BDMS กำไร Q2/67 อยู่ที่ 3.3 พันล้าน โต 9% ผู้ป่วยไทย-เทศเพิ่ม ดอกเบี้ยจ่ายลด
"กรุงเทพดุสิตเวชการ" เปิดกำไรสุทธิ Q2/67 อยู่ที่ 3.3 พันล้าน โต 9% ผู้ป่วยชาวไทย และต่างประเทศเพิ่ม บริหารการเงินมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้สิทธิประโยชน์บีโอไอ
นางนฤมล น้อยอ่ำ กรรมการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า งบการเงินไตรมาสที่ 2/2567 กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่เท่ากับ 3,334.86 ล้านบาท จากไตรมาสที่ 2/2566 ที่ทำได้ 3,051.72 ล้านบาท
รวม 6 เดือนแรกปี 2567 เท่ากับ 7,408.37 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 6,519.54 ล้านบาท
คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการระบุว่า บริษัทและบริษัทย่อย (บริษัท) มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 26,058 ล้านบาท เติบโต 7% จากไตรมาส 2/2566 มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่ารักษาพยาบาล 7% เป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้จากผู้ป่วยชาวไทย 5 % และรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติ 11% จากไตรมาส 2/2566
บริษัทกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 5,751 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% และมีกำไรสุทธิ จำนวน 3,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาส 2/2566 จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ
ประกอบกับการลดลงของดอกเบี้ยจ่าย จากการบริหารเงินที่มีประสิทธิภาพ และการลดลงของค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายทางการเงิน ลดลงเป็น 111 ล้านบาท หรือลดลง 18% จากไตรมาส 2/2566 จากการบริหารเงินสดภายในกิจการที่ใช้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน
ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 756 ล้านบาท ลดลง 8% จากไตรมาส 2/2566 จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจาก BOI ในโครงการการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ (Digital Core Transformation Project) และโครงการประหยัดพลังงาน
การเติบโตของรายได้จากผู้ป่วยชาวไทย 5% และการเติบโตของรายได้ผู้ป่วยชาวต่างชาติ 11% โดยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยชาวการ์ตา 66% ชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 32% และชาวอเมริกัน 31% จากไตรมาส 2/2566
ทั้งนี้ รายได้ผู้ป่วยชาวไทยในไตรมาส 2/2567 เติบโตไม่สูงนักจากไตรมาส 2/2567 เนื่องจากมีวันหยุดยาวติดต่อกันมากกว่าทุกปี ผู้ที่ประสงค์เดินทางท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาวจึงเลื่อนการรักษาออกไป นอกจากนี้ในไตรมาส 2/2566 รายได้ผู้ป่วยชาวไทยอยู่ในระดับสูงกว่าปกติเนื่องจากมีโรคระบาด เช่น โรคท้องเสียโนโรไวรัส (ในจังหวัดภูเก็ต) โรคไข้เลือดออก และ COVID-19
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สัดส่วนรายได้ของผู้ป่วยชาวไทยต่อผู้ป่วยชาวต่างชาติเปลี่ยนแปลงจาก 74% ต่อ 26% ในไตรมาส 2/2566 เป็น 73% ต่อ 27% ในไตรมาส 2/2567