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น และครึ่งปีหลังเฟดเริ่มลดดอกเบี้ย คาดฟันด์โฟลว์จะไหลกลับมาตลาดประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทยด้วย
“ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นฐานดี ทั้งด้านเศรษฐกิจ รัฐเร่งเบิกจ่าย ท่องเที่ยวและส่งออก รวมถึงทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่งซึ่งไม่น่าจะกระทบต่อความเสี่ยงของประเทศมีโอกาสถูกปรับลดลงแต่อย่างใด ทำให้ต้นทุนการออกพันธบัตรเพิ่มขึ้น แต่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อ จากปัจจัยกระทบมาจากภายนอกประเทศเป็นหลัก”
“ปิยะภัทร์ ภัทรภูวดล” Director ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่ากองทุนต่างชาติประเภท Active Fund น่าจะมีการปรับน้ำหนักรับข่าวไปก่อนล่วงหน้าบางส่วนแล้ว คาดว่าสถานะของกองทุนต่างชาติ โดยภาพรวม น่าจะปรับลดน้ำหนัก (Underweight ตราสารหนี้ไทย) ไปก่อนอยู่แล้วเช่นกัน
ดังนั้น จะเห็นได้เมื่อถึงเวลาปรับน้ำหนักจริง ปัจจุบันก็ยังมีสภาพคล่องในประเทศก็ช่วยซึมซับการไหลออกของกระแสเงินทุนต่างชาติ ทำให้บอนด์ยีลด์ไทยไม่ได้“ดีดตัวขึ้นแรง”อย่างมีนัยสำคัญรวมถึงความเสี่ยงประเทศหากถูกปรับลดเครดิต จะมีผลต่อต้นทุนการออกบอนด์ ก็เป็นความกังวลล่วงหน้ามากๆ พื้นฐานศกไทยยังดีฐานะการเงิน ทุนสำรอง ดีมีแค่จีดีพี รัฐบาลคงมีมาตรการมาดูแล
“สงวน จุงสกุล” ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว และนักลงทุนต่างชาติทยอยปรับพอร์ตล่วงหน้าไปบ้างแล้ว สัดส่วนถือครองบอนด์ไทยของต่างชาติจาก 7% อาจลดลงมาที่ 5-6% ได้ ซึ่งลดลงไม่มากแล้ว สะท้อนจากแรงขายในตลาดบอนด์ไทยปีก่อนกว่า 1 แสนล้านบาท คาดว่าในปีนี้ตลาดบอนด์ไทยจะทรงตัวและไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ถือว่า ตลาดบอนด์ไทยไม่ผันผวน ยังมีเสถีบรภาพ
สะท้อนไปค่าเงินบาทในปีนี้ ยังคงเคลื่อนไหวทรงตัวตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันที่ระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ รวมถึงปัจจัยการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด และดอกเบี้ยนโยบายของไทย คงไม่เกิดขึ้นในปีนี้ หรือเฟดอาจลดดอกเบี้ยปีนี้ 1 ครั้ง ก็ยังต้องติดตาม แต่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่ลดลงในทันที
ขณะที่ปกติช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี เป็นไฮซีซันเศรษฐกิจประเทศปรับตัวดีจากการใช้จ่ายบริโภคและการท่องเที่ยว ดังนั้น มีโอกาสเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าหลุดระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ได้บ้าง แต่มองว่าไม่ได้ทำให้บอนด์ยีลด์กระชากขึ้นแรงจนทำให้ต้นทุนออกบอนด์สูงเกินไปจนกลายเป็นอุปสรรคต่อความต้องการระดมทุนของภาครัฐและเอกชนแต่อย่างใดและมองระยะถัดไปจีดีพีไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
ตัวเลขที่ประกาศออกมาดีกว่าจีดีพีประเทศเกิดใหม่ อย่าง “อินเดียและเวียดนาม” ที่จะประกาศออกมา มองจะสามารถดึงฟันด์โฟลว์กลับเข้าตลาดบอนด์ไทยได้