ลุ้น ‘4หุ้นนิคมฯ’ สตอรี่เด่น รายได้ขายที่ดิน - ย้ายฐานพุ่ง
นี่อาจจะเป็นหนึ่งในปีทองของหุ้น “กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม” ด้วยสารพัดปัจจัยบวกที่เข้ามา “โดดเด่น” ทั้ง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มขึ้น ความต้องการย้ายฐานการผลิตมาอาเซียน จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในจีน
เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่าง “สหรัฐ และจีน” การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายภาครัฐ
สะท้อนผ่านมาที่ราคาหุ้นกลุ่มนิคมฯ ที่ปรับตัวขึ้น “โดดเด่น” วานนี้ (12 ก.ย.2567) นำทีมโดย บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA ปิดตลาดที่ 5.55 บาท เพิ่มขึ้น 0.91% บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA ปิดตลาดที่ 25.25 บาท เพิ่มขึ้น 2.23% บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค หรือ PIN ปิดตลาดที่ 5.15 บาท เพิ่มขึ้น 5.53% และบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ หรือ ROJNA ปิดตลาดที่ 6.45 บาท ลดลง 0.77 %
“ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมากกว่าตลาด ปัจจัยหลักๆ คาด “ยอดขาย” และ “ยอดโอนที่ดิน” ในครึ่งปีหลังจะเติบโต จากครึ่งปีแรก แม้ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนเพราะฐานสูง
โดยคาด “กำไรปกติ” ของหุ้นนิคมอุตสาหกรรมในปี 2567 ภายใต้ Coverage ของฝ่ายวิจัย 2 บริษัทอยู่ที่ 6.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการโอนต่อเนื่องของแบ็คล็อก(Backlog), ส่วนแบ่งรายได้ (GPM) การขายที่ดินสูงขึ้น และธุรกิจสาธารณูปโภคเติบโตตามลูกค้านิคมฯ ที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ เลือกหุ้น AMATA เป็น Top Pick แนะนำซื้อให้ราคาเป้าหมายที่ 29.40 บาท คาดผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และในครึ่งปีหลังจะเห็นการโอนส่งมอบงานในมือ (Backlog) จำนวนมากเร่งตัวขึ้นเด่น นอกจากนี้ Valuation ปัจจุบันมี พี/อี เรโชปี 2567 อยู่ที่ 14 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่ม ส่วนหุ้น WHA แนะนำซื้อเช่นกันและให้ราคาเป้าหมายที่ 6.35 บาท
“รัฐศักดิ์ พิริยะอนนท์” ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับกำไรของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมยังมองเป็นแนวโน้ม “ขาขึ้น” ในปี 2567 ได้อานิสงส์จาก ประเด็นความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามการค้า โดยเฉพาะหนุนจาก “กลุ่มยานยนต์” และ “อิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวจีน และไต้หวันเป็นหลัก
โดยหุ้นน่าสนใจ เลือก AMATA ด้วยราคาเป้าหมายที่ 29.50 บาท เนื่องจาก ทิศทางผลประกอบการในครึ่งปีหลังคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนจาก เงินมัดจำ และเงินรับล่วงหน้าจากลูกค้า ณ สิ้น ไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 8,800 ล้านบาท ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 220% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 16% จากไตรมาสก่อนหน้า
สะท้อนแนวโน้มของรายได้จะที่เติบโตจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน นอกจากนี้ในส่วนของราคาขายมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก 5-10% จากทิศทางความต้องการที่ดินในประเทศไทยอนาคตที่มีแนวโน้มแข็งแกร่ง
“อนุชิต เอื้ออารักษ์” นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า WHA ประกาศปรับเป้าขายที่ดิน หรือ pre-sales ขึ้นอีกครั้ง จากช่วงต้นปีที่ 2,275 ไร่ เป็น 2,400 ไร่ และล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ไร่ โดยแบ่งเป็นที่ดินในไทย 2,300 - 2,400 ไร่ และเวียดนาม 100 - 200 ไร่
ด้าน gross margin จากธุรกิจที่ดินประเมินว่า ยังคงอยู่ในระดับสูงเกิน 60% จากการปรับราคาขายที่ดินเพิ่มขึ้น 18% YoY และประเมินว่ายอดขายที่ดินไตรมาส 3 ปี 2567 น่าจะเป็นจุด peak ของปีนี้ เนื่องจากมีที่ดินขนาดใหญ่ หรือ big ticket ขนาด 400 ไร่
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์