6 หุ้นโรงพยาบาล สุดแข็งแกร่ง ราคาบวกพุ่ง 66% ฝ่าวิกฤติ SET ดิ่ง

6 หุ้นโรงพยาบาล สุดแข็งแกร่ง ราคาบวกพุ่ง 66% ฝ่าวิกฤติ SET ดิ่ง

6 หุ้นโรงพยาบาล สุดแข็งแกร่ง หุ้น WPH ราคาบวกพุ่งนำกลุ่มมาเป็นอันดับ 1 ที่ 66% ขณะที่ หุ้น VIH ตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 38.26%

หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล จัดเป็นอีกหนึ่งหุ้นกลุ่มยอดนิยมที่นักลงทุนชื่นชอบกันมาก ด้วยปัจจัยที่ว่าเป็นธุรกิจที่ทนทานต่อความผันผวนของเศรษฐกิจได้ดี เพราะอาการเจ็บป่วย หรือความต้องการใช้บริการโรงพยาบาล จัดเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิต ขณะเดียวกันก็มีโรคที่อุบัติใหม่และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกด้วย 

แต่ทว่า หุ้นกลุ่มนี้มีปัจจัยเฉพาะตัว เช่น การรับรู้รายได้ทางบัญชี ต้นทุนทางการเงิน กฎระเบียบ การแข่งขัน ที่อาจส่งผลต่อผลประกอบการในอนาคตได้  และในปี 2567 ที่ผ่านมา เกือบจะ 7 เดือนแล้วดูเหมือนจะยังไม่ค่อยสดใสเท่าไรนัก ซึ่งหุ้นในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอัตราผลตอบแทนในตารางติดลบ แต่ยังมี 6 หลักทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ทำอัตราผลตอบแทนเป็นบวกได้อย่างมีนัยสำคัญ

1.บริษัท โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง จำกัด (มหาชน) WPH

  • นายแพทย์สมชาย จันทร์สว่าง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  • ราคา YTD ที่ +66.77%
  • P/E 41.10 เท่า 
  • P/BV  5.11 เท่า 
  • กำไรไตรมาส 1/67 ที่ 110.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 459.99%
  • รายได้ไตรมาส 1/67 ที่ 577.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.54% 
  • มาร์เก็ตแคป 7,539.84 ล้านบาท 

 

สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทวางงบลงทุนราว 1,100-1,200 ล้านบาท เตรียมเปิดโรงพยาบาลแห่งที่ 5 เพิ่มเติม จำนวน 120 เตียง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะภายในปีนี้ และคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปลายปี 2569 โดยบริษัท อยู่ในระหว่างการศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสมซึ่งเป็นพื้นที่แห่งการท่องเที่ยว

นอกจากนี้บริษัทยังมาหาโอกาส เดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่อง อาทิ ขยายปริมาณเตียงผู้ป่วยหนัก หรือICU อีก 60% ในช่วงไตรมาสที่ 3/2567 และเตรียมเปิดรับผู้ป่วยประกันสังคม Premium ต้นปี 2568 และเปิดให้บริการโรงพยาบาลคูน อ่าวนาง (โรงพยาบาลแห่งที่ 4) ในช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2568

 

2.บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) VIH

  • ผศ.พญ.สายสุณี วนดุรงค์วรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  • ราคา YTD ที่ +38.26%
  • P/E 19.75 เท่า 
  • P/BV 1.84 เท่า 
  • กำไรไตรมาส 1/67 ที่ 72.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86.97%
  • รายได้ไตรมาส 1/67 ที่ 673.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.77% 
  • มาร์เก็ตแคป 6,269.71 ล้านบาท

 ทั้งนี้ บริษัทได้ลงทุนในโครงการโรงพยาบาลแห่งใหม่ภายใต้การบริหารของ บริษัท สายวิชัยพัฒนา จำกัด บริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 99.43% โดยโครงการมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 2,749.32 ล้านบาท ซึ่งโรงพยาบาลแห่งใหม่อยู่บริเวณพุทธมณฑลสาย 1 มีขนาด 200 เตียง ทั้งนี้การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 6 เฟส เปิดเฟสแรกปี 2569 จำนวน 60 เตียง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปีนี้

โดยยกระดับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เพื่อมอบบริการที่มีคุณภาพสูงสุดแก่ผู้ป่วย ตัวอย่างความสำเร็จ ได้แก่ ศูนย์หัวใจวิชัยเวชฯ ขยายทีมแพทย์ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอกเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ศูนย์รักษาโรคทางจอประสาทตาที่มีความยากซับซ้อนที่สาขาแยกไฟฉาย ซึ่งจะเปิดให้บริการภายใน เดือนสิงหาคม 2567 และวางแผนยกระดับคลินิกระบบการหายใจที่สาขาหนองแขม โดยให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคระบบการหายใจ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญภายในปี 2567

 

3.บริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) PHG

  • รณชิต แย้มสอาด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  • ราคา YTD ที่ +29.03%
  • P/E 17.05 เท่า 
  • P/BV 2.37 เท่า 
  • กำไรไตรมาส 1/67 ที่ 66.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.37%
  • รายได้ไตรมาส 1/67 ที่ 576.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.92% 
  • มาร์เก็ตแคป 4,800.00 ล้านบาท

PHG ประกอบธุรกิจ โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งให้บริการทางการแพทย์จำนวน 3 แห่ง ในจังหวัดปทุมธานี ได้แก่ 1.โรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2.โรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2 และ 3.โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต ซึ่งเรียกรวมว่า “กลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต” ปัจจุบันมีจำนวนเตียงจดทะเบียนรวมทั้งหมด 270 เตียง แบ่งเป็น 1. โรงพยาบาลแพทย์รังสิต จำนวน 155 เตียง 30 ห้องตรวจ เน้นกลุ่มลูกค้าโครงการสวัสดิการภาครัฐ 2. โรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2 จำนวน 59 เตียง 29 ห้องตรวจ เน้นกลุ่มลูกค้าทั่วไป และ 3. โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต จำนวน 56 เตียง 15 ห้องตรวจ

ทั้งนี้ ยังมีการให้บริการศูนย์หัวใจ 24 ชั่วโมงที่มีศักยภาพในการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด หรือ Open Heart Surgery ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการทำหัตถการรักษาหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน ระดับ 1 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งเดียวใน สปสช. เขต 4 ซึ่งประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี และนครนายก

 

4.บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) VIBHA

  • พิจิตต์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการ
  • ราคา YTD ที่ +19.55%
  • P/E 29.14 เท่า 
  • P/BV 2.30 เท่า 
  • กำไรไตรมาส 1/67 ที่ 275.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85.49%
  • รายได้ไตรมาส 1/67 ที่ 2,237.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.47% 
  • มาร์เก็ตแคป 29,052.66 ล้านบาท

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวมไว้ที่ไม่น้อยกว่า 10% จากปีก่อน เนื่องจากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันยอดคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์มีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นให้บริการลูกค้าทุกประเภทรวมถึงการพัฒนาศูนย์เฉพาะรักษาโรคเฉพาะทางต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่มีรายได้ตั้งแต่ระดับปานกลาง ไปถึงระดับบน รวมถึงลูกค้าที่ชำระด้วยเงินสด กลุ่มที่มีประกันสุขภาพ และกลุ่มลูกค้าบริษัทคู่สัญญา ให้ได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังคงมีแผนในการขยายพื้นที่และปรับปรุงประสิทธิภาพวอร์ดคนไข้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงวอร์ดที่ถูกปรับปรุงประสิทธิภาพไปแล้วจะมีการปรับค่าบริการรักษาขึ้นได้อีกเล็กน้อย

ปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลวิภารามพัฒนาการ ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้วอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตการใช้อาคาร, โรงพยาบาลวิภารามแหลมฉบัง ปัจจุบันเริ่มทำโครงสร้างโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และโรงพยาบาลวิภารามอมตะนคร อยู่ระหว่างแผนการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งยังคงเป้นไปตามแผนงานที่วางไว้

 

5.บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) PR9

  • นพ.เสถียร ภู่ประเสริฐ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการ
  • ราคา YTD ที่ +11.25%
  • P/E 23.02 เท่า 
  • P/BV 2.67 เท่า 
  • กำไรไตรมาส 1/67 ที่ 158.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.10%
  • รายได้ไตรมาส 1/67 ที่ 1,093.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.37% 
  • มาร์เก็ตแคป 13,996.14 ล้านบาท

แผนการดำเนินงานปี 2567 ว่า บริษัทปักธงขับเคลื่อนรายได้รวมเติบโต 12% ทะลุ 4,700 ล้านบาท ภายใต้การเดินหน้ากลยุทธ์ด้านการพัฒนาความเชี่ยวชาญการรักษาโรคยากซับซ้อน เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขัน ขับเคลื่อนการเติบโตต่อเนื่องแบบยั่งยืน ควบคู่ไปกับการขยายวอร์ดเพิ่มเติม รองรับผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการทำการตลาดเชิงรุกขยายฐานผู้ป่วย ทั้งชาวไทยและต่างชาติ อาทิ กัมพูชา, พม่า, สปป.ลาว และจีน รวมถึงผู้ป่วยชาวอาหรับ ที่ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกในการเข้าใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มบริการทางการแพทย์ระยะไกลผ่านแอปพลิเคชั่น Line พลิกโฉมการบริการ สู่ผู้นำศูนย์การแพทย์ดิจิทัลและบริการแพทย์ระยะไกล ผสานเทคโนโลยี AI มาใช้ในการแพทย์ พร้อมเตรียมขยายสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

6.บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) BH

  • ลินดา ลีสหะปัญญา กรรมการผู้จัดการ
  • ราคา YTD ที่ +8.56%
  • P/E 25.89 เท่า 
  • P/BV 7.43 เท่า 
  • กำไรไตรมาส 1/67 ที่ 1,984.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.36%
  • รายได้ไตรมาส 1/67 ที่ 6,627.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.37% 
  • มาร์เก็ตแคป 191,574.74 ล้านบาท

บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด ระบุว่า ผู้บริหารอยู่ระหว่างเจรจากับรัฐบาลคูเวตและคาดการณ์ว่า น่าจะกลับมาใช้ payment guarantee ตามเดิมได้ในไตรมาส 3/67 และยังคาดการณ์ว่าจะมีโรงพยาบาลที่จะได้รับอนุมัติเหลือเพียง 2-3 แห่ง ซึ่งเชื่อว่า BH จะเป็น 1 ในนั้น จึงคาดการณ์กำไรปกติปี 67 ที่ 7.80 พันล้านบาท โต 13% จากปีก่อน

อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลไตรมาส 2/67 ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตได้ YoY เนื่องจากว่า คนไข้ต่างประเทศและการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วยหนุนให้มีการฟื้นตัวขึ้น ขณะที่การโรคไข้หวัดเริ่มมีคนป่วยมากขึ้น ทำให้มีการเติบโต แต่อย่างไรก็ตาม QoQ ชะลอตัวลงตามปัจจัยฤดูกาล 

ขณะที่ในช่วงไตรมาส 3/67 เป็นฤดูการที่พีค หรือเป็นช่วงไฮซีซั่นอยู่แล้วสำหรับกลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งคาดว่า จะสามารถทำกำไรเติบโตได้ทั้ง YoY และ QoQ ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่เป็นหุ้นเด่น จะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อย่าง BDMS และ BH ส่วนโรงพยาบาลขนาดเล็กจะเป็น PR9 ที่กำไรคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ YoY 

อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลมีความโดดเด่น เนื่องจากเป็นหุ้นหลุมหลบภัยในที่ตลาดเกิดความผันผวน ในขณะที่ช่วงตลาดมีความไม่แน่นอนสูง นักลงทุนก็จะนึกถึงหุ้นในกลุ่มดังกล่าว 

วีระวัฒน์  วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟินันเซีย ไซรัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลยังคงเป็นเซกเตอร์ที่แข็งแรง แม้ว่าในไตรมาส 2/67 จะหล่นลงมา QoQ เนื่องจากปกติเป็นปัจจัยฤดูกาลที่ไตรมาส 2 จะเป็นไตรมาสที่ต่ำสุดของปี แต่พอเริ่มเข้าไตรมาส 3 จะเป็นไตรมาสที่เป็นไฮซีซั่น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหน้าฝน ขณะที่ ดูใน YoY จะมีการเติบโตทุกไตรมาสจะดีกว่าปีก่อนหน้าตลอด ซึ่งยังเป็นเซกเตอร์ที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ หุ้นที่มีความน่าสนใจในกลุ่มโรงพยาบาลจะเป็นหุ้น CHG หรือ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากราคาตั้งแต่ต้นปีปรับตัวลงมาค่อนข้างเยอะเกือบ 20% จาก 3.20 บาท ซึ่งน่าจะสะท้อนปัจจัยลบประกันสังคมไปแล้ว และ Valuation เทรดที่ระดับต่ำกว่าคู่แข่ง ขณะที่กำไรไตรมาส 2/67 คาดว่าจะเติบโตได้ YoY ได้ดีที่สุด 

“ถ้าดูโมเมนตัมเอินนิ่งไตรมาส 2 จะต่ำสุด และไตรมาส 3 จะพีค ขณะที่ไตรมาส 4 และ ไตรมาส 1 มีการเติบโตในระดับที่ดี ดังนั้นทามมิ่งที่ราคาปรับตัวลงมาแรง ๆ ก็มองว่า มีความน่าสนใจ ซึ่งในกลุ่มโรงพยาบาลก็มีการปรับลงมาเกือบทุกตัว ทั้ง BDMS CHG ดังนั้นระดับโซนนี้สามารถสะสมได้หมด”