‘หุ้นญี่ปุ่น‘ ดิ่งหนักอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของดัชนี ขาขึ้นจบแล้วรึยัง?
หุ้นญี่ปุ่น สิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ (2 ส.ค.) ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียว ปิดร่วงลงมากกว่า 2,000 จุด ทำสถิติร่วงหนักสุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของดัชนี
รองจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2530 ซึ่งเป็นวันถัดจาก "วันจันทร์ทมิฬ" (Black Monday) ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกถล่มครั้งใหญ่ โดยในวันนั้น หุ้นญี่ปุ่น ดัชนีนิกเกอิ ได้ร่วงลงถึง 3,836 จุด
ทั้งนี้ ดัชนีนิกเกอิ ปิดตลาดที่ระดับ 35,909.70 จุด ร่วงลง 2,216.63 จุด หรือ -5.81% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลง นำโดยกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มประกัน และกลุ่มธนาคาร
อันมีสาเหตุมาจาก นักลงทุนวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะถดถอย หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอ และตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่สูงเกินคาด
ในขณะที่ตลาดกำลังวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย แต่ญี่ปุ่นกลับมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยเพิ่ม เมื่อวันพุธที่ผ่านมานี้ แบงก์ชาติญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 0.25% ส่งผลให้ตลาดหุ้นโตเกียวร่วงแรงกว่าที่อื่น
ภายหลังจากดัชนีนิกเกอิทำสถิติปิดเหนือ 42,000 จุดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ท่ามกลางความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งได้อานิสงส์จากค่าเงินเยนที่อ่อนตัว ประกอบกับความคาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะทำซอฟต์แลนดิ้งได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม หลังจากการเทขายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา บรรดาโบรกเกอร์ของญี่ปุ่นหลายแห่ง มองว่าดัชนี นิกเกอิเริ่มส่งสัญญาณขายมากเกินไปในระยะสั้น แต่คาดการณ์ว่าจะมีแรงช้อนซื้อกลับเข้ามาในสัปดาห์หน้า
“ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐออกมาแย่กว่าคาด นักลงทุนอาจรับรู้ปัจจัยลบดังกล่าวไปแล้ว หากเป็นเช่นนั้นจริง อาจกลับเป็นผลดี เพราะจะเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยมากขึ้นในปีนี้ จะช่วยหนุนตลาดหุ้นในที่สุด”
“หุ้นญี่ปุ่นหมดรอบขาขึ้นแล้วหรือยัง?”
ในฝั่งมุมมองการลงทุนนักวิเคราะห์ประเทศไทย “ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี มองว่า ตลาดโลกส่วนใหญ่ประเมินว่า จากระดับดัชนีในปัจจุบัน ตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีอัพไซด์ไม่มากหลังจากตลาดปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับความเห็นของนายวอร์เรน บัฟเฟ็ตต์ นักลงทุนชั้นนำของโลก ที่ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น รวมถึงความคาดหวังต่อผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มแข็งแกร่ง และการกระตุ้นจากภาครัฐให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์นำเงินมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เช่น นำเงินไปลงทุน หรือนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้มากขึ้น
หาก นักลงทุน ยังไม่มั่นใจถึงทิศทางตลาด เราแนะนำว่า "นักลงทุนอาจรอดูสถานการณ์หรือรอให้ตลาดปรับตัวลงมาอยู่ในจุดที่สามารถคาดหวังผลตอบแทนได้มากขึ้นก่อนตัดสินใจเข้าลงทุน"
โดยรอปัจจัยอื่นๆที่อาจส่งผลบวกหรือผลลบต่อตลาด เช่น การฟื้นตัวของการค้าโลก การเติบโตของบริษัทญี่ปุ่นจากการนำเงินออกมาใช้ลงทุนมากขึ้น การเพิ่มอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผล เป็นต้น ดังนั้น นักลงทุนจึงควรติดตามและศึกษาข้อมูลอย่างใกล้ชิด
ทางด้าน นักวิเคราะห์ “K WEALTH” มองว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นรับข่าวปัจจัยบวกไปแล้ว และใช้นโยบายการเงินตรึงตัวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดวงเงินซื้อพันธบัตร จะเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้
เมื่อประกอบกับอัตราส่วน P/E ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ขึ้นมาแตะระดับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง มองว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่น มี Upside เหลือไม่มาก จึงมีมุมมองเป็น กลาง( Neutral ) ต่อการลงทุนตลาดหุ้นญี่ปุ่น
นักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นญี่ปุ่น ยังแนะนำเป็นกองทุนอื่นๆแทน แต่นักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นญี่ปุ่นอยู่แล้ว แนะนำถือลงทุนต่อหรือหากมีกำไรมากกว่า 10% แนะนำให้ทยอยขายทำกำไร
อย่างไรก็ดี ในช่วงตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลงหนัก แต่ผลตอบแทนของ กองทุนหุ้นญี่ปุ่น ยังทำผลงานเป็นบวกมากกว่า 10% จังหวะเช่นนี้อาจมีแรงขายทำกำไรออกมาก่อน จนกว่ามีปัจจัยใหม่ กลับมาหนุนพื้นฐานให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เป็นขาขึ้นรอบใหม่
ในช่วงนักลงทุนรอดูสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์หน้าชัดเจนขึ้น ลองมาส่อง 10 อันดับกองทุนหุ้นญี่ปุ่น ยังคงให้ผลตอบแทน (YTD) โดดเด่นเหนือตลาด จาก มอร์นิ่งตาร์รีเสิร์ช(ประเทศไทย) ณ 1 ส.ค.2567 พบดังนี้