ThaiBMA จับตางบ PRIME แจง ‘หุ้นกู้ 4 รุ่น’ ยังไม่ผิดปกติ -ครบกำหนดปีหน้า

ThaiBMA จับตางบ PRIME  แจง ‘หุ้นกู้ 4 รุ่น’ ยังไม่ผิดปกติ -ครบกำหนดปีหน้า

PRIME แจงธุรกิจปกติหลังถูก “ฟอร์ซ เซล” 1,348 ล้านหุ้น หรือ 31.70 % ด้าน ThaiBMA ย้ำติดตามข้อมูลงบการเงิน เพิ่มเติมก่อน หลังบริษัทรายงานผลขาดทุน แต่ยังไม่ส่งผลต่อหุ้นกู้ทั้ง 4 รุ่น เหตุครบกำหนดปี 68 มีแผนชำระคืนชัด เชื่อไม่สะเทือนตลาดหุ้นกู้ นักลงทุนอยู่ในโหมดระวังตัว

กรณีข่าว บมจ. ไพร์ม โรด เพาเวอร์ หรือ PRIME ที่ถูก บล.แซด คอม ประกาศขายทอดตลาดหุ้นรวม 7 รายการ เกือบ 1,350 ล้านหุ้น หลังลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ภายในเวลากำหนด โดยกำหนดจะขายทอดตลาดหุ้น 4 ธ.ค. 2567

กระทั้งล่าสุดวานนี้ (15 ต.ค.) นายสมประสงค์ ปัญจะลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PRIME ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวที่ปรากฏในสื่อออนไลน์กรณีบังคับขายหุ้น (Forced Sell) ทอดตลาดของผู้ถือหุ้นบางรายในเดือนธ.ค.2567 ว่า บริษัทดำเนินธุรกิจปกติหลังถูก Force Sell จำนวน 1,348 ล้านหุ้น หรือ 31.70 % ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว เป็นเรื่องผูัถือหุ้นแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคล

และไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน หรือสถานะทางการเงินของบริษัทฯแต่อย่างใด โดยบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจได้ตามปกติและมุ่งมั่นสู่การบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่ได้วางไว้

ThaiBMA จับตางบ PRIME  แจง ‘หุ้นกู้ 4 รุ่น’ ยังไม่ผิดปกติ -ครบกำหนดปีหน้า

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า กรณี PRIME ขณะนี้อาจส่งผลต่อราคาหุ้นมากกว่า โดยยังไม่เห็นความผิดปกติที่มีนัยสำคัญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อหุ้นกู้ของบริษัท

แม้ว่าตามรายงานงบการเงินของบริษัท พบว่า ปี 2566 ขาดทุน 900 ล้านบาท และครึ่งแรกปี 2567 ขาดทุน 8.17 ล้านบาท แต่ขณะนี้ ทริสเรตติ้งยังคง อันดับเครดิตหุ้นกู้ PRIME ที่ระดับ BB+ ไม่เปลี่ยนแปลง และข้อมูลที่บริษัทชี้แจงยังดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ และยังไม่กระทบฐานะการเงิน

ด้านหุ้นกู้ของบริษัทที่ออกจำนวน 4 รุ่น มูลค่า 2,049 ล้านบาท ครบกำหนดในปี 2568 ทั้งหมดและบริษัทได้แจ้งแผนการชำหนี้ไว้แล้ว อีกทั้งมีสัดส่วน 69.75% เป็นการใช้วงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

ดังนั้น ทางสมาคมฯ ยังต้องติดตามข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเพิ่มเติมก่อน โดยเฉพาะงบการเงินที่จะทยอยประกาศในช่วงที่เหลือปีนี้ รวมถึงหากบริษัทมีปัญหาสภาพคล่องเกิดขึ้น จะยังคงได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน ซึ่งปกติแล้วผู้ออกหุ้นกู้ที่มีการระดมทุนผ่านสถาบันการเงิน มักจะมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือ

“กรณีดังกล่าว ขอให้นักลงทุนติดตามข้อมูลให้ชัดเจน อย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับกระแสข่าวต่างๆ ไปก่อน และการที่หุ้นกู้ทั้งหมดของบริษัทกล่าวไม่ได้ครบกำหนดในปีนี้แต่อย่างใด”

นางสาวอริยา กล่าวว่า ขณะนี้จึงยังไม่เห็นเซ็นทริเมนต์เชิงงบที่ส่งผลต่อภาพรวมตลาดหุ้นกู้ในช่วงที่เหลือปีนี้แต่อย่างใด เนื่องจากนักลงทุนในตลาดหุ้นกู้ปีนี้ อยู่ในโหมด “ระมัดระวัง” กันมาตลอดทั้งปี ทั้งศึกษาและตรวจสอบข้อมูล ทั้งบริษัทและหุ้นกู้ที่ออกขายรวมถึงหุ้นกู้ที่ถืออยู่ใกล้ชิด ซึ่งในช่วงที่เหลือปีนี้ยังใช้กลยุทธ์ดังกล่าวอยู่

ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมานักลงทุน มีประสบการณ์และบทเรียนในตลากหุ้นกู้กันมาแล้ว เข้าใจปัญหาหุ้นกู้ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเฉพาะตัวบริษัท มีตรวจสอบข้อมูล ระมัดระวังในการลงทุนและกระจายความเสี่ยงการลงทุนหุ้นกู้มากขึ้น สะท้อนกลไกตลาดทำงาน โดยบริษัทใหม่ที่จะมาออกหุ้นกู้ไม่ได้ออกง่ายแล้ว ยิ่งบริษัทกลางและเล็ก ต้องพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ และเตรียมตัวเสนอขายมาอย่างดีแล้ว

“ตอนนี้เรายังไม่มีความกังวลมากขึ้น แม้ว่าในตลาดเริ่มออกขายหุ้นกู้ ไม่น่าจะกระทบภาพรวม เพราะว่า หุ้นกู้ที่จะออกขายช่วงที่เหลือปีนี้ ส่วนใหญ่เป็น บจ.ขนาดใหญ่ ที่มีความต้องการของผู้ซื้ออยู่แล้วประกอบกับภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี ดอกเบี้ยยังอยู่ระดับสูง ภาวะผู้ออกขอยืดชำระหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนด สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะ บจ.ขนาดเล็กและกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังต้องติดตามข้อมูลกรณีบจ.ต่างๆที่จะรายงานออกมาให้ชัดเจน”

ส่วนทิศทางตลาดหุ้นกู้ในปีหน้า มองว่าหากมีดอกเบี้ยนโยบายทั้งของสหรัฐและไทย ปรับลดตามตลาด ต้นทุนการเงินลดลง เศรษฐกิจดีขึ้น พัฒการการทำธุรกิจดีขึ้น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนดีขึ้น เชื่อว่า ผู้ออกหุ้นกู้ กลุ่มนี้ Investment Grade มีโอกาสที่ตลาดหุ้นกู้จะกลับมาคึกคักในปีหน้า โดย 9 แรกปีนี้ หุ้นกู้ที่ออกส่วนใหญ่กว่า 94% ของมูลค่ยอดออกทั้งหมด 7.04 แสนล้านบาท อยู่ในกลุ่ม Investment Grade กลุ่มอุตสาหกรรมที่ออกหุ้นกู้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มพลังงาน”