ปัญหานักลงทุนไทยกระจุกตัวกับการจำแนกความต่างเพื่อพัฒนาตรงจุด
สมรรถนะทางการลงทุนที่ดีย่อมเพิ่มพูนความมั่งคั่งส่วนบุคคล รวมถึงหากผู้ลงทุนองค์รวมมีสมรรถนะด้านหลักการแนวคิดพื้นฐาน การรู้เท่าทันกลโกง และความยั่งยืนทางการเงิน การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศผ่านตลาดทุนก็จะขยายตัวอย่างมีคุณภาพตามไปด้วย
10 กว่าปีย้อนหลังมานี้จำนวนนักลงทุนไทยนับตามจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นชัดเจน อ้างอิงตัวเลขจากรายงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จากปี 2557 ที่แตะหลักล้านบัญชีเป็นครั้งแรกอยู่ที่ 1.09 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี เพิ่มขึ้น 5-6 เท่า เป็น 5.66 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี 2566 และ 6.13 ล้านบัญชี ณ สิ้นเดือน ส.ค. ปี 2567 โดยยอด Active account (มีการซื้อขายใน 6 เดือน) 8.7 แสนบัญชี ลดลงเมื่อเทียบช่วงปี 2564-2565 ที่ค่าเฉลี่ยสูงเกิน 1 ล้านบัญชี
ขณะที่ตลท. พยายามส่งเสริมให้คนไทยลงทุนมากขึ้น ให้ความสำคัญการพัฒนากลุ่มผู้ลงทุนใหม่ๆ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย พร้อมกับจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนร่วมกับผู้ร่วมตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง เสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ
อย่างไรก็ตามข้อมูลโครงการศึกษาวิจัยและการจัดทำกรอบสมรรถนะทางการเงินและการลงทุนสำหรับคนไทย โดยกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ระบุว่า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประชากรไทยยังกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มเท่านั้น
สัดส่วนจำนวนนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มีน้อยมากเพียง 7.5% ของประชากรวัยทำงานทั้งหมด
ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีรายได้ไม่แน่นอน มีเงินออมน้อย และเข้าไม่ถึงสวัสดิการอย่างเต็มที่ จึงทำให้โอกาสที่จะเข้าถึงตลาดทุนมีไม่มากนัก ภาคครัวเรือนไทยนิยมถือครองเงินสดหรือเงินฝาก
ทว่าแนวโน้มการลงทุนในตลาดทุนเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน หรือ Gen-Y มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่า
แต่ในภาพรวมนั้นความต้องการยังน้อยโดยสาเหตุที่ทำให้ความต้องการลงทุนในตลาดทุนไทยน้อย ได้แก่
1.การขาดรายได้หรือมีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะไปลงทุนในตลาดทุนได้
2. การขาดความรู้ความเข้าใจ และทักษะการลงทุนการขาดทัศนคติทางการเงินที่ดี และการไม่ทราบช่องทางการเข้าถึงตลาดทุนทำให้ไม่เข้าใจโอกาสหรือผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างเพียงพอ โดยจากผลการสำรวจของสถาบันอนาคตไทยศึกษาพบผู้ตอบสอบถามกว่า 28% จาก 7,000 คน ไม่รู้จักคำศัพท์เกี่ยวกับการเงินการลงทุนเลย
3.ความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ในตลาดทุนทำให้นักลงทุนไทยมีแนวโน้มให้ความสนใจกับกองทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนเน้นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล
4. กฎระเบียบการเข้าถึงตลาดทุนที่มีข้อจำกัด
ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความมั่นคงทางการเงินสำหรับชีวิตหลังเกษียณอายุและขาดวินัยทางการเงิน การสำรวจทักษะทางการเงินและพฤติกรรมการออมของไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 พบว่า มีเพียง 38% ของประชากรไทยทั้งหมดที่มีเงินสำรองอยู่ได้เกิน 3 เดือนหากต้องหยุดงานกะทันหัน และมีเพียง 19.7% ที่จัดสรรเงินเพื่อออมก่อนนำเงินไปใช้
อีกทั้งระดับความรู้ทางการเงินของประชาชนมีความแตกต่างกันทั้งเมื่อเทียบกับบุคคลในกลุ่มเดียวกันและบุคคลในกลุ่มวัยหรือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะต่างกัน กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มมีความต้องการชุดความรู้ไม่เท่ากันตามเป้าหมายการใช้ชีวิตและเป้าหมายของตนเองและครอบครัว
การเพิ่มสมรรถนะการลงทุนจึงต้องจัดการให้เหมาะสมกับความแตกต่างทั้งกลุ่มที่มีโอกาสมีความพร้อมด้านการลงทุน และกลุ่มที่ไม่มีความพร้อม ด้วยผู้ถ่ายทอดที่มีความรู้ถูกต้อง สามารถปลูกฝั่งทัศนคติอันดี มีหลักสูตรฝึกอบรมที่เหมาะสมเจาะจงเฉพาะกลุ่มได้ ซึ่งความรู้ด้านตลาดทุนมีความเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาความรู้ทางการเงิน รวมถึงทักษะการเงินดิจิทัลและทักษะการเงินเพื่อความยั่งยืน