'เงินติดล้อ' เร่งปลดล็อกการโต ทลาย'ข้อจำกัด' ธุรกิจสินเชื่อ

'เงินติดล้อ' เร่งปลดล็อกการโต ทลาย'ข้อจำกัด' ธุรกิจสินเชื่อ

นับตั้งแต่ก้าวแรกที่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สภาพแวดล้อมภายนอก ยังไม่สู้ดีนักทัั้ง การชะลอตัวเศรษฐกิจไทย และ หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูง ล้วนเป็นความ “ท้าทาย” ของธุรกิจ 

แต่สำหรับ “เงินติดล้อ” ผลประกอบการยังคง “เติบโต” และ “สร้างกำไร” ต่ออย่างแข็งแกร่ง  ณ  ไตรมาส 2 ปี 2567 ยอดสินเชื่อ 103,000 ล้านบาท โต 18% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และโต 23% ตั้งแต่ปี 2563-2566 ขณะที่เบี้ยประกันที่ 2,300 ล้านบาท โต 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และโต 25% นับตั้งแต่ปี 2563-2566 ณ สิ้นปี 2566 ที่ 8,700 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,100 ล้านบาท โต 18% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และโต 16% ตั้งแต่ปี 2563-2566 ณ สิ้นปี 2566 ที่ 3,800 ล้านบาท

โดย “เงินติดล้อ” มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาที่ 1.86% ถือว่ายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาดที่ 2.5% และตั้งสำรองในระดับสูงที่ 2.2 เท่า ของเอ็นพีแอลประกอบกับมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

มีการลงทุนในเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ส่งผลดีต่อต้นทุนต่อรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 50% ช่วงปี 2563-2566 และมองแนวโน้มต้นทุนต่อรายได้ลดลงผสานกับการขยายสาขาอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการพึ่งพาสาขาลดลง และหันมาสร้างการเติบโตบนข้อมูล และเทคโนโลยี ปัจจุบันมีฐานลูกค้าถึง 1 ล้านราย จาก 5-6 แสนรายช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

\'เงินติดล้อ\' เร่งปลดล็อกการโต ทลาย\'ข้อจำกัด\' ธุรกิจสินเชื่อ

ประกอบกับ ความสำเร็จภาพรวมธุรกิจประกัน ด้วยการดำเนินงาน “ธุรกิจใหม่” จากแบรนด์ “อารีเกเตอร์” (Areegator) แพลตฟอร์มเสนอขายประกันออน์ไลน์ และแบรนด์ “เฮ้กู๊ดดี้” (heygoody) แพลตฟอร์มนายหน้าดิจิทัลเติบโตมากกว่าภาพรวมตลาดถึง “10 เท่า”

“ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ TIDLOR กล่าวว่า ถึงเวลาที่เงินติดล้อจะสร้าง “แต้มต่อ” และ “เติมเต็ม” สิ่งที่เรียกว่า “TIDLOR Ecosystem” รอบรับการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนยิ่งขึ้น และทลายข้อจำกัดในการขยายธุรกิจใหม่พร้อมกับสานเป้าหมายวางไว้ตั้งแต่เข้า IPO สะท้อนการมองหา “โอกาสขยายธุรกิจในต่างประเทศ” 

 

ดังนั้น ก้าวต่อไปของ เงินติดล้อ เดินหน้า “ปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท” เป็น “Holding Company” ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามกำหนดที่วางไว้ คาดว่า “ติดล้อ โฮลดิ้งส์” จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท (Tender Offer) จากผู้ถือหุ้นเดิม โดยวิธีการแลกหุ้นที่อัตรา 1 : 1 ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ และในปีหน้าบริษัทจะโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ในรูปแบบ Insur Tech ได้แก่ AREEGATOR และ heygoody รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปอยู่ภายใต้ ติดล้อ โฮลดิ้งส์

ทั้งนี้ ยอมรับว่าในปี 2567 ด้วย “ข้อจำกัด” ในการขยายธุรกิจ “สินเชื่อ” ดังนั้น บริษัทจึงได้ “ปรับลดเป้าเติบโต” ของสินเชื่อมาอยู่ในกรอบล่างระดับ 10-15% จากเป้าหมายเดิมที่ระดับ 10-20% โดยยังต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้ง หลังเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะรอดูความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตระยะข้างหน้า

ดังนั้น สิ่งที่ต้องโฟกัสคือ “การขยายตัวของจีดีพีไทย” สะท้อนภาพว่า “ตราบใดที่จีดีพีไทยยังไม่โต คงยังไม่เห็นธุรกิจการเงินปล่อยสินเชื่อง่ายๆ และยิ่งกดดันหนี้ครัวเรือนให้อยู่ระดับสูง 80-90% ของจีดีพีต่อไป !”

ขณะเดียวกัน การปล่อยสินเชื่อของ “ธุรกิจจำนำทะเบียน” ก็ยัง “มีข้อจำกัด” ถูกกำหนดด้วยเพดานดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ยังต้องคัดเลือกกลุ่มลูกค้าหรือลูกหนี้ที่ไม่อ่อนแอจนเกินไป เพื่อสร้างพอร์ตสินเชื่อคุณภาพใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเข้ามาคัดกรองและช่วยลดต้นทุน คุม NPL ไม่เกิน 2% และหากมีเพดานดอกเบี้ยที่คุ้มทุน ช่วยทำให้ธุรกิจสินเชื่อไปรอดไปได้  

ส่วน “ธุรกิจประกันภัย” ควรมีการจัดตั้ง “อินชัวรันส์ บูโร” เป็นฐานข้อมูลกลางในการกำหนดเบี้ยประกันและในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะซื้อธุรกิจประกันที่เข้าตาด้วยเช่นกัน รวมถึง มองหาโอกาสอยู่เสมอ “ขยายธุรกิจในต่างประเทศ” โดยรอจังหวะที่เหมาะสมเป็นหลักคาดจะนำ “ธุรกิจสินเชื่อ” ที่มีความพร้อมอยู่แล้วไปขยายธุรกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิอาเซียน เน้นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก และมีเสถียรภาพการพัฒนาด้านการเงินน้อยกว่าไทย เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีความน่าสนใจ

“การสร้างรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจปีหน้าอันดับหนึ่งยังเป็นธุรกิจเงินติดล้อในฝั่งของสินเชื่อ ส่วนธุรกิจประกันภัยมองว่าจะค่อยๆ เติบโตสูงอย่างแข็งแกร่งในปีนี้มั่นใจเบี้ยรับรวมแตะ 10,000 ล้านบาท โต 20% จากสิ้นปีก่อนที่ 8,700 ล้านบาท”

ส่วนการปรับเปลี่ยนธุรกิจเป็นโฮลดิ้งในครั้งนี้ เพื่อต้องการ “ลดต้นทุน” การเงินจากการจ่ายเงินปันผลในลักษณะหุ้นปันผล เนื่องจากปันผลดังกล่าวทำให้ “เงินติดล้อ” มีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยต่อปีสูงถึงกว่า 80-100 ล้านบาท หากนำต้นทุนการเงินดังกล่าวไปลงทุนด้านอื่นที่สามารถสร้างกำไรให้บริษัทเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่ง ช่วยสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นและบริษัทอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทจ่ายปันผลเงินสดบวกปันผลหุ้น Dividend เฉลี่ยรวมกันสูงถึง 8% และหลังจากเป็นโฮลดิ้งเงินปันผลเป็นเงินสดบริษัทยังจ่ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า 20% ของกำไรสุทธิ ดังนั้น การเป็นโฮลดิ้งทำให้ปัญหาการจ่ายปันผลเป็นหุ้นหมดไป อย่างไรก็ตามรับว่าการไม่มีการจ่ายปันผลเป็นหุ้น ทำให้สัดส่วนหุ้นลดลงตาม ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นรายย่อยประมาณ 60,000 ราย ซึ่งหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการปรับเปลี่ยนธุรกิจเป็นโฮลดิ้งจะสามารถ “ลดความสับสน” ของนักลงทุนจากการจ่ายหุ้นปันผลได้ 

โดยโครงสร้างใหม่จะช่วยสร้างการเติบโตระยะยาว เนื่องจากเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจทั้ง “สินเชื่อและนายหน้าประกัน” เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ หรือการร่วมลงทุนอีกด้วย 

“โครงสร้างแบบ Hold Holding Company ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มระยะยาว เพิ่มความสามารถแข่งขันธุรกิจได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพิ่มโอกาสสร้างพันธมิตรธุรกิจผ่านควบรวมหรือร่วมลงทุน”

ดังนั้น การปรับโครงสร้างครั้งนี้จะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ Insur Tech Platform ในอนาคต โดยบริษัทจะทำการโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ Insur Tech Platform รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้แก่บริษัทใหม่ ภายหลังจากที่หุ้นสามัญของติดล้อ โฮลดิ้งส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหลังจากการโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้วเสร็จ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะเข้าซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ ในสัดส่วน 99.99%

ท้ายสุด “ปิยะศักดิ์” บอกไว้ว่า การจัดตั้งบริษัทใหม่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของโครงสร้างการจัดการองค์กรให้เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจของแต่ละธุรกิจ และเพื่อให้มีการแบ่งแยกการกำกับดูแลและบริหารและจำกัดความเสี่ยงแต่ละธุรกิจที่มีลักษณะต่างกันได้