กองทุน Thai ESG ใหม่ 'ก.ล.ต.' ยกระดับ บจ.-บลจ. โปร่งใส สู่ความยั่งยืน

กองทุน Thai ESG ใหม่  'ก.ล.ต.' ยกระดับ บจ.-บลจ. โปร่งใส สู่ความยั่งยืน

ใกล้สิ้นปีแล้ว เชื่อว่าผู้ลงทุน ประชาชนทั่วไป จะเริ่มมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากการซื้อประกันในประเภทต่าง ๆ ที่นำมาช่วยประหยัดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

"กองทุนรวม" ก็เป็นหนึ่งตัวเลือกที่หลาย ๆ คนนิยมลงทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยเช่นกัน ปัจจุบันไทยมีกองทุนรวมที่เป็นเครื่องมือช่วยประหยัดภาษีมีอยู่ 3 ประเภท คือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ที่กำลังจะหมดอายุในสิ้นปี 2567 และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

ซึ่งแต่ละกองทุนต่างมีความน่าสนใจและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แตกต่างกัน แต่ที่น่าสนใจในมุมของสิทธิประโยชน์ทางภาษีและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าวคงหนีไม่พ้น Thai ESG ที่กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ตลท. ได้ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับเงื่อนไขใหม่ของกองทุนรวมดังกล่าวเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

 

โดยที่กระทรวงการคลังได้พิจารณาเพิ่มวงเงินลงทุนสำหรับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 1 แสนบาทต่อคนต่อปี เป็น 3 แสนบาทต่อคนต่อปี สำหรับปีภาษี 2567-2569 และลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี จากเดิม 8 ปี โดยกระทรวงการคลังจะประเมินผลมาตรการนี้อีกครั้งเมื่อสิ้นสุดปี2569

นอกจากนี้ก.ล.ต. ยังได้ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อ เพิ่มความน่าสนใจของ Thai ESG โดย Thai ESG ขยายขอบเขต การลงทุนให้กว้างขึ้น ส่งผลให้ Thai ESG สามารถจัดสรรเงินลงทุนไปยังกิจการไทยที่มีศักยภาพและมีความ โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในระดับดีเลิศได้เพิ่มขึ้นจากเดิม

 

โดยในส่วนของการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีธรรมาภิบาล (Governance) ในระดับดีเลิศ จะต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 องค์ประกอบ ดังนี้ด้วย
1. มีธรรมาภิบาลที่ดีเลิศ โดยได้รับ CGR ซึ่งจัดทำโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตั้งแต่ 90 คะแนนขึ้นไป
2. มีการเปิดเผยเป้าหมายและแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัท (Corporate value up plan) เช่น บริษัทที่มีแผนยกระดับด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
3. มีการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารกับผู้ลงทุน เช่น การเข้าร่วมกิจกรรม SET Opportunity day กับผู้ลงทุน/นักวิเคราะห์การเปิดเผยความคืบหน้าของแผน Value up เป็นต้น

ต้องบอกว่า การที่หลักเกณฑ์ใหม่ของ Thai ESG กำหนดให้ บจ. เปิดเผยแผนและเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าบริษัท (Corporate value up plan) โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันที่ได้เปิดเผยแผน เช่น

แผนดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อเข้ารับการประเมินจากผู้ประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล หรือการมีเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน เป็นต้น

นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนที่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมให้ บจ. ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับธรรมาภิบาล และมีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของ UN SDGs และเป็นไปตามเป้าประสงค์ของภาครัฐด้วย 


หลักเกณฑ์ใหม่ยังเสริมบทบาทหน้าที่ของ บลจ. ที่ต้องใช้ความระมัดระวัง ความรับผิดชอบเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน (fiduciary duty) ตั้งแต่การปรับปรุงให้ บลจ. มีหน้าที่กำหนดนโยบายและกลยุทธ์การลงทุนเพื่อคัดเลือกทรัพย์สินที่มีคุณภาพเพื่อการลงทุนของ Thai ESG และมีกระบวนการในการบริหารจัดการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (responsible investment) รวมถึงการคัดเลือกผู้ประเมินผล
การดำเนินงานด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล (ผู้ประเมินฯ) ที่จะเป็นผู้คัดเลือกหุ้นที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (environment) และความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อการลงทุนของกองทุน Thai ESG โดยที่ผู้ประเมินฯ ก็จะต้องมีความน่าเชื่อถือด้วย 
กล่าวคือ เป็นตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE) หรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นอิสระ

มาถึงตรงนี้ พอจะเห็นภาพรวมผลประโยชน์ของ Thai ESG ตามเงื่อนไขใหม่กันแล้ว โดย ก.ล.ต. มุ่งหวังว่าThai ESG จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับธรรมาภิบาลและเพิ่มความน่าสนใจของกิจการในตลาดหลักทรัพย์ไทยควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมเป็นการลงทุนระยะยาวในตลาดทุน เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวสำหรับผู้ลงทุน นอกเหนือจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืนต่อไป