โบรกจ่อหั่น‘กำไร’กลุ่มแบงก์ ตั้งสำรองหนี้ครึ่งหลังเพิ่ม-แพนิก EA

โบรกจ่อหั่น‘กำไร’กลุ่มแบงก์ ตั้งสำรองหนี้ครึ่งหลังเพิ่ม-แพนิก EA

“หุ้นกลุ่มแบงก์” ถูกเทขายหนัก เหตุตลาดกังวล “ตั้งสำรองหนี้” ครึ่งปีหลังเพิ่ม ปล่อยสินเชื่อ “อีเอ” 3.1 หมื่นล้าน ยังไร้แผนเคลียร์ หวั่นดีฟอลต์ “บล.กสิกรไทย” ชี้แบงก์ไร้ปัจจัยหนุน จ่อทบทวนคาดการณ์กำไรปีนี้ เดิมโตต่ำแค่ 1%

วานนี้ (15 ก.ค.) ​ความเคลื่อนไหว “หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์” (แบงก์) ปรับตัวลงยกแผง นำโดยธนาคารกรุงเทพ (BBL) ลดลง 1.85% , บมจ. เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ลดลง 3.29% ,  ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ลดลง 2.73% , ธนาคารกรุงไทย (KTB)ไม่เปลี่ยนแปลง  , ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ลดลง 2.21% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ลดลง 0.40%

โดยเหตุผลหลักๆ ที่กลุ่มแบงก์ปรับตัวลงมาจากกรณีตลาดกังวลตั้งสำรองสินเชื่อที่ปล่อยให้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) รวมทั้งแนวโน้ม “หนี้เสีย” (NPL) เพิ่ม 

โบรกจ่อหั่น‘กำไร’กลุ่มแบงก์ ตั้งสำรองหนี้ครึ่งหลังเพิ่ม-แพนิก EA

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลงมาหนักน้ำหนักมากที่สุดความกังวลเรื่องการตั้งสำรองของสินเชื่อที่มีปล่อยให้ EA ผนวกกับ แนวโน้มหนี้เสียในสินเชื่อรายย่อยที่ยังสูงขึ้น จาก NPL ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินทิสโก้ (TISCO) ที่รายงานออกมาปรับตัวเพิ่มขึ้น และกลุ่มนอนแบงก์ที่ทบทวนแล้ว ยังเห็นคุณภาพสินทรัพย์ด้อยลงอยู่

ขณะเดียวกัน ยังมีสาเหตุมาจากแนวโน้มกำไรกลุ่มธนาคารในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ น่าจะยังไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากคาดการณ์สำรองพิเศษจากกรณี EA น่าจะเข้ามาในไตรมาส 3 นี้ มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการจ่ายคืนหุ้นกู้ของ EA 2 ล็อต ในไตรมาส 3นี้

“เราประเมินว่า ถ้าจ่ายได้ หรือเจรจาเลื่อนกับผู้ถือหุ้นกู้ได้ น่าจะยังไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ถ้าเกิดดีฟอลต์น่าจะต้องจัดชั้นเป็น NPL แล้วตั้งสำรองค่อนข้างเยอะ”

 

ดังนั้น กำไรกลุ่มธนาคารปีนี้ เราคาดการณ์เติบโตต่ำเพียง 1% และอาจจะต้องปรับปรุงประมาณการอีกทีหลังงบไตรมาส 2/2567 และความชัดเจนเรื่องผลกระทบ EA มีเพิ่มเติม 

“เรายังไม่เห็นปัจจัยหนุนที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มแบงก์เพราะสินเชื่อน่าจะยังโตไม่สูงนักส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM ) อาจจะยังปรับเพิ่มไม่ได้มากนัก รายได้ค่าธรรมเนียมก็ยังต้องรอภาพเศรษฐกิจและตลาดทุนที่ดีขึ้น ส่วนช่องว่างในการปรับลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองของธนาคารน่าจะยังมีจำกัด”

นายกรกช กล่าวว่า   สำหรับหุ้นกลุ่มธนาคาร  ยังมองการลงทุน “น้อย” กว่าตลาด หรือ Negative แนะนำให้หลีกเลี่ยงไปก่อน รอดูความชัดเจนของการตั้งสำรอง และนโยบายต่างๆ (Guidance ) ของผู้บริหาร หลังประกาศงบในวันที่ 18-19 ก.ค. นี้ 

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลงแรง สาเหตุตลาดมีความกัวลหนี้ของลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งในขณะนี้ ที่อยู่กับธนาคารต่างๆ ราว 3.1 หมื่นล้านบาท ทั้งหุ้นหู้และตั่วเงินระยะสั้น มีความเสี่ยง ดีฟอลต์ได้  รวมถึงใกล้ช่วงประกาศงบกลุ่มธนาคารไตรมาส 2/2567 มีแนวโน้ม NPL ปรับขึ้น และในช่วง ไตรมาส 3 และไตรมาส 4/2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าลดลง

สำหรับคาดการณ์กำไรกลุ่มธนาคารปีนี้ ยังไม่นับรวมผลกระทบจากลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง หากไตรมาส 2/2567 กำไรกลุ่มธนาคารแตะ 60,000 ล้านบาท ยังเชื่อมั่นกำไรกลุ่มธนาคารในปีนี้น่าจะทำได้ตามที่คาดไว้ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ หลังจากนี้

ซึ่งปัจจัยการเติบโตสินเชื่อของธนาคารภาพรวมปีนี้ สะท้อนจีดีพีไทยปีนี้เติบโตที่ระดับ 2-3% และ NPL เฉพาะรายย่อยที่จะเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่รับรวมผลกระทบจากลูกค้ารายใหญ่ หากเป็น NPL ก็จะมีการตั้้งสำรองเพิ่มขึ้น    

       "ยังต้องรอติดตามแผนการบริหารจัดการหนี้ของลูกค้ารายใหญ่ในขณะนี้ให้ชัดเจน ว่าจะมีผลกระทบดีฟอลเกิดขึ้นหรือไม่ หากดีฟอลเกิดขึ้นจะมีความเสี่ยงต่อการตั้งสำรองกลุ่มแบงก์เจ้าหนี้เพิ่มเติม แต่เชื่อว่าอาจจะไม่ดีฟอลก็ได้ ขณะที่หากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลังเป็นปัจจัยหนุนสินเชื่อธนาคารปีนี้กลับมาโตเพิ่มขึ้น หนุนกำไรได้เช่นนั้น แนะหุ้นกลุ่มแบงก์เติบโตดีกว่าตลาด ได้แก่ BBL KBANK TTB "

นายณัฐพล  คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า  กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับ EA  ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าแต่ละธนาคารมีหนี้เท่าไหร่ และมีแผนบริหารจัดการหนี้ดังกล่าวอย่างไร ทำให้ตลาดแพนิกมากเกินไป เทขายหุ้นกลุ่มธนาคารออกมาค่อนข้างมากไว้ก่อน  

"แต่มองว่า เคสนี้ไม่ใช่เคสแรกที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นแล้ว จะเห็นว่าธนาคารมีกระจายตัวในการให้สินเชื่อกับลูกค้ารายใหญ่ และจะมีแผนบริหารจัดการหนี้ในอนาคตได้ ไม่น่ามีปัญหา จึงมองว่าปัจจัยนี้เป็นผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มธนาคารในระยะสั้น  "

ปัจจัยกดดันหลัก ที่เป็นจุดอ่อนของกลุ่มธนาคารในปีนี้ คือ สินเชื่อเติบโตชะลอตัวลง แนวโน้มตั้งสำรองหนี้เสียยังเพิ่มขึ้น ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้  หลังจากงบกำไรไตรมาส 2 /2567 ของทิสโก้ที่ประกาศล่าสุด เริ่มเห็นสัญญาณการตั้งสำรองหนี้ NPL เพิ่มขึ้นในอนาคต     

อย่างไรตาม ยังต้องรอปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มธนาคาร มาจากรัฐบาลกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังปีนี้  ผลักดันให้สินเชื่อของธนาคารเติบโตเพิ่มขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น  แนะหุ้นกลุ่มธนาคาร ยังไม่ควรลงทุนเพิ่ม เก็งกำไร ในขณะนี้ เพราะผลดำเนินงานไตรมาส 2/2567 ยังไม่สดใส แม้จะมีการจ่ายปันผลระหว่างกาลได้ก็ตาม 

มองหุ้นเด่น  KTB ที่ยังมีการจ่ายปันผลสูง แต่รอจังหวะเข้าลงทุนหลังประกาศงบไตรมาส 2 /2567 แล้ว