AJA ยกเลิกซื้อเพิ่มทุน SABUY ชี้เหตุราคาไม่เหมาะสม

AJA ยกเลิกซื้อเพิ่มทุน SABUY ชี้เหตุราคาไม่เหมาะสม

AJA ยกเลิกแผนเข้าลงทุนหุ้นสามัญเพิ่มทุน SABUY หลังที่ปรึกษาการเงินอิสระเห็นราคาไม่เหมาะสม บอร์ดจึงยกเลิกมติเกี่ยวเนื่องตามไปด้วยรวมถึงการขายหุ้นกู้ให้ AO Fund ขณะที่งบ Q2/67 ขาดทุน เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มทั้งค่าไฟขุดเงินดิจิทัล และค่าดำเนินการธุรกิจอุปกรณ์กีฬา

นายพิชัย ปัญจสังข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (AJA) แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 9/67 เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567 ได้ยกเลิกมติของคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 7/67 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567 เกี่ยวกับการเข้าลงทุนในหุ้น บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (SABUY) รวมถึงยกเลิกมติอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

สืบเนื่องจากคณะกรรมการบริษัทได้รับทราบผลการประเมินมูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญ SABUY และความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระซึ่งเห็นว่าราคาที่บริษัทจะเข้าทำรายการในครั้งนี้ไม่เหมาะสม
 

ทั้งนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับความเห็นของที่ปรึกษาการเงินอิสระ เพื่อมิให้บริษัทต้องรับความเสี่ยงและผลกระทบจากการเข้าทำรายการดังกล่าว จึงเห็นสมควรยกเลิกมติของคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 7/2567 โดยมีมติที่สำคัญดังต่อไปนี้

1. ยกเลิกมติการเข้าลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุน SABUY (จำนวนไม่เกิน 700,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 21.33)
2. ยกเลิกมติการออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง คือ Advance Opportunities Fund VCC (AO Fund) และ / หรือ Advance Opportunities Fund 1 (AO Fund 1)
3. ยกเลิกมติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท
4. ยกเลิกมติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท เพื่อรองรับการออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง
5. ยกเลิกมติเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2567 วันที่ 5 ก.ย. 2567
6. ยกเลิกมติการกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นสำหรับการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567

พร้อมกันนี้ AJA ยังแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกปี 2567 โดยยังคงขาดทุนดังนี้

ไตรมาส 2/2567 ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ขาดทุนเท่ากับ 35.61 ล้านบาท จากไตรมาสที่ 2/2566 ที่ขาดทุน 3.31 ล้านบาท รวม 6 เดือนแรกปี 2567 เท่ากับขาดทุน 16.70 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 8.69 ล้านบาท

แม้รายได้รวมจะขยายตัวได้ แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นตามทั้งต้นทุนเหมืองขุดเหรียญสกุลดิจิทัลที่แบกรับภาระค่าไฟฟ้ามากกว่าเดิม ต้นทุนธุรกิจจำหน่ายรองเท้ากีฬาและอุปกรณ์กีฬาในบริษัทย่อยมีการขยายธุรกิจจึงมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและค่าเช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าเพิ่ม รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาดสำหรับสินค้าของกลุ่มบริษัทที่เพิ่มขึ้น