บลจ.คุมลงทุนหวั่นฟันด์รัน AIMC มั่นใจไม่ลามกองทุนอื่น ติดตามสถานการณ์ต่อ

บลจ.คุมลงทุนหวั่นฟันด์รัน AIMC มั่นใจไม่ลามกองทุนอื่น ติดตามสถานการณ์ต่อ

กองทุนตั้งการ์ดหวั่นผลกระทบต่อเนื่องจากนักลงทุนแห่เทขายกองทุนที่โยงอีเอ บลจ.ไทยพาณิชย์ทเร่งคุยลูกค้ามั่นใจสภาพคล่องกองทุนสูง 40 % และลงทุนสัดส่วนน้อย สมาคมบลจ. เบื้องต้นยังไม่พบลามไปบลจ.อื่น รอติดตามนี้อีก 1-2 สัปดาห์ให้ชัดเจนก่อน ก.ล.ต. ย้ำภาพรวมยังไม่กระทบ

ผลกระทบจากความกังวลใจถึงแนวทางการชำระหนี้ของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน)  หรือ EA จนเกิดความกังวลกลุ่มนักลงทุนกองทุนรวมนำไปสู่การเทขายหน่วยลงทุนอย่างรุนแรงช่วงวันที่ 15-16 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในฝั่งการลงทุนในตราสารหนี้ของ EA   ถึงแม้ว่า ก.ล.ต. สั่งให้กองทุนประกาศใช้ Side Pocket แยกหุ้นกู้ EA ออกจากกองทุนรวมและไม่นำมาคำนวณรวมกับมูลค่ากองทุน (NAV) ตั้งแต่ 15 ก.ค. 2567 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ผู้ลงทุนแล้วแต่ไม่สามารถหยุดแรงเทขายหน่วยลงทุนได้  

โดยมี บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)  แอสเซท พลัส  ที่ตัดสินใจยุติกองทุนเปิด แอสเซทพลัส ตราสารหนี้ เดลี่ พลัส (ASP-DPLUS) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว 

บลจ.คุมลงทุนหวั่นฟันด์รัน AIMC มั่นใจไม่ลามกองทุนอื่น ติดตามสถานการณ์ต่อ

นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ. ไทยพาณิชย์ (SCBAM) เปิดเผยว่า สถานการณ์หลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ในช่วง 1-2 วันมานี้  ยังดำเนินการเป็นปกติหลังจากได้มีการสื่อสารที่ชัดเจนกับผู้ถือหน่วยทำให้ไม่มีแรงขายที่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด โดยยืนยันว่ากองทุนตราสารหนี้ของไทยพาณิชย์ ยังมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 40% และหุ้นกู้ที่เหลืออยู่ในพอร์ตเป็นระดับ Investment gade สามารถบริการจัดการได้  กองทุนตราสารหนี้มีสัดส่วนลงทุนหุ้นกู้  EA เฉลี่ยไม่เกิน 1% คิดเป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อ Set Aside ออกมาทำให้ มูลค่าสินทรัพย์ (NAV ) ไม่ลดลงไปมาก   

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผย ประเด็นที่มีความกังวลจะเกิดผลกระทบยังบลจ.อื่น หรือ ฟันด์รัน ที่มีการลงทุนตราสารหนี้ EA เบื้องต้นยังไม่พบขยายไปยังบลจ.อื่นๆทั้งกองทุนหุ้นและตราสารหนี้ที่มีการลงทุนเกี่ยวข้อง   มีเพียงผู้ถือหน่วยลงทุนสอบถามมายังบลจ. ทั้งนี้คงต้องรอติดตามสถานการณ์นี้ต่อไปอีก 1-2 สัปดาห์ให้ชัดเจนก่อน 

ทั้งนี้หลายกองทุนที่มีการลงทุนเกี่ยวโยงกับ EA ออกมาแจ้งมาตรการรับมือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว คาดหวังว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่ขยายวงกว้างเพราะปัจจุบันกองทุนมีเครื่องมือหยุดความแพนิกของนักลงทุนได้ 

สำหรับแนวทางที่บลจ.แอสเซท พลัส ติดสินใจปิดกองทุนถือว่าหยุดความได้เปรียบและเสียเปรียบของนักลงทุนได้ ส่วนการกองทุนที่ลงทุนในหุ้น EA จะมีเฉพาะในกองทุนรวมดัชนี (Passive Fund) เท่านั้นซึ่งมีสัดส่วนไม่เกิน 1-2%  และบลจ.ต่างๆ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจึงได้มีการปรับลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น EA ตั้งแต่เริ่มมีข่าวต่างๆ เกี่ยวกับบริษัทกันช่วงที่ผ่านมา

“กรณี STARK เราเคยใช้เวลาติดตามสถานการณ์ต่างๆ ราว 1-2 สัปดาห์เช่นกัน แต่มองว่า กรณี EA  ไม่เหมือนกับกรณี STARK ที่มีความผิดปกติตั้งแต่ออดิเตอร์ไม่ได้รับรอง  แต่ EA ไม่ใช่เช่นนั้นและบริษัทยังมีสภาพคล่อง คงต้องติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆก่อนอย่างใกล้ชิด ” 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ AIMC และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องยังมีมติเป็นเอกฉันท์ให้หลักทรัพย์ของ EA  เข้าข่าย Restricted List  โดยห้ามบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) สมาชิกซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวเพิ่ม จนกว่า EA จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนได้ด้วยการแสดงแนวทางการดำเนินงานที่โปร่งใสและชัดเจน ซึ่ง AIMC จะติดตามสถานการณ์และประเมินผลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ลงทุนจะได้รับการคุ้มครองอย่างดีที่สุด

นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุสถานการณ์กองทุนขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และไม่ได้รับผลกระทบจากบลจ.แอสเซท พลัส ยกเลิกกองทุน เนื่องจากมีเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องที่เพียงพอ และมีการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และความจำเป็นไม่ว่าจะเป็นการแยกหุ้นกู้ที่มีปัญหาออกมาต่างหาก (side pocket) การกำหนดสัดส่วนการไถ่ถอน (redemption gate) สำหรับกองที่มีการไถ่ถอนมาก ตลอดถึงการเลิกกอง เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยทุกรายอย่างเป็นธรรม โดย ก.ล.ต. ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และเน้นย้ำให้ บลจ. และตัวแทนขายสื่อสาร สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ลงทุน