หุ้นค้าปลีกไทยแข็งแกร่ง ค่าแรง 400 บาทฉุดกำไรชั่วคราว
กลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต้องโฟกัสไปที่กลุ่มค้าปลีกหรือพาณิชย์ เหตุด้วยกำลังซื้อที่เพิ่มในประเทศจะส่งผลต่อยอดขายทันที แต่ค้าปลีกในประเทศไทยเองก็อาศัยพนักงานเป็นผู้ให้บริการขับเคลื่อนตลอดห่วงโซ่กิจกรรมดำเนินธุรกิจ
นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทค่อนข้างชัดว่า 1 ต.ค. 2567 รัฐบาลมิอาจดำเนินการได้ทัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นต้องมองเป็นสองมุมทั้งฝั่งผู้ใช้แรงงานโดยส่วนใหญ่ที่จะยังไม่สามารถเพิ่มกำลังจับจ่ายได้ (เว้นแต่กลุ่มที่ได้รับแจกเงินหมื่นบาท) ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งพิงแรงงานคนเป็นกำลังขับเคลื่อนธุรกิจก็อาจโล่งใจในแง่ต้นทุนส่วนนี้ที่คงเดิมได้อยู่อีกระยะ
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีอุบัติเหตุเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารประเทศชนิดพลิกขั้ว ไม่ช้าก็เร็วนโยบายเพิ่มรายได้ก็น่าจะเกิดขึ้นจริงแน่นอนและผลของนโยบายก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อว่ากำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจะเอาชนะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นด้วยไหวไหม ส่วนผู้ประกอบการเองจะต้องปรับกลยุทธ์ลดต้นทุนด้วยการลดกำลังคนพร้อมใช้งานคนที่เหลืออยู่ให้คุ้มทุกหยดได้มากกว่าเดิมหรือไม่
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท เชื่อว่ากระทบต่อต้นทุนหุ้นกลุ่มพาณิชย์บ้าง แต่หากพิจารณาเฉพาะหุ้นที่ฝ่ายวิจัยทำการศึกษา คาดว่าได้รับผลกระทบต่อปีราว 1.7% - 11.5% ซึ่งถือว่าไม่มากนักเพราะแต่ละบริษัทมีพนักงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำในสัดส่วนน้อย เมื่อเทียบกับพนักงานที่มีทั้งหมด
ฝ่ายวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ในเบื้องต้นว่ากรณีแย่สุด คือ ค่าแรงปรับขึ้นเป็น 400 บาท ตั้งแต่ ต.ค. 2567 จะกระทบต่อกำไรปี 2567 ของหุ้นกลุ่มพาณิชย์ที่ บล. เอเซีย พลัส ศึกษา 0.5% - 3.2% ส่วนปี 2568 กระทบราว 1.7% - 11.5%
CPALL น่าจะได้ผลกระทบมากสุดราว 11.5% (รวมผลกระทบจากทุกธุรกิจ คือ ธุรกิจค้าปลีก หรือ 7-Eleven และธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก หรือ CPAXTT ที่ดำเนินงานทั้งห้างสรรพสินค้า Makroและ Lotus's) เนื่องจากมีจำนวนพนักงานกระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่าบริษัทอื่นๆ รองลงไปเป็น CPAXTT ที่คาดกำไรปี 2568 ถูกกระทบราว 6.9%
ทั้งนี้หากมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงจริง คาดผลกระทบของการขึ้นค่าแรงน่าจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เพราะจะชดเชยได้บางส่วนจาก 2 ประเด็น
1.การที่ภาครัฐน่าจะมีมาตรการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
2.การปรับขึ้นค่าแรง ช่วยให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้มีกำลังซื้อที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการจับจ่ายซื้อสินค้าต่างๆ รวมทั้งยอดขายของหุ้นในกลุ่มพาณิชย์ให้สูงขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่ายอดขายน่าจะโตขึ้นได้มากกว่าค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามประเด็นการขึ้นค่าแรงยังถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดถือเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มพาณิชย์ทุกตัว โดยเฉพาะหุ้นที่คาดได้รับผลกระทบมากกว่าหุ้นอื่นๆ อย่าง CPALL
สำหรับคำแนะนำการลงทุนคงน้ำหนักหุ้นกลุ่มพาณิชย์ "มากกว่าตลาด" แม้คาดกำไรในไตรมาส 3/2567 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 แต่จะยังเติบโตได้เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
และคาดกำไรจะกลับมาโตได้อีกครั้งในไตรมาส 4/2567 ตามยอดขายและมาร์จินที่คาดขยับสูงขึ้น เพราะจะได้แรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่คาดฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี, ผลบวกจากฤดูกาล และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐบาลอย่าง "กระเป๋าเงิน ดิจิทัล"
จึงคาดว่าโดยรวมแล้ว ภาพรวมทั้งปี 2567 กำไรปกติของหุ้นกลุ่มพาณิชย์ที่ฝ่ายวิจัยศึกษาจะยังเติบโตได้ดีขึ้นอีก 17% YoY สูงกว่าการเติบโตของตลาดที่คาดโต 13%
โดยเลือกหุ้น CPALL และ BJC เป็นตัว Top picks ของกลุ่มเนื่องจากระยะสั้นคาดว่าจะมีราคาที่โดดเด่นกว่าตลาด (Outperform) จากกำไรในไตรมาส 3/2567 ที่น่าจะแกร่งกว่ากลุ่ม จากการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) ที่ยังแข็งแกร่ง ประเมิน CPALL มีกำไรปี 2567 ที่คาดเติบโตเด่นสุด 29% YoY ส่วน BJC จะมีกำไรปี 2568 ที่เติบโตแรงถึง 26% YoY