‘กัลฟ์’ จ่อรับผลบวกทางอ้อม หลัง ‘กูเกิล’ ประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในไทย

‘กัลฟ์’ จ่อรับผลบวกทางอ้อม หลัง ‘กูเกิล’ ประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในไทย

“กัลฟ์” แย้มจ่อรับประโยชน์ทางอ้อม หลัง “กูเกิล” ลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในไทย พร้อมเดินหน้าแผนความร่วมมือผ่าน “กัลฟ์ เอดจ์” บริหารธุรกิจคลาวด์-ศูนย์ดาค้าเซ็นเตอร์ GSA DC คาดเปิดบริการปีหน้า ส่วนควบรวมตั้ง NewCo คาดแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 68 ล่าสุดผู้ถือหุ้นโหวตอนุมัติควบรวม “อินทัช” และแผนทำเทนเดอร์ “แอดวานซ์-ไทยคม” ฉลุย และไตรมาส 4 ลุย “ซีโอดี” โรงไฟฟ้ารวม 1.2 พันเมกะวัตต์ หนุนปั้มรายได้โต 30%

หลังจาก 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา บริษัท กัลฟ์ เอดจ์ จำกัด หรือ Gulf Edge ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ถือหุ้นสัดส่วน 100% และเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท จีเอสเอ ดาต้า เซนเตอร์ จำกัด ได้ลงนามสัญญาความร่วมมือกับบริษัทกูเกิ้ล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด หรือ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud air-gapped โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ องค์กรที่ต้องการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่มีความสำคัญ หรือเป็นความลับ เช่น การให้บริการทางการแพทย์ พลังงาน และสาธารณูปโภค หรือการให้บริการด้านความปลอดภัยสาธารณะ โดยผู้ใช้งาน Google Cloud สามารถเลือกที่จะจัดเก็บข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูล GSA DC ของบริษัทที่สามารถรองรับการติดตั้งระบบคลาวด์ดังกล่าวในขอบเขตความร่วมมือนี้ได้

‘กัลฟ์’ จ่อรับผลบวกทางอ้อม หลัง ‘กูเกิล’ ประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในไทย

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าในส่วนของบริษัทกับ Google ยังคงเป้าหมาย จะเริ่มดำเนินการบริการธุรกิจคลาวด์ในไทยอย่างเป็นทางการได้ในช่วงกลางปี 2568 และจะสร้างรายได้เข้ามาทันที จาก 2 ส่วน คือ การบริการให้คำปรึกษา และบริการ Managed GDC Provider อีกส่วนหนึ่งจะมาจากลูกค้าที่อยู่ใน Data Center ของเรา
 

รวมถึงมองว่า การที่ Google ได้ประกาศแผนการลงทุนเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทย แม้จะเป็นคนละส่วนกัน แต่มองว่า บริษัทอาจได้รับประโยชน์ทางอ้อมมากกว่า หากในส่วนของ Google ที่เข้ามาลงทุนนั้น มีความต้องการใช้บริการเป็นจำนวนมาก ก็อาจให้เราเข้าไปช่วยให้บริการระบบคลาวด์และศูนย์ข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสความเป็นไปได้ให้บริษัทสามารถขยายการดำเนินงานทางธุรกิจไปสู่บริการอื่นๆ ในระบบนิเวศของ Google Cloud ในอนาคตได้ เช่น นวัตกรรม AI และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์

“ในตอนนี้บริษัทยังคงดำเนินการตามแผนที่วางไว้ที่คาดว่า จะใช้ระยะเวลาภายใน 9 เดือน (ตั้งแต่ มิ.ย.) ในการจัดหาอุปกรณ์ และติดตั้งระบบต่างๆ รวมถึงเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งภาครัฐ และเอกชนของระบบ GDC air-gapped สำหรับองค์กรในไทย ผ่านการให้คำปรึกษาและบริการจากผู้เชี่ยวชาญรวมถึงการจัดการดูแลระบบอย่างครบวงจรมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย”

ขณะเดียวกัน ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล บริษัทมีศูนย์ข้อมูล (Data Center) แบ่งเป็น 2 เฟส ซึ่งเฟสละประมาณ 24-25 เมกะวัตต์ รวมเป็นประมาณ 50 เมกะวัตต์ โดยเฟสที่ 1 ประมาณ 25 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการประมาณมี.ค.2568

ด้านแผนควบรวม GULF กับ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH ตั้งเป็นธุรกิจใหม่ (NewCo) โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา เห็นด้วยถึง 99.99% พร้อมอนุมัติเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC และ บมจ. ไทยคม หรือ THCOM ส่วนชื่อบริษัทใหม่ยังไม่ได้ตัดสินใจ

นางสาวยุพาพิน กล่าวต่อว่า บริษัทยังคงเดินหน้าตามไทม์ไลน์การควบรวบบริษัทระหว่าง GULF และ INTUCH จะสามารถจัดตั้งบริษัทใหม่ (NewCo) คาดแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2568

สำหรับ แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ปีนี้ ยังมีความเติบโตดีต่อเนื่อง โดยในส่วนของธุรกิจโรงไฟฟ้าที่สามารถกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งมั่นใจทั้งปี 2567 ยังคงคาดการณ์การเติบโตของรายได้รวมไว้ที่ 25-30% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่จะทยอยเปิด COD ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนจำนวนเมกะวัตต์ให้เติบโตอีก 2,700 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ทั้งกำลังผลิตรวมเติบโตเป็น 15,000 เมกะวัตต์

จากเมื่อเร็วๆ นี้ โครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ พีดี (GPD) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 4 ซึ่งเป็นหน่วยการผลิตสุดท้ายของโครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 662.5 เมกะวัตต์ โดยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) เป็นที่เรียบร้อยตามกำหนด (โดยหน่วยผลิตที่ 1 - 3 กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,987.5 เมกะวัตต์ รวม4 หน่วยผลิตทั้งสิ้น2,650.0 เมกะวัตต์)

รวมทั้งยังมีโครงการอื่นๆ ที่ทยอยเปิดดำเนินการในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ โซลาร์รูฟท็อปเปิดเพิ่มอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานแสงอาทิตย์บวกแบตเตอรี่ ซึ่งจะเปิดอีก 5 โครงการภายในสิ้นปีนี้ รวมเป็น 532 เมกะวัตต์