CPALL กำไร Q2/67 อยู่ที่ 6.2 พันล้าน บวก 40.5% คาดทั้งปีรายได้โตใกล้เคียง GDP
"ซีพี ออลล์" กำไรสุทธิ Q2/67 อยู่ที่ 6.2 พันล้าน เพิ่ม 40% รวม 6 เดือนแรก 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่ม 46% รายได้รวม 2.4 แสนล้าน โต 6.9% คาดรายได้ทั้งปีโตใกล้เคียง GDP ประเทศ ปีนี้ลงทุนรวม 1.3 หมื่นล้าน เปิด 700 สาขาใหม่ในประเทศ รุกเพิ่มสาขาที่กัมพูชา-ลาว
นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า งบการเงินไตรมาสที่ 2/2567 กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่เท่ากับ 6,239.48 ล้านบาท จากไตรมาสที่ 2/2566 ที่ทำได้ 4,438.40 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่ม 40.58%
รวม 6 เดือนแรกปี 2567 เท่ากับ 12,558.87 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 8,561.18 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่ม 46.68%
- รายได้รวมไตรมาส 2/2567 ที่ 248,026 ล้านบาท
คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2567 ระบุว่า ในไตรมาส 2 ปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 248,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 6.9 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายสินค้าของทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ตามการบริโภคภายในประเทศที่ยังมีการขยายตัว
รวมถึงการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้ที่ปรับตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งสร้างบรรยากาศที่ดีในการจับจ่ายใช้สอย
นอกจากนี้กลยุทธ์ O2O ของแต่ละหน่วยธุรกิจยังคงเป็นปัจจัยเสริมในการเติบโตของรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
ในไตรมาส 2 ปี 2567 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จำนวน 12,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 6,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ ประกอบกับการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค มีต้นทุนทางการเงินลดลงจากการบริหารจัดการหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับกำไรต่อหุ้นตามงบการเงินรวมในไตรมาส 2 ปี 2567 มีจำนวนเท่ากับ 0.68 บาท
คาดการณ์และแนวโน้มธุรกิจร้านสะดวกซื้อในปี 2567
- เปิดสาขาใหม่ในไทย 700 แห่ง รุกกัมพูชา-ลาว
บริษัทวางแผนที่จะพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการ ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งรวมถึงการขยายเครือข่ายร้านสาขาต่อเนื่องไปตามการขยายตัวของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แหล่งท่องเที่ยว และทำเลที่มีศักยภาพอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด
โดยบริษัทวางแผนที่จะลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่ในประเทศไทยอีกประมาณ 700 สาขาในปี 2567 และมีเป้าหมายที่จะเปิดร้านใหม่เพิ่มในประเทศกัมพูชา และในสปป.ลาวในปี 2567 อีกด้วย
ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเปิดร้านสาขาใหม่รวมทั้งสิ้น 124 สาขา ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 บริษัทมีจำนวนร้านสาขาทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 14,854 สาขา
และ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในประเทศกัมพูชา รวมทั้งสิ้น 87 สาขาและมีสาขาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 6 สาขา
- คาดรายได้โตใกล้เคียง GDP ประเทศ
ประมาณการรายได้จากการขายและบริการจะมีอัตราการเติบโตของรายได้ ส่วนใหญ่มาจากอัตราการเติบโตของยอดขายจากร้านสาขาใหม่ และอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ยจากร้านเดิม รวมถึงยอดขายจากช่องทางอื่นๆ อาทิ 7Delivery และ All Online
ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ ระดับของอัตราเงินเฟ้อ ราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และ การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น
- เน้นขายสินค้ากำไรสูง
บริษัทตั้งเป้าขยายอัตรากำไรขั้นต้นให้ได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเน้นการพัฒนาระบบในการคัดสรรสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และผลักดันให้มีสัดส่วนของสินค้าที่กำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น ทั้งจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มและสินค้าอุปโภค
- ลงทุน 13,000 ล้านบาท
ประมาณการงบลงทุนคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 12,000 – 13,000 ล้านบาท ดังนี้
-การเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800 - 4,000 ล้านบาท
-การปรับปรุงร้านเดิม 2,900 - 3,500 ล้านบาท
-โครงการใหม่, บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000 - 4,100 ล้านบาท
-สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300 - 1,400 ล้านบาท