ผ่อนคลายโดยพร้อมเพรียง

ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยเหตุผลหลัก เป็นผลจากความกังวลของ ธปท. ต่อภาวะการเงินที่ตึงตัว โดยสินเชื่อโดยรวมหดตัว ท่ามกลางคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ซึ่งเรามองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดความตึงตัวทางการเงินเป็นหลัก

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นการผ่อนคลายนโยบายเศรษฐกิจในสามประเทศสำคัญ อันได้แก่ สหรัฐ จีน และไทย 

โดยในส่วนของนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) นั้น Fed ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 50 basis point (BPS) สู่ระดับ 4.75-5.00% โดยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐหลังการประชุมยังแสดงการขยายตัวที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นตลาดแรงงานที่ยังเติบโตได้ดี การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 2.54 แสนตำแหน่ง สูงกว่าคาด อัตราว่างงานลดลงเป็น 4.1% ต่ำกว่าที่คาด ขณะที่เงินเฟ้อมีทิศทางปรับลดลง โดยต่ำสุดในรอบสามปีที่ 2.4% ในเดือน ก.ย. ภาพดังกล่าวบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะยังขยายตัว แต่ในทิศทางที่ชะลอลง (Soft-landing) ความเสี่ยงเงินเฟ้อลดลง ทำให้ Fed สามารถลดดอกเบี้ยได้อย่างต่อเนื่องแต่จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในส่วนของจีน ได้ประกาศมาตรการทางการเงินขนาดใหญ่ ได้แก่ (1) ลดดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรเจ็ดวัน (2) ลดดอกเบี้ยระยะกลาง (MLF) (3) ลดดอกเบี้ยระยะยาว (4) ลดอัตราการสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) (5) มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และ (6) ตั้งกองทุนพยุงหุ้นวงเงิน 8 แสนล้านหยวน ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการประกาศมาตรการการคลัง เช่น (1) เร่งการลงทุนของรัฐบาล โดยดึงงบประมาณ 1 แสนล้านหยวนจากปีงบประมาณหน้ามาใช้ในปีนี้ (2) ออกบัตรพิเศษเพื่อช่วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (3) ช่วยระดมทุนเพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่นจัดการกับการกู้ยืมงบนอกงบดุล (4) เพิ่มทุนให้กับธนาคารพาณิชย์ (5) อนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรพิเศษเพื่อซื้อบ้านคงค้าง ทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณผสมปนเป ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้การเติบโตสะสม 9 เดือนแรกอยู่ที่ 4.8% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำของเป้าหมายการเติบโตประจำปี 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ก.ย. แสดงสัญญาณที่ดีขึ้นในหลายด้าน ทั้งจากยอดค้าปลีก ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และยอดขายรถยนต์ที่เร่งตัวขึ้น ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การว่างงานเริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสัญญาณบวก แต่เศรษฐกิจจีนยังเผชิญความท้าทายสำคัญกล่าวคือ (1) การส่งออกชะลอตัวลงอย่างมากในเดือน ก.ย. (2) แรงกดดันด้านเงินฝืดยังคงเพิ่มขึ้น โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอ่อนแอ และราคาหน้าโรงงานลดลงติดต่อกัน 24 เดือน (3) ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังขาดเสถียรภาพ โดยราคาบ้านใหม่ลดลงเป็นเดือนที่ 16 

ทั้งนี้ เรามองว่า แม้ว่ามาตรการเหล่านี้แสดงถึงความพยายามของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เรายังมีข้อกังวลสำคัญ เช่น (1) รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย กำลังเผชิญปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว(2) การแก้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นความท้าทาย เนื่องจากปัญหาอุปทานล้นเกินในหลายเมือง และ (3) ธนาคารพาณิชย์อาจเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้นจากการเป็นเครื่องมือหลักในการช่วยเหลือเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ดีขึ้นในเดือน ก.ย. โดยเฉพาะในด้านการบริโภคและการผลิต อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงก่อนหน้า จึงต้องจับตาทิศทางเศรษฐกิจจีนต่อเนื่อง ว่าจะเห็นผลบวกต่อมาตรการกระตุ้นหรือไม่

ในด้านของไทย ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในเดือน ส.ค. ชะลอตัวลง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว ภาคอุตสาหกรรมหดตัว การลงทุนภาคเอกชนลดลง การส่งออกฟื้นตัวจากการเร่งส่งออกสินค้าเกษตร แต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าชะลอตัว บ่งชี้การระบายสินค้าคงคลังต่อเนื่องแต่ไม่ผลิตใหม่ ขณะที่เงินเฟ้อไทยในเดือน ก.ย. ที่ 0.61% ต่ำกว่าคาด ส่วนต้นทุนการผลิต (PPI) หดตัว ด้านดัชนีสภาพคล่องทางการเงินของเรา (INVX Financial Condition Index) ตึงตัวที่สุดในรอบ 16 ปี จากค่าเงินบาทแข็งค่ามาก สินเชื่อหดตัวรุนแรง ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (MLR) ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี

ภาพดังกล่าวทำให้ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยเหตุผลหลัก เป็นผลจากความกังวลของ ธปท. ต่อภาวะการเงินที่ตึงตัว โดยสินเชื่อโดยรวมหดตัว ท่ามกลางคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ซึ่งเรามองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดความตึงตัวทางการเงินเป็นหลัก นอกจากนั้น เรามองว่า หาก ธปท. ส่งสัญญาณในทิศทางเดียวกันว่านโยบายการเงินเริ่มผ่อนคลาย จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินผลักดันการปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้น และช่วยทำให้ภาวะการเงินที่ตึงตัวอยู่ผ่อนคลายลงได้ ทำให้เรามองว่า จะเห็นการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง โดยลดอีก 25 bps ในปีนี้ และอีก 50 bps ในปีหน้า

ในส่วนกลยุทธ์การลงทุนที่แนะนำ เรามองว่ามี 3 กลยุทธ คือ (1) กลุ่มหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีและมีกำไรเติบโตต่อเนื่อง: BEM, BCH, BDMS, GULF, TRUE, AU, TNP (2) กลุ่มเก็งกำไรดอกเบี้ยขาลง: CPALL, AP, SIRI, MTC, TIDLOR (3) หุ้นปันผล และเป้าหมายของกองทุนวายุภักษ์: KTB, BBL, ADBANC, HMPRO และ (4) หุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันดิบ (ป้องกันความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์): PTTEP

ขอให้นักลงทุนโชคดี

- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX

- เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน

โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/ek1n76zm

- ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher

#InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ

*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้