ACC แจงขายเงินลงทุน "เอซีซี แคนนาบิส" ทยอยรับรู้ 34 ล้าน รับก้อนแรก 5 ล้าน
ACC แจงงบ Q2/67 กรณีบันทึกขาดทุน 11.89 ล้าน จากขายเงินลงทุน "เอซีซี แคนนาบิส" ระบุบจะทยอยรับรู้ 34 ล้าน รับก้อนแรก 27 มิ.ย. 67 แล้ว 5 ล้าน และได้เช็กล่วงหน้า 4 ฉบับแบ่งเป็น 1 ล้าน 3 ฉบับลงวันที่ 27 ก.ย. 67 / 27 ธ.ค. 67 / 27 มี.ค. 68 และ 26 ล้าน 1 ฉบับ 27 มิ.ย. 68
นายวิเชียร เอื้อสงวนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ คอนเนคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ACC) แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า สืบเนื่องจาก งบไตรมาส 2/2567 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่มีกรณีการขายหุ้นบริษัท เอซีซี แคนนาบิส จำกัด
โดยในงบไตรมาสดังกล่าวระบุ การจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท เอซีซี แคนนาบิส จำกัด เกิดผลขาดทุนจำนวน 11.89 ล้านบาทนั้น
การขายเงินลงทุนในบริษัท เอซีซี แคนนาบิส จำกัด ในราคา 34 ล้านบาท ได้รับชำระแล้วจำนวน 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 คงเหลือ 29.00 ล้านบาท ชำระเป็นเช็กลงวันที่ล่วงหน้าจำนวน 4 ฉบับ แบ่งเป็นเช็กจำนวน 1 ล้านบาท รวม 3 ฉบับ ลงวันที่ 27 กันยายน 2567, 27 ธันวาคม 2567 และ 27 มีนาคม 2568
ฉบับสุดท้ายจำนวน 26 ล้านบาท ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2568
ทั้งนี้ บริษัทจะแจ้งผู้ซื้อก่อนวันครบกำหนดล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ซื้อจัดเตรียมเงิน บริษัทจะรายงานความคืบหน้าการรับชำระพร้อมกับการส่งงบการเงินจนกว่าบริษัทได้รับเงินครบถ้วน
ขณะที่งบการเงินในภาพรวมไตรมาส 2/2567 มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 39.04 ล้านบาท แต่ในรอบระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิ 23.68 ล้านบาท คิดเป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.84 มีสาเหตุหลักมาจาก
รายได้จากการขายและการให้บริการ จำนวน 17.14 ล้านบาท ลดลงจำนวน 43.81 ล้านบาท
1. บริษัทหยุดธุรกิจส่งออกผลไม้สดตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เนื่องจากส่งออกผลไม้สดไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ราคาสินค้าถูกกำหนดโดยผู้ซื้อเมื่อสินค้าส่งถึงปลายทางตามราคาตลาด ณ วันที่สินค้าถึงปลายทาง ส่งผลให้เกิดผลขาดทุนขั้นต้น การหยุดธุรกิจส่งออกผลไม้ทำให้รายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายลดลงกว่าร้อยละ 87 และรายได้จากการขายและให้บริการรวมลดลงร้อยละ 30 กำไรขั้นต้นปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 319
แต่ส่งผลดีต่อผลประกอบการโดยรวมเนื่องจากที่ผ่านมาการส่งออกผลไม้สดส่งผลให้ธุรกิจจัดจำหน่ายเกิดผลขาดทุนขั้นต้น และจากการหยุดธุรกิจส่งออกผลไม้สดส่งผลให้งบการเงินไตรมาส 2/2567 ทั้งนี้บริษัทไม่มีรายการค่าเผื่อการด้อยค่าสินทรัพย์จากการหยุดประกอบธุรกิจส่งออกผลไม้สด เนื่องจากบริษัทไม่มีสินทรัพย์ที่ใช้ประกอบธุรกิจ และไม่มีรายการค่าเผื่อการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อย ปัจจุบันธุรกิจจัดจำหน่ายของบริษัทได้แก่ แผงโซลาร์และอุปกรณ์
2. ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีผลขาดทุนขั้นต้นเนื่องจาก บริษัทมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงผู้รับเหมาช่วง และอุปกรณ์ที่ต้องซื้อเพิ่มเติม ส่งผลให้ต้นทุนส่วนที่เพิ่มเกิดทันทีในงวด 3 เดือนของไตรมาส 2/2567 จึงเกิดผลขาดทุนขั้นต้นในงวดนี้ แต่หากรวมทั้งโครงการบริษัทยังคงมีกำไรขั้นต้น ซึ่งเป็นไปตามประมาณการที่บริษัทได้วางไว้
ส่วนธุรกิจพลังงานทดแทนเกิดผลขาดทุนขั้นต้นเนื่องจากบริษัทขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้กับผู้เช่าพื้นที่อาคารภายในสวนอุตสาหกรรมวินโคสท์ เพียงโครงการเดียว กำลังการผลิต 0.75 เมกกะวัตต์ ซึ่งปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าลดลงเนื่องจากผู้เช่าใช้พื้นที่เช่าเพื่อเก็บสินค้าทำให้การใช้ไฟฟ้าลดลง จึงเกิดผลขาดทุนขั้นต้นจากค่าเสื่อมราคาแผงโซลาร์ และอุปกรณ์
สำหรับแนวทางในการแก้ไขบริษัทได้ร่วมกับ บมจ.สวนอุตสาหกรรม วินโคสท์ หาผู้เช่าพื้นที่เป็นผู้ผลิตทดแทนผู้เช่าเดิม และขยายการจำหน่ายไฟฟ้าไปยังพื้นที่อื่น
3. ผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือโครงการอสังหาริมทรัพย์ เกิดจากโครงการทาวน์ไลน์ซึ่งเป็นโครงการทั้งหมดที่บริษัทมีอยู่ เริ่มก่อสร้างปี 2559 สร้างเสร็จและเริ่มขายปี 2560 โครงการตั้งอยู่บนถนนเทศบาล 9 (ตรงข้ามวัดสัตหีบ) อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มูลค่าโครงการทั้งสิ้น 99.62 ล้านบาท
ปัจจุบันมูลค่าโครงการคงเหลือขาย 45.60 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือ สาเหตุที่เกิดผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือ 9.83 ล้านบาท เนื่องจากการประเมินราคาของผู้ประเมินอิสระ ทำให้มูลค่าสุทธิที่คาดว่าจะได้รับลดลง โดยบริษัทมีแผนการขายโครงการส่วนที่เหลือออกทั้งหมดภายในปี 2568 ทั้งนี้ขึ้นอยู่สภาพเศรษฐกิจและความต้องการของผู้ซื้อ โครงการนี้เป็นโครงการสุดท้ายของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
4. การขายเงินลงทุนในบริษัท เอซีซี แคนนาบิส จำกัด ในราคา 34.00 ล้านบาท โดยได้รับชำระแล้วจำนวน 5.00 ล้านบาท เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 คงเหลือ 29.00 ล้านบาท
5. เงินจ่ายล่วงหน้าจำนวน 10.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 6.45 ล้านบาท รายการที่สำคัญได้แก่เงินมัดจำค่าสินค้าประเภทอุปกรณ์โซลาร์ และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จำนวน 5.96 ล้านบาท เงินมัดจำค่าตกแต่งสำนักงานจำนวน 1.26 ล้านบาท เงินมัดจำค่าที่ปรึกษาทางการเงิน 1.55 ล้านบาท เงินมัดจำค่าเช่า 1.57 ล้านบาท รายการทั้งหมดเป็นการจ่ายตามปกติการค้าทั่วไป และเป็นไปตามอำนาจอนุมัติ
6. ลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระเกินกว่า 12 เดือน จำนวน 3.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1.68 ล้านบาท เกิดจากธุรกิจจัดจำหน่ายแผงโซลาร์ และอุปกรณ์จากสภาวะเศรษฐกิจทำให้ลูกหนี้การค้ามีปัญหาไม่สามารถชำระเงินได้ตามกำหนดเวลา บริษัทได้ดำเนินการติดตามหนี้อย่างต่อเนื่อง และบางรายบริษัทได้ฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว
ส่วนการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลูกหนี้การค้าหากลูกหนี้การค้าค้างชำระเกิน 12 เดือน บริษัทจะบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลูกหนี้การค้างเต็มจำนวน