8 หุ้นบิ๊กเทคจีนโตชะลอตัว สะท้อนกำลังซื้อซบหนัก ดับหวังตลาดหุ้นจีนฟื้น
8 หุ้นบิ้กเทคจีน นำทีมบริษัทในตลาดหุ้นจีนรายงานผลประกอบการชะลอตัว สะท้อนกำลังซื้อซบเซา กดดันกำไรต่อหุ้นต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาส ดับหวังตลาดหุ้นจีนฟื้นตัว ‘เจพีมอร์แกน’ ลดน้ำหนักหุ้นจีน หวั่นสงครามการค้าหลังเลือกตั้งสหรัฐรุนแรง
KEY
POINTS
- MSCI China ร่วงหนัก 13% และ CSI 300 ลดลง 5.2% จากนิวไฮในเดือน พ.ค. ทำผลงานแย่ที่สุดของโลกในปีนี้
-
กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ 8 แห่งของจีนเติบโตชะลอตัว สะท้อนข้อจำกัดในการเพิ่มอัตรากำไร หากไม่มีการเติบโตของยอดขาย
-
กองทุนรวมทั่วโลกได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนลงเหลือเพียง 5.2% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี
-
'เจพีมอร์แกน' ได้ปรับลดการจัดอันดับหุ้นจีน กังวลความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากการเลือกตั้งสหรัฐในเดือนพ.ย.
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตลาดหุ้นจีนกำลังเผชิญกับความผันผวนรุนแรง หลังจากผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ออกมาไม่ดีนัก ยิ่งตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการบริโภคที่ยังคงซบเซา อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
ดัชนี MSCI China ร่วงหนัก 13% และ CSI 300 ลดลง 5.2% มาเคลื่อนไหวที่ระดับ 3,255 จุด จากนิวไฮในเดือน พ.ค. ทำให้ตลาดหุ้นจีนเผชิญภาวะตกต่ำรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี และเป็นตลาดหุ้นที่มีผลประกอบการแย่ที่สุดของโลกในปีนี้หลังปรับตัวลดลงเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
ขณะเดียวกัน กำไรต่อหุ้นของดัชนี MSCI China ลดลงถึง 4.5% จากปีก่อน ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ไตรมาส ตามข้อมูลจาก Bloomberg Intelligence สะท้อนความอ่อนแอของภาคเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนทั้ง 8 แห่ง ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของตลาดหุ้น
นอกจากนี้ การเติบโตของกำไรต่อหุ้นโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนในจีนที่ชะลอตัว โดยอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นที่ลดลงเหลือเพียง 19% ถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565
รายได้ 8 บิ้กเทคจีน สะท้อนกำลังซื้อย่ำแย่
มินหยู ยู ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจาก BNP Paribas Asset Management ชี้ว่า ปัญหาหลักที่กดดันผลประกอบการของบริษัทจีนในขณะนี้คือ “กำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง” โดยเฉพาะภาคเทคโนโลยีที่เน้นผู้บริโภค ซึ่งเคยเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน นักลงทุนจึงมีความคาดหวังว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนและตรงจุดมากขึ้นเพื่อช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นและกระตุ้นการบริโภค
มาร์วิน เฉิน นักวิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence กล่าวว่า แนวโน้มยอดขายของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งบ่งชี้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงอ่อนแอ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นของตลาดซบเซาในปัจจุบัน นอกจากนี้การเติบโตที่ชะลอตัวของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ 8 แห่งของจีนอาจสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในการเพิ่มอัตรากำไรหากไม่มีการเติบโตของยอดขายโดยรวม
มูลค่าของตลาดหุ้นของบริษัทพินตัวตัว (PDD Holdings) ร่วงลงกว่า 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงอาลีบาบา( Alibaba) รายงานการเติบโตของรายได้ที่แย่กว่าคาดการณ์สำหรับไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ทำให้นักลงทุนต่างวิตกกังวลอย่างมากต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจจีน เนื่องจาก PDD เป็นตัวแทนสำคัญของบริษัทอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศจีน
นอกจากนี้ ภาพรวมของรายได้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ดูไม่สู้ดีนัก โดยภาคอสังหาริมทรัพย์และสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนประสบปัญหาหนักที่สุดในช่วงผลประกอบการล่าสุด เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ เช่น ไชน่า แวนกี้ (China Vanke)ต้องตกอยู่ในภาวะขาดทุนครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ขณะที่บริษัทค้าปลีกอย่าง หลี่ หนิง (Li Ning) ก็ต้องปรับลดเป้าหมายยอดขาย สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของภาคธุรกิจเหล่านี้
ส่วนภาคธนาคารยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากการลดลงของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) หดตัวลงอย่างต่อเนื่องและความต้องการสินเชื่อที่ลดลงยิ่งซ้ำเติมให้อัตรากำไรลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ราคา 'หุ้นจีน' ในสหรัฐดิ่งหนัก
“หุ้นจีน” ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐมีราคาซื้อขายต่ำกว่าหุ้นอื่นๆ มาก เมื่อเทียบกับดัชนี Nasdaq 100 Index เนื่องจากความกังวลเริ่องเศรษฐกิจจีน
อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E ratio) ของดัชนี Nasdaq Golden Dragon Index ซึ่งติดตามบริษัทจีนรายใหญ่ที่จดทะเบียนในนิวยอร์ก อยู่ใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดัชนีเทคโนโลยี ซึ่งดัชนี Nasdaq Golden Dragon Index ลดลงประมาณ 20% จากระดับสูงสุดในเดือนพ.ค.
ข้อมูลจาก Goldman Sachs เผยให้เห็นว่า ณ สิ้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา กองทุนรวมทั่วโลกได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนลงเหลือเพียง 5.2% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยลดทยอยพอร์ตหุ้นจีนก่อนเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด
เจพีมอร์แกนหั่นน้ำหนักลงทุน ‘หุ้นจีน’
การวิเคราะห์ของ Bloomberg Intelligence ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มการเติบโตของกำไรต่อหุ้นของบริษัทจีนจดทะเบียนใน MSCI China ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปรับลดจาก 15% ต้นปี เหลือเพียง 11% ในปัจจุบัน ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน
ขณะเดียวกัน เจพีมอร์แกน เชส (JPMorgan Chase) ยกเลิกคำแนะนำให้ซื้อหุ้นจีน โดยอ้างถึงความผันผวนที่เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งสหรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้น และการเติบโตที่ชะลอตัวพร้อมกับการสนับสนุนนโยบายที่ไม่เข้มข้นนัก
เปโดร มาร์ตินส์ จากเจพีมอร์แกนได้ปรับลดการจัดอันดับหุ้นจีนจาก "น่าลงทุน" เป็น "กลาง" โดยระบุว่าความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังไม่แข็งแรง เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจครั้งนี้ ขณะที่การเคลื่อนไหวของจีนในการดึงตัวเองออกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยังคง "ไม่น่าประทับใจ"
“หากเกิดสงครามภาษีศุลกากรครั้งใหม่ โดยมีการปรับขึ้นอัตราภาษีจาก 20% เป็น 60% จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจจีนมากกว่าครั้งก่อน เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนตึงเครียดมากขึ้น ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะยาวชะลอตัวลง” มาร์ตินส์กล่าว
นอกจากนี้ เจพีมอร์แกน ร่วมกับบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่างยูบีเอส (UBS Global Wealth Management) และโนมูระ (Nomura Holdings) ลดความคาดหวังต่อตลาดหุ้นจีนลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในจีนซบเซาลงไปอีก
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ต่างออกมาคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่าจีนจะไม่บรรลุเป้าหมายการเติบโตประมาณ 5% ในปีนี้ พร้อมกับหันความสนใจของนักลงทุนไปยังตลาดอื่น
อ้างอิง Bloomberg1 Bloomberg2 Bloomberg3