FSMART เพิ่มเป้าปล่อยสินเชื่อเป็น 1 พันล้าน ขยายบริการต่างด้าว ฝาก-โอน 24 ชม.

FSMART เพิ่มเป้าปล่อยสินเชื่อเป็น 1 พันล้าน ขยายบริการต่างด้าว ฝาก-โอน 24 ชม.

"ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส" เพิ่มเป้าปล่อยสินเชื่อปี 67 จากเดิม 800 ล้านบาท เป็น 1 พันล้านบาท โตเท่าตัวจากปีก่อน หลังผลงานครึ่งปีแรกโตชัด เผยพอร์ตสินเชื่อองค์กรใหญ่ระดับ 1 ล้านรายเพิ่ม 100 ล้านบาทต่อเดือน พร้อมกับจะเพิ่มบริการสำหรับลูกค้าต่างด้าวกลุ่ม CLMV ฝาก-โอนเงิน 24 ชม.

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (FSMART) เปิดเผยว่า บริษัทจะเพิ่มวงเงินสินเชื่อรวมปีนี้เป็น 1,000 ล้านบาทคิดเป็นการเติบโตเท่าตัว จากเดิมที่ตั้งไว้ทั้งปีประมาณ 500-800 ล้านบาท เนื่องจากในครึ่งปีแรกบริษัทสามารถบริหารจัดการกลุ่มธุรกิจการเงินและสินเชื่อครบวงจรให้มีการเติบโตอย่างชัดเจน

โดยธุรกิจสินเชื่อถือเป็นหนึ่งใน S-Curve ของบริษัท โดยพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลของสมาชิกองค์กรขนาดใหญ่ที่มีสมาชิก 1 ล้านราย มีอัตราการเพิ่มขึ้นเดือนละ 100 ล้านบาทต่อเดือน จากการปล่อยวงเงินสินเชื่อให้กับสมาชิกเพียง 80,000 ราย หรือวงเงินประมาณ 600 ล้านบาท

การเพิ่มวงเงินดังกล่าวจะช่วยให้สมาชิกที่เหลือในองค์กรสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขหักชำระหนี้ผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารทุกเดือนเพื่อลดความเสี่ยงด้านการติดตามหนี้และหนี้สูญ

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้กับองค์กรขนาดใหญ่องค์กรใหม่ที่มีขนาดใกล้เคียงกันเร็วๆ นี้

ขณะเดียวกัน บริษัทจะเพิ่มบริการสำหรับลูกค้าต่างด้าว (CLMV) ทำรายการฝากเงินและโอนเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเพิ่มช่องทางเคาน์เตอร์แคชเชียร์อีกอย่างน้อย 1 รายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้นจากที่มีอยู่ 3,200 จุดทั่วประเทศ
 

สำหรับธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินอัตโนมัติ บริษัทได้เพิ่มค่าบริการเติมเงินมือถือจากเดิมที่ไม่มีการเก็บค่าบริการสำหรับการเติมเงิน 100 บาทในช่วงหลายปี อีกทั้งเพิ่มบริการที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้งาน อาทิ บริการแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือที่มียอดการใช้บริการมากขึ้น การเติมเงินเข้า Wallet และบริการอื่นที่หลากหลาย

โดยยังคงเน้นให้ช่องทางบุญเติมเป็นธนาคารชุมชนที่ให้บริการทางการเงินครบวงจรช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มลูกค้าให้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถรักษาฐานรายได้ในกลุ่มธุรกิจนี้นอกเหนือจากการเติมเงิน

อีกทั้งบริษัทยังทำการตลาดเชิงรุกในธุรกิจเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า GINKA Charge point เพื่อขยายการติดตั้งในพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยการลงทุนให้กับร้านอาหารประจำจังหวัดที่มีศักยภาพ รองรับลูกค้าให้มีสถานที่ชาร์จรถยนต์ระหว่างใช้บริการในร้านอาหาร คาเฟ่ หรือแวะพักระหว่างการเดินทาง

ถือเป็นการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถให้เกิดรายได้ให้กับร้านที่ติดตั้ง พร้อมจัดหาสินเชื่อให้กับเจ้าของพื้นที่ที่ต้องการเปลี่ยนที่ว่างเป็นรายได้เพื่อลงทุนกับ GINKA หรือผู้ที่สนใจเป็นตัวแทนให้กับ GINKA เช่นเดียวกับตัวแทนของบุญเติมทั่วประเทศก่อนหน้านี้ เชื่อว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยขยายฐานการติดตั้งเพิ่มขึ้น รองรับการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายติดตั้ง 1,000 สถานีภายใน 2 ปี