สถิติไอพีโอ 3 ปี 98 หลักทรัพย์ เทรดวันแรกขายก่อนอุ่นใจกว่า
เปิดสถิติ IPO ย้อนหลังตั้งแต่ปี 65 ถึง ก.ค. 67 รวม 98 หุ้นทั้ง SET และ mai ในวัน 1st Trading สำหรับผู้มีหุ้นที่ราคาจองกลยุทธ์การขายเปิดลดความน่าจะเป็นที่อาจขาดทุนได้มากที่สุด แต่หากถือไปจนสิ้นวันมีถึง 26 หุ้นเปิดบวกแต่ปิดบวกร้อนแรงกว่า
ความเคลื่อนไหวของหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เมื่อเข้ากระดานเป็นวันแรก 1st Trading Day มักจะผันผวนในกรอบกว้างซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ราคาเพดาน (Ceiling) ไม่เกิน 3 เท่าของราคาเสนอขายครั้งแรก ส่วนราคาต่ำสุด (Floor) ต้องไม่น้อยกว่า 0.01 บาท ก่อนที่วันทำการถัดไปเปลี่ยนแปลงภายใต้กรอบจำกัดบวกไม่มากกว่า 30% หรือลบที่ไม่ต่ำกว่า 30%
นักลงทุนจำนวนมิใช่น้อยที่ได้สิทธิซื้อหุ้น IPO ราคาจองเพื่อจุดประสงค์การเก็งกำไรเท่านั้น จึงนิยมเทขายในวันแรก โดยอาจเลือกกลยุทธ์ได้แก่ 1.ตั้งจุดขายตามราคาที่พอใจโดยอิงพื้นฐานที่ประเมินควรจะเป็น 2. กำหนดขายราคาเปิดเพื่อล็อกกำไรไว้ก่อน และ 3.รอดูความเคลื่อนไหวระหว่างวันเพื่อตัดสินใจตามทิศทางราคา โดยจะไม่ถือข้ามวันซึ่งอาจต้องขายที่ราคาปิด
ในเชิงสถิติจากการสำรวจราคาหุ้นที่เข้าวันแรกตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึง ปัจจุบันกลางเดือนก.ค. 2567 พบมี IPO รวม 98 หลักทรัพย์ (ไม่นับรวมหุ้น IPO ประเภทกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และประเภทกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) ซึ่งส่วนใหญ่ 79 หลักทรัพย์มีราคาเปิดสูงกว่าราคาจอง และ 63 หลักทรัพย์ราคาปิดวันแรกสูงกว่าราคาจอง ส่วนหุ้น IPO ที่เข้าวันแรกทั้งราคาเปิด และปิดสูงกว่าราคาจองมี 61 หลักทรัพย์
ดังนั้นนักลงทุนที่มีหุ้นที่ราคา IPO จึงค่อนข้างอุ่นใจได้ว่า โอกาสขาดทุนมีน้อยกว่าครึ่ง และว่ากันตามสถิติเฉพาะวันแรกที่ไอพีโอเข้าตลาดการขายหุ้นที่จองออกมาที่จังหวะราคาเปิดเท่ากับโอกาสขาดทุนมีเพียงไม่ถึง 20%
ที่ราคาเปิดมีหลายหุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงจนน่าตกใจ
5 ลำดับ IPO ที่ราคาเปิดเพิ่มสูงสุดเทียบราคาจองได้แก่
1.SAF ราคา IPO 1.93 บาท ราคาเปิด 4.80 บาท บวก 148.70% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 19 ม.ค.2566, 2.BPS ราคา IPO 0.90 บาท ราคาเปิด 2.12 บาท บวก 135.56% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 3 เม.ย.2567, 3.PQS ราคา IPO 6.00 บาท ราคาเปิด 14.00 บาท บวก 133.33% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 15 ก.พ.2566, 4.TERA ราคา IPO 1.75 บาท ราคาเปิด 3.90 บาท บวก 122.86% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 24 เม.ย.2567 และ 5.24CS ราคา IPO 3.40 บาท ราคาเปิด 7.10 บาท บวก 108.82% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 3 ต.ค.2565
ส่วนผู้ที่ถือได้นานกว่าจนสิ้นวัน หุ้นหลายตัวก็ยังอัตราผลตอบแทนสูงมากอยู่
5 ลำดับ IPO ที่ราคาปิดเพิ่มสูงสุดเทียบราคาจองได้แก่
1.LTS ราคา IPO 3.00 บาท ราคาปิด 9.05 บาท บวก 201.67% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 17 พ.ค.2567, 2.24CS ราคา IPO 3.40 บาท ราคาปิด 10.20 บาท บวก 200.00% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 3 ต.ค.2565, 3.BKGI ราคา IPO 1.63 บาท ราคาปิด 4.40 บาท บวก 169.94% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 20 มี.ค.2567, 4.TBN ราคา IPO 17.00 บาท ราคาปิด 42.50 บาท บวก 150.00% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 19 มิ.ย.2566 5.KCCAMC ราคา IPO 3.70 บาท ราคาปิด 9.20 บาท บวก 148.65% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 5 พ.ค.2565 (หมายเหตุ : KCCAMC ภายหลังมีการปรับโครงสร้าง และใช้ชื่อว่า KCC)
ในเชิงเปรียบเทียบระหว่างกลยุทธ์การขายทันที ณ ราคาเปิด หรือการถือรอลุ้นตัดสินใจขายท้ายวันที่ราคาปิดนั้นกลับพบว่า ผลตอบแทนที่ได้รับลดลง โดยมี 31 หลักทรัพย์เท่านั้นที่ราคาปิดสูงกว่าราคาเปิด 1 หลักทรัพย์ราคาเสมอตัว และ 66 หลักทรัพย์ราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด
นอกจากนี้หากคัดสรรเฉพาะหุ้น IPO ที่เปิดเหนือราคาจองแล้วยังมีราคาปิดบวกขยับขึ้นเหนือราคาเปิดได้อีกมี 26 หลักทรัพย์ ถึงแม้เป็นสัดส่วนน้อย แต่ตัวเลขผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นก็เร้าใจมาก สูงสุดเพิ่มขึ้น 136% เทียบกับระดับราคาเปิดวันเดียวกัน
จึงอาจเป็นระดับผลตอบแทนที่มากพอล่อใจสายเก็งกำไรที่ไม่ได้หุ้นจองหรือต้องการหุ้นเพิ่มให้เข้าซื้อที่ราคาเปิดเพื่อเก็งกำไรระหว่างวันได้ และ 5 ลำดับ IPO ที่ราคาเปิดเหนือจอง แล้วปิดวันแรกเพิ่มขึ้นสูงขึ้นอีกมากที่สุดได้แก่
1.BKGI ราคา IPO 1.63 บาท ราคาเปิดบวก 33.74% ราคาปิดบวก 169.94% ต่างกัน 136.20% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 20 มี.ค.2567, 2.LTS ราคา IPO 3.00 บาท ราคาเปิดบวก 96.67% ราคาปิดบวก 201.67% ต่างกัน 105.00% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 17 พ.ค.2567, 3.24CS ราคา IPO 3.40 บาท ราคาเปิดบวก 108.82% ราคาปิดบวก 200.00% ต่างกัน 91.18% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 3 ต.ค.2565, 4.JDF ราคา IPO 2.60 บาท ราคาเปิดบวก 23.08% ราคาปิดบวก 111.54% ต่างกัน 88.46% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 7 เม.ย.2565 และ 5.TBN ราคา IPO 17.00 บาท ราคาเปิดบวก 61.76% ราคาปิดบวก 150.00% ต่างกัน 88.24% เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 19 มิ.ย.2566
อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องย้ำเตือนคำโตว่า “ผู้ลงทุนต้องรู้จักจำกัดความเสี่ยงด้วย” การมุ่งเก็งกำไรระยะสั้นโดยมิสนใจพื้นฐาน และอนาคตกิจการเลยย่อมขัดกับหลักการลงทุนที่ดีตามวลีที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” การเข้าใจองค์ประกอบของหุ้นที่เข้าไปลงทุนให้มากย่อมทำให้การกำหนดกลยุทธ์ซื้อขายมีประสิทธิภาพสูงกว่าในระยะยาว ซึ่งแม้แต่นักลงทุนสายกราฟเทคนิคก็ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ค่าความเคลื่อนไหวราคาตามทฤษฎีต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ
สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นการลงทุนระยะสั้นมากๆ เพื่อเก็งกำไร หรือเลือกลงทุนระยะยาวก็ตาม การวางแผน มีหลักการชัดเจน ทำตามแผนอย่างมีวินัย และรู้จักทบทวนข้อผิดพลาดเพื่อนำมาปรับปรุง ล้วนถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสถิติคือ เหตุการณ์ที่ผ่านมาพ้นไปแล้ว ความเป็นไปได้ในอนาคตมีความไม่แน่นอนเสมอ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์